LifestyleLifestyle 125Number 125

Amazing Bangkok: Old Bangkok City Walking Tour

By 11 December 2018 No Comments

OLD BANGKOK CITY WALKING TOUR

แดดส่องยิบๆ ในคลองรอบกรุงที่เรือโดยสารกำลังเทียบท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานข้ามคลองรอบกรุง ที่เชื่อมถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอก และทอดตัวสู่กำแพงเมืองพระนคร รวมถึงป้อมมหากาฬ 1 ใน 14 ป้อมที่ใช้รักษาพระนครนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระราชสมภพ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 – สวรรคต 7 กันยายน พ.ศ. 2352) เสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีไทย

STORY & PHOTOGRAPHY

PIYALAK NAKAYODHIN

ฉันยึดเป็นทำเลตั้งต้นในการเดินเที่ยวเขตเมืองเก่ากรุงเทพฯ หรือ เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งใช้ชื่อนี้ใน พ.ศ. 2520 เพื่อกำหนดเป็นเขตปรับปรุงปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพราะเป็นอาณาเขตกรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ระยะแรก 

เกาะรัตนโกสินทร์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้น คือเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน พื้นที่ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ บริเวณที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง และเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ได้แก่ บริเวณล้อมรอบคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง พื้นที่ราว 2.3 ตารางกิโลเมตร แต่ทั้งนี้การเดินเที่ยวให้รอบเกาะรัตนโกสินทร์ใน 1 วัน อาจเป็นภารกิจ “ชะโงกทัวร์” เกินไป เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน อาชีพ อาหารการกิน ให้สำรวจอย่างรื่นรมย์ไม่รู้จบ ฉันจึงตีกรอบการเดินให้แคบลงเพื่อจะใช้เวลากับสถานที่แต่ละแห่งได้มากขึ้น เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง ไปจรดสะพานผ่านพิภพลีลา เข้าคลองรอบกรุง สู่ถนนอัษฎางค์ ถนนราชบพิธ ถนนบำรุงเมือง ถนนมหาไชย ครบรอบที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ตรงข้ามป้อมมหากาฬ ระยะทางรวมไม่ถึง 4 กิโลเมตร (เท่านั้น)

อันว่าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์นี้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชสมภพ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 – สวรรคต 2 เมษายน พ.ศ. 2394) ผู้ทรงสร้างวัดราชนัดดารามวรวิหารที่อยู่ด้านหลัง ลานพลับพลาฯ ช่วยเสริมส่งทัศนียภาพของโลหะปราสาท ที่เปรียบเสมือนประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ขณะที่อาคารตลอดแนวสองฝั่งถนนราชดำเนินกลางเองก็มีเอกลักษณ์ด้วยรูปแบบสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกตะวันออก ใช้รูปทรงเรขาคณิตสี่เหลี่ยมและวงกลมประกอบกันกลมกลืน พื้นผิวภายนอกอาคารเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนทำผิวแบบไม่เรียบ โดยอาคารถัดจากลานพลับพลาฯ ได้รับการบูรณะเป็น “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” ศูนย์กลางความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของยุคกรุงรัตนโกสินทร์ นำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับรัตนโกสินทร์โดยนำเทคโนโลยี สื่อจัดแสดง ระบบเสมือนจริง 4 มิติ อินเตอร์แอ็กทีฟ แอนิเมชั่น มาจัดแสดงผ่าน ห้องนิทรรศการ 9 ห้อง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบๆ รอบละ 2 ชั่วโมง อย่าลืมแวะไปถ่ายรูปพาโนรามาของถนนราชดำเนิน ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ วัดราชนัดดาฯ และโลหะปราสาท ในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนได้ที่รัตนโกสินทร์สกายวิว บนชั้น 4

เดินต่อมาถึงอาคารอีกหลังที่ได้รับการปรับปรุงโดยคงสภาพด้านนอกไว้ แต่เพิ่มความร่วมสมัยด้านในด้วยการออกแบบเป็นพื้นที่โล่ง เปิดกว้าง ปรับพื้นที่ใช้สอยได้ตามกิจกรรมต่างๆ อาคารหลังนี้คือ “หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน” แหล่งเรียนรู้แลกเปลี่ยนศิลปะร่วมสมัยทุกแขนงและบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ โดยชั้น 3 ยังเป็นศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน มีนิทรรศการมัลติมีเดียนำเสนออัตลักษณ์วัฒนธรรมอาเซียน ที่แม้แตกต่างแต่ก็มีความคล้ายคลึง นับเป็นความลื่นไหลของวัฒนธรรมร่วมที่ควรค่าแก่การศึกษา

ทีนี้ก็เดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หากรู้สึกหิว ตรงหัวมุมมีร้าน “เมธาวลัยศรแดง” สำหรับผู้ต้องการรสชาติอาหารไทยดั้งเดิมตำรับชาววัง ถัดไปเป็นบรรยากาศร่วมสมัยของ “บ้านดินสอ” ที่ดัดแปลงอาคารเก่าเป็นโรงแรมและร้านอาหาร แล้วพอข้ามถนนดินสอไปทางราชดำเนิน ก็มีร้านหนังสือ “ริมขอบฟ้า” ให้ซื้อหาหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ หนังสืออ้างอิงต่างๆ แต่หากอยากได้มุมนั่งอ่านสบายๆ เดินเลยไปถึงสี่แยกคอกวัว ข้ามถนนราชดำเนินกลางไปถนนตะนาวที่จะเข้าไปบางลำพู หัวมุมถนนนั้นคือ “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” หยิบบัตรประชาชน (หรือหนังสือเดินทาง) เสียบเข้ากับเครื่องแล้วผ่านเข้าไปทึ่งกับอาคารเก่าที่ปรับเป็นห้องสมุดตกแต่งสวยเก๋ กระจ่างตา ให้บรรยากาศชวนอ่านหนังสือเพลินๆ ด้วยหนังสือมากหลาย ตั้งแต่หนังสือเด็ก นิยาย ความรู้ จดหมายเหตุ หนังสือหายาก พระราชนิพนธ์ หนังสือภาษาต่างประเทศ รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ดีจริงๆ ที่มาทีไรก็เห็นผู้ใช้บริการมากมาย

ข้ามถนนกลับมาฝั่งเดิม แล้วเดินต่อไปทางสนามหลวง ถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ตรงหัวโค้งก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอัษฎางค์ ที่ทางขวามือคือคลองรอบกรุง ห้องแถวรายเรียงเป็นกลุ่มร้านขายเครื่องดนตรี สลับกับร้านขายเครื่องแบบทหาร ตำรวจ เครื่องหมายยศข้าราชการ อุปกรณ์ตั้งแคมป์เดินป่า ถึงตรงนี้หากใครยังไม่ได้รับประทานอาหาร ขอเชิญที่ร้านข้าวแกงสูตรอาหารจีนหัวมุมถนนแพร่งนรา “ย่งเซ่งหลี” สั่งไก่ผัดซอสแดง หรือจะลองชิมก๋วยเตี๋ยวตุ๋นยาจีนก็ไม่เลว อิ่มแล้วเดินข้ามคลองรอบกรุงที่มีการขุดลอกคลองปรับทัศนียภาพให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไปยังอาคารสีเหลืองสไตล์นีโอคลาสสิกสูง 3 ชั้นของกระทรวงกลาโหม ที่ดูสวยเตะตาชวนให้ไปกดชัตเตอร์โพสท่าถ่ายรูปสนุกๆ 

จากนั้นเดินเลียบคลองต่อไปจนถึงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จุดหมายของเราคือสุสานหลวง ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 – สวรรคต 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคาร เพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ สุสานหลวงนี้ตั้งอยู่ในสวนสวยงามท่ามกลางอนุสาวรีย์ที่มีสถาปัตยกรรมต่างกัน ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย ศิลปะปรางค์ลพบุรี และแบบโกธิก โดยอนุสาวรีย์สำคัญคือเจดีย์สีทอง 4 องค์ที่มีชื่อสอดคล้องกัน ได้แก่ 

1. สุนันทานุสาวรีย์–บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา

2. รังษีวัฒนา–บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) รวมทั้งสมาชิกในราชสกุลมหิดล 

3. เสาวภาประดิษฐาน–บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) รวมทั้งสมาชิกในราชสกุลจักรพงษ์และราชสกุลจุฑาธุช

