Happening

POWER EXCLUSIVE
สืบสาน ส่งเสริม ศิลปหัตถกรรมไทย
ภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจ
สู่ความยั่งยืนของชุมชน

By 8 August 2023 No Comments
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงนำผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน และคณะ เยี่ยมชมงานฝึกอาชีพของราษฎรภาคต่างๆ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักว่าศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาคล้วนมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของราษฎรในท้องถิ่น ซึ่งมีความงามและคุณค่าซ่อนอยู่ จึงทรงริเริ่มส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมด้านศิลปหัตถกรรม หรือ “ศิลปาชีพ” เพื่อเพิ่มรายได้แก่การดำรงชีวิตของครอบครัว ขณะเดียวกัน ก็มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเหล่านั้นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และดำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดกาลนาน

นับเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพแก่ราษฎรในทั่วทุกภูมิภาค จนทำให้ในปัจจุบันนี้ ผลงานศิลปาชีพได้รับการยอมรับทั้งจากภายในและต่างประเทศ ด้วยการเผยแพร่ผลงานในรูปแบบต่างๆ เริ่มจากการโปรดที่จะทรงใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าปักของชาวไทยภูเขา กระเป๋าทรงถือที่ประดิษฐ์จากย่านลิเภา หรือเครื่องเงินเครื่องทองฝีมือสมาชิกศิลปาชีพ นอกจากนั้น ยังมีพระราชประสงค์ที่จะเผยแพร่ผลงานศิลปาชีพให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทย คนไทย และศิลปหัตถกรรมไทย เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในท่ามกลางประชาคมโลกอีกด้วย

กระเป๋าย่านลิเภา

กระเป๋าย่านลิเภา เป็นงานหัตถกรรมประเภทงานจักสานที่สานหรือถักด้วยเส้นย่านลิเภา ซึ่งเป็นพืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ที่มีลำต้นเหนียวทนทานเป็นพิเศษ จึงนิยมนำย่านลิเภาชนิดสีดำและสีน้ำตาลมาใช้ในงานจักสาน ผ่านการเรียงร้อยสอดประสานด้วยทักษะฝีมือเชิงช่างที่ส่งต่อเป็นมรดกภูมิปัญญารุ่นต่อรุ่น เกิดเป็นกระเป๋าย่านลิเภางดงามและส่งต่อเป็นมรดกแห่งความภาคภูมิใจแก่คนรุ่นหลังนานนับร้อยปี งานหัตถกรรมด้านการจักสานย่านลิเภา ถือเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ภาคใต้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีชื่อเสียงในงานหัตถกรรมชนิดนี้มากที่สุด

งานจักสานย่านลิเภาในประเทศไทย

เชื่อกันว่า ชาวนครศรีธรรมราชเริ่มนำย่านลิเภามาทำเป็นเครื่องจักสานในราวต้นรัตนโกสินทร์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากย่านลิเภาเป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตมากกว่างานจักสานประเภทอื่น ผู้ทำจึงต้องเป็นผู้มีฝีมืออย่างแท้จริง หัตถกรรมแขนงนี้จึงใช้กันอยู่ในวงจำกัด และเกือบจะสูญหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และพัฒนางานจักสานย่านลิเภาให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรในเขตภาคใต้ ทรงมีพระราชดำริให้สอนการสานย่านลิเภาในโครงการศิลปาชีพ และได้ทรงแนะนำให้มีการพัฒนาฝีมือมากขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนารูปแบบจนสวยงาม ตลอดจนทรงรับซื้อผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาให้มูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนำออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติ

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลและพระอัจฉริยภาพที่ทรงเห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมของชาติทรงนำขึ้นมาฟื้นฟูใหม่และมีพระราชดำริสร้างสรรค์ให้มีรูปทรงใหม่ๆ อีกทั้งการประดับตกแต่งด้วย ทอง นาก ถมเงิน ถมทอง ไปจนถึงงาช้าง และอัญมณีต่างๆ ให้งดงามวิจิตรยิ่งขึ้น จนผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาดูสวยงามล้ำค่า นอกจากนี้พระองค์ทรงใช้เองและนำไปจัดแสดงในต่างประเทศ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เลือกช้อปผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ไทย เป็น ไป ได้ ทุกวันที่ sacit shop

คิง เพาเวอร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฝั่งผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ (West) โซน D

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)
สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

  1. สารคดีองค์ความรู้งานจักสานย่านลิเภา https://archive.sacit.or.th/media/162
  2. องค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา https://archive.sacit.or.th/creator/175