HappeningHappening 129Number 129

Power Exclusive:
Master Handicrafts

By 9 August 2019 No Comments

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในเสน่ห์ของภูมิปัญญาไทย และเพลิดเพลินกับการชื่นชมงานหัตถศิลป์ชิ้นเอกอันเกิดจากรากเหง้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นมรดกแห่งวัฒนธรรมที่เลอค่าเหนือกาลเวลา คิง เพาเวอร์ ขอแนะนำผลงานหัตถศิลป์ชั้นครู ประกอบด้วย “ดอยซิลเวอร์” แบรนด์เครื่องเงินชั้นแนวหน้าที่สืบทอดองค์ความรู้กันมาจนถึงรุ่นที่ 4 เป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ “พงษ์ศรีนคร ศิลาดล” แบรนด์เครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดลที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าได้อย่างงดงาม “SUNTREE” แบรนด์ผ้าทอมือจากจังหวัดสุโขทัยที่ใช้เทคนิคการทอผ้าอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวที่มีมากว่า 200 ปี และ “ผ้าปะลางิง” งานผ้าทอมือด้วยเทคนิคพิเศษจากกลุ่มชุมชนผ้าศรียะลาบาติก จังหวัดยะลา โดยงานหัตถศิลป์ชั้นครูทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นผลงานซึ่ง คิง เพาเวอร์ ให้การสนับสนุนอยู่ภายใต้โครงการ “KING POWER THAI POWER พลังคนไทย”

เครื่องเงินแบรนด์ “ดอยซิลเวอร์” และเครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดลแบรนด์ “พงษ์ศรีนคร ศิลาดล” กำลังจะมีวางจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในเร็วๆ นี้ ส่วนงานผ้าทอมือแบรนด์ “SUNTREE” และ “ผ้าปะลางิง” จากกลุ่มชุมชนผ้าศรียะลาบาติก จังหวัดยะลา ขณะนี้มีวางจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรียบร้อยแล้ว

งานหัตถศิลป์ชั้นครูทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นผลงานซึ่ง คิง เพาเวอร์ ให้การสนับสนุนอยู่
ภายใต้โครงการ KING POWER THAI POWER พลังคนไทย

“ดอยซิลเวอร์”
เครื่องเงินคุณภาพจากน่าน

“ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่” ศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินระดับแนวหน้าที่สืบสานศิลปหัตกรรมเครื่องประดับเงินภายใต้คอนเซ็ปต์ “น่านซิลเวอร์ไลฟ์” ถ่ายทอดภูมิปัญญาเมืองน่านสู่เครื่องประดับเงินแบรนด์ “ดอยซิลเวอร์” ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคจากบรรพบุรุษรุ่นปู่สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน ปัจจุบันผู้บริหาร “ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่” คือ สมชาย รุ่งรชตะวาณิช เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล

“ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่” โดดเด่นด้วยประสบการณ์ด้านเครื่องประดับเงินมากว่า 70 ปี มีช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับเงินมากกว่า 200 คน ศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินแห่งนี้ได้นำความรู้จากการผลิตเครื่องเงินเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ และประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่รุ่นปู่ ส่งต่อความรู้หัตถกรรมมายังรุ่นหลาน ต่อยอดจนกลายเป็นบริษัทผู้รับผลิตสินค้าเครื่องเงินระดับแนวหน้า ผลิตเครื่องเงินและเครื่องประดับเงินรูปพรรณมาตรฐาน 92.5 เปอร์เซ็นต์ จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศจนเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตเครื่องเงินและเครื่องประดับเงินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากนั้นเครื่องเงินแบรนด์ “ดอยซิลเวอร์” ยังเป็นสินค้า OTOP ขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน จนเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้มีการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับช่างฝีมือแรงงานในชุมชนนับร้อยชีวิต

ศิลาดล คุณค่าแห่งภูมิปัญญาที่บ่งบอกเรื่องราวเฉพาะตัว ด้วยความวิจิตรจากปลายพู่กัน (Hand Made)
สะท้อนถึงรากเหง้าของศิลปะโบราณสู่ปัจจุบันอย่างแท้จริง ในนาม “พงษ์ศรีนคร ศิลาดล”

“พงษ์ศรีนคร ศิลาดล”
เครื่องปั้นดินเผาเคลือบสารพัดประโยชน์

“พงษ์ศรีนคร ศิลาดล” แบรนด์เครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดล โดย ครูพงษ์ลักษณ์ สุวรรณมาลี ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 6 ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ผู้ซึ่งสร้างสรรค์และถ่ายทอดภูมิปัญญาในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดลมากว่า 40 ปี

เครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดล เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้สอยได้สารพัดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นถ้วย โถ โอ่ง ชาม ตุ่ม สำหรับใส่น้ำหรือใส่ข้าวสาร โดยคุณลักษณะเด่นอันถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดล คือความคลาสสิกของสีเขียวไข่กาและการแตกลายงา ซึ่งเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาล้วนๆ โดยสีเขียวเกิดขึ้นจากขี้เถ้าไม้และดินหน้านาที่ได้หลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร นำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำเคลือบที่นำไปชุบผลิตภัณฑ์ ก่อนจะนำไปเผาในเตาเผาแบบโบราณ (เตาทุเรียง) ซึ่งใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟ จนทำให้เกิดสีเขียวไข่กาหรือสีเขียวหยก ส่วนการแตกลายงานั้นเกิดจากการหดตัวและขยายตัวที่ต่างกันของดินกับน้ำเคลือบระหว่างการเผาผลิตภัณฑ์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้ทรงคุณค่า สามารถสร้างรายได้และอาชีพต่อชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน “พงษ์ศรีนคร ศิลาดล” ได้นำความรู้มาสร้างสรรค์และพัฒนาให้สามารถนำทองคำมาผสมผสานเข้ากับงานเครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดลได้อย่างงดงาม ก่อให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับความโดดเด่นแห่งศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลาดลให้มีคุณสมบัติสามารถใช้กับไมโครเวฟและเครื่องล้างจานได้ ทั้งยังผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย สร้างความอุ่นใจให้กับผู้บริโภค และยังมีแผนวิจัยต่อเนื่องเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบาขึ้น แต่ยังคงมีคุณสมบัติและเอกลักษณ์ดังเดิมอีกด้วย

“SUNTREE” แบรนด์ผ้าทอมือจากจังหวัดสุโขทัยที่ใช้เทคนิคการทอผ้าแสนสวยงาม
อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวที่มีมากว่า 200 ปี

ยลโฉมผ้าทอมือจากสุโขทัย “SUNTREE”

“SUNTREE” แบรนด์ผ้าทอมือจากจังหวัดสุโขทัยที่ใช้เทคนิคการทอผ้าแสนสวยงามอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวที่มีมากว่า 200 ปี นำมาผสมผสานกับงานออกแบบที่ทันสมัย โดยยังคงเอกลักษณ์ของสินค้าที่แฝงภูมิปัญญาไทย เพื่อให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในทุกโอกาส 

ผ้าของชุมชนไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ผ้าตีนจก ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และใช้ “ขนเม่น” ในการจก เพื่อให้เกิดลวดลาย ต้องอาศัยความประณีตอย่างสูง จึงต้องใช้เวลาในการทอนานเป็นเดือนกว่าจะเสร็จ 1 ผืน ปัจจุบันนอกจากผ้าทอแบรนด์ “SUNTREE” จะนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาต่อยอดให้สามารถวางจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว “SUNTREE” ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยด้านการทอผ้า เปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องการทอผ้าและการออกแบบ อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนของงานภูมิปัญญาผ้าทอไทยพวนตลอดไป

เอกลักษณ์สำคัญของผ้าปะลางิงในอดีต คือลวดลายซึ่งเกิดจากเทคนิคการพิมพ์ลายจากบล็อกไม้
โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น เช่น ช่องลมในอาคารบ้านเรือน 

“ผ้าปะลางิง” งานผ้าทอมือ
สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ผ้าปะลางิง” จากกลุ่มชุมชนผ้าศรียะลาบาติก จังหวัดยะลา โดย ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเครื่องทอ (ผ้าปะลางิง) ครูผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การสร้างสรรค์ผ้าปะลางิงมากว่า 10 ปี

ผ้าปะลางิง เป็นงานผ้าทอมือที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าด้วยบล็อกไม้แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ มีการใช้ในกลุ่มชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้แถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีจุดเด่นคือ สะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ค่านิยม จารีต ประเพณี และศาสนา จนเกิดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาสืบทอดต่อกันมา

เอกลักษณ์สำคัญของผ้าปะลางิงในอดีต คือลวดลายซึ่งเกิดจากเทคนิคการพิมพ์ลายจากบล็อกไม้ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น เช่น ช่องลมในอาคารบ้านเรือน มัสยิด ลายประตู ลูกกรง ตลอดจนแป้นพิมพ์ลายกนกเก่าๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในชุมชน เป็นต้น ก่อนนำมาพิมพ์ลงบนผืนผ้าตามจินตนาการของช่าง ส่วนการใช้สีจะเน้นความแตกต่างของค่าน้ำหนักอ่อน-แก่ของสี เพื่อสร้างมิติความโดดเด่นและความน่าสนใจให้แก่ลายผ้าที่ปรากฏบนผืนผ้าปะลางิง 

ในสมัยโบราณ ผู้หญิงมุสลิมนิยมใช้ผ้าปะลางิงเป็นผ้าคลุมศีรษะ (ฮิญาบ) หรือใช้สำหรับตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ผ้าคาดอก หรือผ้านุ่ง ส่วนผู้ชายใช้เป็นผ้าคาดเอว แล้วเหน็บด้วยกริชรามัน ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตของชายในแถบชายแดนใต้ในสมัยอดีต จนเมื่อในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ส่งผลให้การผลิตผ้าปะลางิงหยุดชะงักลง จนเกือบจะสูญหายไปจากวิถีชีวิตชายแดนใต้เกือบ 80 ปี แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาผ้าปะลางิงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้ผ้าปะลางิงได้กลับมาอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนแถบชายแดนใต้ จนเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง กระทั่งผ้าปะลางิงกลายเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดยะลามาจนถึงปัจจุบัน