HappeningHappening 132Number 132Vichai Srivaddhanaprabha Foundation

Vichai Srivaddhanaprabha
Foundation

By 13 February 2020 No Comments

มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทารกแรกเกิด
ด้วยการมอบตู้อบเด็กทารกแรกเกิดให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศจำนวน 20 แห่งทั่วทุกภูมิภาค

เชื่อหรือไม่ว่า ในภูมิภาคอาเซียนมีเด็ก 72% ต้องเสียชีวิตเพราะคลอดก่อนกำหนด และประเทศไทยเองมีสถิติเด็กที่คลอดก่อนกำหนดถึงปีละ 100,000 คน

แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์จะทำให้มีการตรวจสุขภาพครรภ์ของมารดาที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดจำนวนทารกคลอดก่อนกำหนดลงไปได้ แต่ปัญหาเด็กเสียชีวิตเพราะคลอดก่อนกำหนดนี้ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล ขาดบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ครบครัน ด้วยความขาดแคลนดังกล่าว จึงอาจทำให้โอกาสอันริบหรี่ที่จะได้มีชีวิตรอดของทารกน้อยดับวูบลง  

โรงพยาบาลแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ที่มีแพทย์ประจำ 4 คน และต้องรับผิดชอบประชากรประมาณ 30,000 กว่าคน คือหนึ่งในโรงพยาบาลที่เคยผ่านช่วงนาทีชีวิตเพื่อกู้ชีวิตทารกคลอดก่อนกำหนด ด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถตามกำลังที่มีของหมอและพยาบาล 

นพสิทธิ์  โชติสถิตย์โภคิน รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล โรงพยาบาลแก่งกระจาน เล่าว่า ทุกครั้งที่พบว่าทารกคลอดก่อนกำหนดแล้วเกิดปัญหา เพื่อยื้อชีวิตทารกน้อยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคและการเสียชีวิต เนื่องจากอวัยวะระบบต่างๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทางโรงพยาบาลต้องส่งต่อทารกน้อยไปโรงพยาบาลพระจอมเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพราะมีเครื่องมือและแพทย์เฉพาะทางอย่างกุมารแพทย์ดูแล

“ในการนำทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้น ทางโรงพยาบาลแก่งกระจานต้องเตรียมถุงถั่วเขียวสำหรับรักษาอุณหภูมิไม่ให้ต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส โดยนำถุงถั่วเขียวไปเข้าไมโครเวฟ 1 นาที แล้วนำมารองไว้ด้านล่างของเตียงทารก นำผ้ามาปูทับอีกชั้น จากนั้นนำผ้าห่อตัวเด็กแล้วย้ายมาไว้ที่เตียง แล้วจึงนำขึ้นรถพยาบาล พร้อมพยาบาลอีก 2 คน เพื่อเดินทางไปโรงพยาบาลพระจอมเกล้า ซึ่งอยู่ห่างไป 50 กิโลเมตร ระยะเวลาประมาณ 45 นาที”

ปัญหาหลักที่พบ คือการใช้ถุงถั่วเขียวเพื่อรักษาอุณหภูมิทารกนั้นไม่สามารถให้ความร้อนที่สม่ำเสมอ ที่สำคัญ ยังไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ดี อาจทำให้ผิวหนังของทารกไหม้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในการเดินทางแต่ละครั้ง พยาบาล 2 คนต้องช่วยกันประคับประคองเตียงของทารกไม่ให้ลื่นไถลขณะรถขับไปยังจุดหมาย เพราะด้วยความที่เตียงไม่ได้ออกแบบมาโดยเฉพาะและไม่มีระบบล็อก จึงอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ทั้งทารกและพยาบาลที่พาไป

ทั้งนี้นพสิทธิ์ยอมรับว่า แม้จะเห็นถึงความจำเป็นของการมีตู้อบเด็กทารกแรกเกิดเคลื่อนที่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาชีวิตของทารกให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ยิ่งในกรณีที่ต้องพบว่าโรงพยาบาลประจำจังหวัดไม่สามารถรับได้ เนื่องจากจำนวนเตียงมีจำกัด และต้องส่งทารกแรกเกิดไปยังโรงพยาบาลที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้จำเป็นต้องเลือกจัดหาอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า

“ที่ผ่านมา เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีตู้อบเด็กทารกแรกเกิด แต่เมื่อเทียบกับความจำเป็นอื่นๆ ในโรงพยาบาล ก็จำเป็นต้องนำงบประมาณไปจัดสรรในส่วนอื่นก่อน บวกกับปัจจุบันเทคโนโลยีก็ดีขึ้น สามารถตรวจสุขภาพคุณแม่ได้แม่นยำยิ่งขึ้น แต่แก่งกระจานก็ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่มีชนกลุ่มน้อย มีคุณแม่อายุน้อยอยู่มาก ทำให้ปัญหาทารกแรกเกิดยังคงมีอยู่”

ดังนั้นการที่มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารกแรกเกิด จึงถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลแก่งกระจานคงไม่มีตู้อบเด็กทารกแรกเกิดแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อช่วยเหลือชีวิตน้อยๆ “ตู้อบเด็กแรกเกิดที่มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา มอบให้ เป็นตู้แบบใหม่ ได้มาตรฐาน มีระบบล้อเป็นล้อเลื่อน แล้วก็มีระบบล็อกล้อ ดังนั้นเวลาเข็นขึ้นไปอยู่บนรถ ระบบล็อกล้อก็จะทำงานทันที เวลารถเบรกหรือเลี้ยว ตู้อบจะไม่ไถล นอกจากนั้นอุณหภูมิในตู้ยังคงที่ พยาบาลที่ไปกับทารกน้อยจะเห็นการเคลื่อนไหวและการหายใจของเด็กตลอดเวลา”

ในฐานะที่ทำงานอยู่ในพื้นที่แก่งกระจานมากว่า 20 ปี นพสิทธิ์เผยว่า เห็นความทุกข์ยากของคนในพื้นที่มาตลอด แต่ทุกครั้งที่ก้าวผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ ก็ด้วยพลังคนไทยที่ช่วยเหลือมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เงินสำหรับซ่อมแซมบ้านพักอาศัย เรียกว่าพลังคนไทยช่วยเหลือชาวแก่งกระจานมาตลอด “โดยส่วนตัวผมเชื่อในพลังคนไทย เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และพลังคนไทยนี่เองเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับคนไทยมาตลอด ครั้งนี้ก็เช่นกัน”