THE COUNTRY’S SOURCE OF LIFE
จากพระราชปณิธานที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่บนแผ่นดินไทย ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริ มากกว่า 4,000 โครงการ
โดยในจำนวนนี้เป็นงานพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานมากถึงกว่า 2,000 โครงการ
จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด
การจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี จึงนับเป็นงานสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งทำอาชีพกสิกรรม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เกิดจากแนวพระราชดำริเป็นลำดับแรก คือโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2505 ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านเขาเต่า ทรงพบว่าราษฎรในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจืด ทั้งสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงช่วยเหลือโดยจัดให้มีแหล่งน้ำด้วยการสร้างเขื่อนดินปิดกั้นน้ำทะเล ไม่ให้ไหลเข้ามาตามคลอง และเพื่อกักเก็บน้ำฝนมิให้ไหลลงสู่ทะเล ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ อ่างเก็บน้ำเขาเต่าเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน เป็นเขื่อนดินที่มีความจุประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 300 ไร่
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาขาดแคลนน้ำที่มักเกิดขึ้นในท้องถิ่นทุรกันดาร จึงทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยในงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะทรงมีความเชื่อมั่นว่า “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัสที่พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ความตอนหนึ่งว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”
อีกทั้งเมื่อใดที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำได้ เมื่อนั้นราษฎรย่อมมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชนบทในด้านต่างๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริจึงได้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อมุ่งขจัดปัญหาความแห้งแล้งอันเนื่องมาจากสภาพของป่าไม้ต้นน้ำเสื่อมโทรม ลักษณะดินเป็นดินปนทราย หรือการขาดแหล่งน้ำจืด โดยมีหลักสำคัญคือ การพัฒนาแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศในแต่ละท้องที่ และยังจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งอีกด้วย
การพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่เพียงเป็นไปเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันมากล้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำในอีกหลายด้าน ทั้งเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม การป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม รวมถึงการบรรเทาน้ำเสีย โดยมีโครงการซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “คลองลัดโพธิ์” จังหวัดสมุทรปราการ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอุทิศพระองค์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยเพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับพสกนิกรที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ สิ่งนี้นับเป็นเครื่องยืนยันความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงพระสหายในต่างประเทศภายหลังเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ที่ว่า “…ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง” อย่างแท้จริง