4. สุขุมาลนฤมิตร์–บรรจุพระราชสรีรางคารของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) พระประยูรญาติ และพระราชโอรสธิดา รวมทั้งสมาชิกในราชสกุลบริพัตร

คลายร้อนด้วยกาแฟเย็นสักแก้วที่ร้านหนังสือและคาเฟ่ “สวนเงินมีมา” ตรงข้ามประตูทางเข้าวัดราชบพิธฯ ถนนเฟื่องนคร เป็นร้านหนังสืออิสระ และมีงานฝีมือแฮนด์เมด รวมถึงผลิตภัณฑ์และอาหารเพื่อสุขภาพจำหน่ายด้วย จากนั้นเดินเลี้ยวขวาเข้าถนนราชบพิธ ถนนสายเล็กๆ ที่ยังมีห้องแถวไม้ 2 ชั้นสลับให้เห็นกับห้องแถวปูน 4-5 ชั้น มีร้านค้าอย่างศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ และร้านดอยคำ ให้ซื้อผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ก่อนจะออกมาเจอถนนตีทอง ที่แนวถนนด้านหนึ่งเรียงรายด้วยร้านขายเครื่องแบบ เครื่องหมายยศข้าราชการ อีกฝั่งถนนคือกำแพงยาวของวัดสุทัศนเทพวราราม ที่พอเดินสุดถนนมาตัดถนนบำรุงเมือง ก็จะได้เห็น “เสาชิงช้า” ที่เพิ่งได้รับการทาสีใหม่จนแดงสดใส ตั้งตระหง่านอยู่ไม่ไกลจากลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ยังอยู่กันบนถนนบำรุงเมือง ตอนนี้จะเห็นข้าวของที่วางขายเปลี่ยนไปจากบรรดาเครื่องแบบยศตรา เพราะตึกแถวก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นจากสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ รายเรียงด้วยร้านค้าเครื่องสังฆภัณฑ์ อัฐบริขาร และทองคำเปลว แนะนำให้เดินบนบาทวิถีฝั่งขวาเพื่อความปลอดภัย แล้วพอถึงแยกสำราญราษฎร์ ค่อยเดินข้ามถนนไปทางซ้ายเข้าถนนมหาไชย ถึงตรงนี้คงเห็นนักชิมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั่งๆ ยืนๆ ต่อคิวร้านอาหารริมทางที่ได้ดาว 1 ดวง จากคู่มือมิชลินไกด์ฉบับกรุงเทพฯ ประจำปี พ.ศ. 2561 อย่างร้าน “เจ๊ไฝ” กับไข่เจียวปูในตำนาน และอีกหนึ่งร้านอาหารริมทางที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ (ร้านอาหารอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา) อย่างร้าน “ทิพย์สมัยผัดไทย (สาขาประตูผี)” ผัดไทยเจ้าดังที่ว่ากันว่าอร่อยที่สุดในกรุงเทพฯ เห็นคิวรอยาวเหยียดท่ามกลางไอร้อนอ้าวของกรุงเทพฯ พลันนึกขึ้นได้ว่าทิพย์สมัยมีสาขาติดแอร์เย็นฉ่ำและไม่ต้องรอคิวนานอยู่ที่ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ชั้น 3 ไหนๆ วันนี้ก็เป็นนักท่องเที่ยวเมืองกรุง ก็ขอนั่งรถตุ๊กตุ๊กปิดท้ายไปชิมผัดไทยติดแอร์ รสชาติเหมือนต้นตำรับ แล้วพัก 2 ขาที่เดินมาทั้งวันด้วยที่นั่งสบายๆ ในเกล็น บาร์ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ จิบเครื่องดื่มสูตรพิเศษแบบไทยๆ อย่าง “เสน่ห์” ไทยรัมผสมกับกระเจี๊ยบและโปยกั๊กรมควัน สูตรเฉพาะของบาร์น่านั่งในกรุงเทพมหานคร

AMAZING BANGKOK

*ข้อมูลท่องเที่ยว: www.bangkoktourist.com; นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ www.nitasrattanakosin.com; หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน www.rcac84.com; หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร www.bangkokcitylibrary.com