LifestyleLifestyle 125Number 125

Amazing Bangkok: Exploring the Ordination Hall of Wat Suthat

By 11 December 2018 No Comments

EXPLORING THE ORDINATION HALL OF WAT SUTHAT

เมื่อกล่าวถึงวัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า วัดสุทัศน์ บางคนอาจคิดถึงเสาชิงช้าบนเกาะกลางถนน ด้านประตูวัดทางทิศเหนือที่ติดถนนบำรุงเมืองเป็นสิ่งแรก บ้างคิดถึงบานประตูไม้แกะสลักลายสวยงามอ่อนช้อยของพระวิหารหลวง ซึ่งปัจจุบันบานประตูดั้งเดิมได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

STORY

NATTAPORN NAPALAI

PHOTOGRAPHY

SUPACHAT VETCHAMALEENONT

หลายคนมาวัดสุทัศน์แล้วมักจะทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ และหยุดอยู่แค่บริเวณพระวิหารหลวงและพระวิหารคดที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงรายนับร้อยองค์ แต่หากเดินลัดเลาะให้ลึกเข้าไปอีก จะพบว่าวัดแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันมีพระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตตคุตโต) พระเถระผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ยังเต็มไปด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าเหลือคณานับ สมกับเป็นพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือช่างอันประณีต โดยในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดสุทัศน์ได้รับคำยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการออกแบบวางแผนผังกลุ่มอาคารและตัวอาคารได้สัดส่วนงดงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระอุโบสถนั้น นอกจากจะเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่อย่างมากแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยความวิจิตรงดงามที่ควรค่าแก่การมาชมให้ได้อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต 

วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (พระราชสมภพ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 – สวรรคต 7 กันยายน พ.ศ. 2352) ดำรัสให้สร้างขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2350 บนพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณกึ่งกลางของพระนคร เพื่อให้เหมือนกับเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่จะต้องมีวัดเป็นศูนย์กลางตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างเมืองในสมัยโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ที่ตั้งของวัดสุทัศน์จึงเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงดำริให้เรียกว่า “วัดมหาสุทธาวาส” พร้อมกับทรงให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีมาจากสุโขทัยลงมาประดิษฐาน แต่การก่อสร้างพระวิหารหลวงดำเนินไปได้เพียงก่อฐานไพทีและฐานบัลลังก์ชุกชี และนำพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐาน ไม่นานหลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จสวรรคต ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พระราชสมภพ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 – สวรรคต 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367) ทรงรับเป็นพระราชภาระในการดำเนินการก่อสร้างสืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา แต่พระองค์ก็เสด็จสวรรคตในขณะที่การสร้างพระวิหารหลวงยังไม่ทันเสร็จสิ้น ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พระราชสมภพ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 – สวรรคต 2 เมษายน พ.ศ. 2394) การก่อสร้างพระวิหารหลวงที่ค้างมาถึง 2 รัชกาลจึงได้เสร็จสมบูรณ์ ด้วยพระราชศรัทธาอันแรงกล้า พระองค์ยังทรงทุ่มเทพระราชทรัพย์และระดมสรรพกำลังในการสร้างวัดสุทัศน์ให้งดงามใหญ่โต รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญขึ้นด้วย พร้อมกับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศน์เทพธาราม” ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พระราชสมภพ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 – สวรรคต 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสร้อยท้ายนามเป็น “วัดสุทัศนเทพวราราม” ซึ่งถือเป็นนามวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน 

พระอุโบสถวัดสุทัศน์เป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน วางตำแหน่งอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก หันด้านหน้าของพระประธานไปทางทิศตะวันออกตามแบบแผนคตินิยมของไทย และวางตัวอยู่ในแนวตั้งฉากรับกับพระวิหารหลวงซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือ อาคารพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานยกสูง มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด 68 ต้น ด้วยขนาดความกว้าง 23 เมตร ยาว 70 เมตร ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นพระอุโบสถที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งกว่าจะเดินได้ครบรอบจะต้องใช้เวลาถึงประมาณ 4 นาทีกันเลยทีเดียว

ก่อนที่จะเข้าสู่พระอุโบสถ จะผ่านซุ้มประตูที่สร้างในรูปแบบซุ้มประตูทรงยอด ผสมผสานศิลปะแบบไทยและตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ด้านบนของซุ้มเป็นรูปทรงเครื่องยอดทรงมงกุฎที่เพรียวแหลมและอ่อนช้อย ดัดแปลงมาจากพระมหามงกุฎหรือชฎาอันเป็นเครื่องศิราภรณ์ชั้นสูงของไทย บานประตูพื้นสีเขียวมีภาพสีน้ำมันรูปครุฑยุดนาคงดงาม เหนือบานประตูตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักไม้ปิดทองอย่างสวยงาม ตรงบานประตูยังมีตุ๊กตาศิลาแต่งกายแบบฝรั่งยืนเฝ้าทั้ง 2 ข้าง โดยซุ้มประตูนี้มีทั้งสิ้น 8 ซุ้ม ตั้งอยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ ขณะที่บนกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถยังมีเกยโปรยทานทำด้วยหินอ่อน มีบันไดขึ้น-ลง ตั้งอยู่ระหว่างซุ้มใบเสมาทั้งหมด 8 เกย โดยเกยเหล่านี้ในอดีตเคยใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์เพื่อโปรยทานแก่เหล่าพสกนิกรในคราวเสด็จพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทานบารมี

หน้าบันมุขด้านตะวันออกของพระอุโบสถแกะสลักลายสุริยเทพทรงราชรถเทียมราชสีห์ ทิศตะวันตกจำหลักลายจันทรเทพทรงราชรถเทียมม้า เปรียบตำแหน่งของพระอาทิตย์และพระจันทร์ (กลางวัน-กลางคืน) ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปประธานจำลอง มีธูปเทียนให้จุดสักการะบูชาก่อนเข้าสู่ภายในพระอุโบสถซึ่งประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ องค์พระประธานซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโรงหล่อภายในพระบรมมหาราชวัง แต่ถวายพระนามโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ได้ทรงผูกนามพระประธานภายในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญของวัดสุทัศน์ให้คล้องกันว่า “พระศรีศากยมุนี” “พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์” และ “พระพุทธเสรฏฐมุนี” 

ส่วนด้านล่างผนังระหว่างช่องประตู-หน้าต่าง เขียนภาพนิทานประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือผู้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมด้วยตนเอง แต่ยังไม่ประกาศเผยแผ่คำสั่งสอนให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย ซึ่งถือเป็นการแหวกแนวทางประเพณีของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่แต่เดิมมักเขียนภาพทศชาติชาดกหรือพุทธประวัติ ขณะที่เหนือช่องหน้าต่างและประตูพระอุโบสถเป็นภาพจากเรื่องรามเกียรติ์ใส่กรอบตั้งประดับ ส่วนบานหน้าต่างไม้เป็นบานเปิดคู่ ด้านนอกตกแต่งด้วยลายปิดทองรดน้ำ ด้านในตกแต่งด้วยภาพเทพชุมนุม โดยภาพวาดบนแต่ละบานไม่มีซ้ำกันเลยสักภาพ

แม้วัดสุทัศน์จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทว่าบรรยากาศภายในวัดกลับมีความสงบ ร่มเย็นและร่มรื่นอย่างเหลือเชื่อ นอกจากนั้นภายในวัดยังมีสถานที่ซึ่งทรงคุณค่าแก่การเที่ยวชมและเรียนรู้อีกมากมาย เช่น “ศาลาการเปรียญ” อาคารทรงไทยโบราณซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเสรฏฐมุนีที่หล่อด้วยทองเหลืองของกลักฝิ่น, “ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช” ซึ่งเดิมใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถร) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นตำหนักที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 คราวเดียวกับการสร้างพระอุโบสถ, “สัตตมหาสถาน” สถานที่เสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า 7 แห่ง ก่อนเสด็จออกเผยแผ่ศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองขึ้นแทนพระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอุณากรรณ เรียงเป็นแถวแนวทิศเหนือ-ใต้

ในระหว่างรัชสมัยของรัชกาลที่ 3-5 ใช้เป็นที่สำหรับเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา, “หอระฆัง” ก่อด้วยอิฐถือปูนลักษณะเป็นแปดเหลี่ยมตั้งแต่ฐาน หลังคาเป็นป้อมแบบยุโรป ภายในเป็นบันไดเวียนขึ้นข้างบน ด้านบนเจาะเป็นซุ้มโปร่งทุกด้าน เพื่อให้มองเห็นระฆัง

วัดสุทัศน์ยังเป็นวัดประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 (พระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 – สวรรคต 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) เนื่องจากเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรก ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ และทรงปรารภว่า “ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง” และครั้นเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถร) ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายพระโอวาท อีกทั้งเมื่อยังดำรงพระชนม์ชีพ พระองค์ยังเสด็จฯ มาทำพระสมาธิที่วัดสุทัศน์อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นเมื่อเสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงมีการนำพระบรมราชสรีรังคารมาประดิษฐานไว้บริเวณส่วนผ้าทิพย์ฐานบัลลังก์พระศรีศากยมุนี และประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นไว้ที่ลานประทักษิณ ชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระวิหารหลวง โดยมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต เป็นประจำทุกปี

เพราะเป็นวัดซึ่งรวบรวมศิลปะและสถาปัตยกรรมสำคัญที่ทรงคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ การเยี่ยมชมเพื่อซึมซับความงดงามและคุณค่าของศิลปะและสถาปัตยกรรมภายในวัด จึงต้องเผื่อเวลาไว้มากสักหน่อย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัดได้ตั้งแต่เช้าถึง 21.00 น. ของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด (เฉพาะพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ปิดเวลา 16.30 น.) รวมทั้งสามารถร่วมสวดมนต์ฟังธรรมได้ทุกวันที่พระวิหารหลวงในเวลา 12.00 น. และ 19.00 น. ส่วนวันพระเพิ่มสวดมนต์ภาคเช้าเวลา 09.00 น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 2222 3539 และ 0 2622 2819

AMAZING BANGKOK