ตรุษจีน หรือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวจีนนั้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานผ่านกาลเวลานับพันปี ตามธรรมเนียมโบราณจะมีพิธีกรรมที่ปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเวลานี้หลายวันด้วยกัน แต่ที่คนไทยเรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ ‘วันจ่าย’ วันที่ไปจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ในเทศกาล ซึ่งจะเริ่มก่อนวันตรุษจีน 2 วัน ถัดมาเป็น ‘วันไหว้’ ถือเป็นวันส่งท้ายปีที่ครอบครัวจะกลับมารวมตัวกันพร้อมหน้า รับประทานอาหารร่วมกัน รวมไปถึงกิจกรรมที่หลายคนรอคอยอย่างการแจกอั่งเปาหรือแต๊ะเอีย จนกระทั่งเมื่อวันใหม่ใกล้เข้ามา ชาวจีนจะนิยมอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเพื่อรอรับเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่จะมาถึงในวันขึ้นปีใหม่ หรือ ‘วันเที่ยว’ นั่นเอง วันเที่ยว เป็นวันที่ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีมงคล เดินสายไปสวัสดีปีใหม่ญาติผู้ใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หลังจากนั้นก็พากันตระเวนไหว้พระทำบุญ ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจตามสถานที่ต่างๆ โดยวันตรุษจีนปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ หลายคนแพลนเที่ยวล่วงหน้าไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่มีไอเดียก็ไม่เป็นไร เพราะ Power จะมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เดินทางไปไม่ยาก ให้ได้เลือกสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายแบบจีนในวันหยุดที่จะถึงนี้ วัดมังกรกมลาวาส กรุงเทพมหานคร วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดจีนที่เก่าแก่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ชาวไทยเชื้อสายจีนตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมไปสักการะขอพรกันตลอดทั้งปีโดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนเพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องสะเดาะเคราะห์ปีชง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของ ไท่ส่วยเอี๊ย เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ไฉ่สิ่งเอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ และเทพเจ้าตามความเชื่ออื่นๆ อีกหลายองค์ แม้ว่าวัดมังกรกมลาวาสจะดูแคบ ทว่าด้านในนั้นกว้างขวางกว่าที่เห็นจากทางเข้าพอสมควร นอกจากพื้นที่ที่โปร่งสบายแล้ว เรื่องผังโครงสร้างและสถาปัตยกรรมก็ยังงดงามตามคติแบบวัดหลวงของจีนอีกด้วย เมื่อเข้าไปจะพบกับวิหารท้าวจตุโลกบาล เทพเจ้าที่คอยปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศทั้งสี่ ถัดไปเป็นพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานของวัดด้วยกัน 3 องค์ ได้แก่ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ และพระไภษัชยคุรุพุทธะ พร้อมด้วย 18 อรหันต์ จากนั้นบริเวณด้านข้างและด้านหลังจะเป็นส่วนของพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณที่ผสมผสานศิลปะทั้งแบบไทยและจีนให้ศึกษาและชื่นชมอีกมากมาย การเดินทางไปยังวัดมังกรกมลาวาสสามารถใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สถานีวัดมังกร ทางออกหมายเลข 3 จากนั้นเดินต่ออีกไม่ไกล ในขณะที่การเดินทางด้วยรถส่วนตัวอาจจะต้องใช้บริการที่จอดรถในบริเวณใกล้เคียงอย่างอาคารพิชัยญาติ วัดคณิกาผล หรือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Wat.Mangkonkamalawat.Temple ล้ง 1919 กรุงเทพมหานคร สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่เดิมเป็นท่าเรือของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ลูกหลานของชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้มาอาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารตั้งรกรากบนแผ่นดินสยาม โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 มีชื่อว่า “ฮวยจุ่งล้ง” ซึ่งมีความหมายว่า ท่าเรือกลไฟ เนื่องจากเป็นจุดรับส่งสินค้าทางเรือทั้งจากมลายู สิงคโปร์ และจีน ต่อมารับช่วงต่อโดยตระกูลหวั่งหลี ซึ่งได้ทำการปรับพื้นที่ให้กลายเป็นโกดังเก็บสินค้า อาคารสำนักงาน และที่พักอาศัย โดยมีศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วประดิษฐานเคียงคู่ตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน ปลายปี พ.ศ. 2559 ตระกูลหวั่งหลีมีโครงการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสุนทรียศาสตร์แบบจีน จึงได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ บูรณะส่วนต่างๆ ทั้งบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นโกดังสินค้า อาคารไม้เก่าแก่ ตลอดจนภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ด้วยวิธีการดั้งเดิมเพื่อคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนที่ฟื้นคืน ราวกับอัญมณีที่ตื่นขึ้นจากการหลับไหลอันยาวนานอีกครั้ง ล้ง 1919 เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น. โดยนักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับสถาปัตยกรรมแบบจีนดั้งเดิมศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ความสัมพันธ์ไทย-จีน แกลเลอรีแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ร้านอาหาร มุมพักผ่อนหย่อนใจให้ถ่ายรูปเก๋ๆ รวมไปถึงการได้สักการะศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว พร้อมทั้งไฉ่สิ่งเอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้ง 3 ปาง ตัวแทนสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของคน 3 วัย วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา อีกด้วย การเดินทางมายัง ล้ง 1919 สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรุงธนบุรี…
Editor5 February 2021