Exclusive InterviewHappeningHappening 123Number 123

Exclusive Interview: A Mother’s Love

By 7 August 2018 No Comments

A MOTHER’S LOVE

มีคำกล่าวว่า ความเป็นแม่ คือการเป็นผู้ให้ เพราะแม่เป็นทั้งผู้ให้กำเนิด ผู้ให้ชีวิต ให้การเลี้ยงดูจนลูกเติบใหญ่ ด้วยความรักบริสุทธิ์ของแม่ มนุษยชาติจึงยังดำรงอยู่ได้…เนื่องในโอกาสวันแม่ 12 สิงหาคมนี้ นิตยสาร Power ขอพาท่านไปสัมผัสความรักของแม่ใน 4 แบบ 4 สไตล์ แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่สิ่งที่แม่ทุกคนมีเหมือนกัน คือความรักที่มีให้ลูกอย่างไม่รู้จบ ไม่มีเงื่อนไข และความทุ่มเทที่มีให้กับลูกอย่างสุดใจ

วารี พลไพศาล

“คุณแม่ผู้เลี้ยงลูกให้สุดแกร่ง”

ไม่ใช่เรื่องยากหากทายาทจะขึ้นมาครองตำแหน่งผู้บริหารในธุรกิจของครอบครัว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันที่จะขยายอาณาจักรธุรกิจนั้นให้กว้างใหญ่ขึ้นไปอีก “วารี พลไพศาล” คือคุณแม่ผู้เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เธอจึงมีวิธีการเลี้ยงดูลูก 5 คนที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะกับ “ปริ้นซ์–วิทวัส พลไพศาล” ลูกชายคนโตที่ตอนนี้รั้งตำแหน่งรองประธานกรรมการ “เครือเฮอริเทจ” ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหลากหลายแบรนด์ อาทิ ผลิตภัณฑ์อัลมอนด์และนมอัลมอนด์จากแคลิฟอร์เนียภายใต้แบรนด์ “บลูไดมอนด์” ผลิตภัณฑ์ธัญพืช ผลไม้อบแห้งและน้ำผลไม้ออร์แกนิก “เนเจอร์ เซนเซชั่น” และขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วและเมล็ดพืช “นัทวอล์คเกอร์” และ “ซันคิสท์” เป็นต้น

วิทวัสถูกฝึกให้กล้าและแกร่งมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะผู้เป็นแม่ทราบดีว่า ลูกชายของเธอนั้นมีภาระหนักรออยู่เมื่อเติบใหญ่ ดังนั้นเมื่อถามถึงหลักในการเลี้ยงดูลูก วารีตอบโดยไม่ต้องคิดนานว่าเน้นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่ดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ยังเยาว์

ค่อนข้างจะให้สิทธิ์กับลูกในการตัดสินใจ จะไม่นิยมสอนด้วยการพูด แต่จะให้ประสบการณ์จริง ให้เขาได้ทำ ได้พิสูจน์ ด้วยตัวเองไปเลย ถ้าพลาดมาจะได้รู้ และเราค่อยบอกเขาว่าอะไรเป็นอย่างไร

“คือดูจากตัวเองว่าเมื่อมีอิสระ ก็สามารถทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น เลยเลี้ยงลูกให้แกร่ง เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่ยังเล็กๆ ให้ช่วยเหลือตัวเองมากๆ เพราะรู้ว่าในอนาคตเขาต้องแบกรับภาระอะไรบ้าง ค่อนข้างจะให้สิทธิ์กับลูกในการตัดสินใจ จะไม่นิยมสอนด้วยการพูด แต่จะให้ประสบการณ์จริง ให้เขาได้ทำได้พิสูจน์ด้วยตัวเองไปเลย ถ้าพลาดมาจะได้รู้และเราค่อยบอกเขาว่าอะไรเป็นอย่างไร ปริ้นซ์ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ตอนนั้นพาเขาไปดูโรงเรียน ให้เขาคุยกับครูใหญ่ แล้วเลือกโรงเรียนด้วยตัวเอง แม่พาเขาไปแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ให้เขาเดินทางเอง ช่วยเหลือตัวเองหมดทุกอย่างแม่พยายามพาเขาไปโน่นไปนี่เยอะๆ ให้เขาได้เติบโตในวัฒนธรรมที่ต่างๆ กัน ซึ่งปริ้นซ์ก็จะเติบโตที่อังกฤษ แล้วไปอยู่สหรัฐอเมริกาช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แล้วเขายังได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นและจีน เขาเลยได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและพูดได้หลายภาษา แต่แม่ก็จะเลี้ยงเขาเหมือนเพื่อนด้วยนะคะ” ถึงตรงนี้ วิทวัสที่นั่งเงียบเก็บข้อมูลมานานก็แย้งเบาๆ ว่า “คุณแม่เป็นพี่สาว”…ประโยคนี้แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมของคุณแม่กับลูกชายเป็นอย่างดี

วารีกล่าวต่อว่า “เวลามีคนถามว่าแม่เลี้ยงลูกอย่างไร ส่วนใหญ่จะตอบว่าลูกเลี้ยงแม่ค่ะ ไม่ใช่แม่เลี้ยงลูก เพราะเราทำงานเยอะ ลูกๆ จะช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน ขับรถพาไปโน่นไปนี่ เป็นแบบนี้ทั้งลูกชายและลูกสาวเลยค่ะ” ถึงจะอยู่ไกลกันด้วยภาระหน้าที่ พ่อแม่ต้องทำงาน ฝ่ายลูกๆ ก็ต้องเรียนหนังสือในแดนไกล แต่ครอบครัว “พลไพศาล” กลับยังคงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างเหนียวแน่น เพราะลูกๆ ได้กลับบ้านทุกปิดเทอม “แม่จะไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ทางโน้นนานๆ เพราะเราเคยมาก่อน เรารู้ว่าถ้าปล่อยลูกให้อยู่ห่างบ้านนานๆ เขาจะตัดใจได้ก็เลยให้เขาได้กลับบ้านทุกปิดเทอม เพราะถ้าเขาได้กลับอยู่เรื่อยๆ ก็จะคิดถึงเราอยู่เสมอ อย่าปล่อยลูกจนเขาหมดใจ นี่เป็นสิ่งที่คนที่ส่งลูกเรียนเมืองนอกต้องเข้าใจ”

วิทวัสพาย้อนวันวานถึงวีรกรรมในวัยเด็กของตนให้ฟังบ้างว่า “ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่ามีแต่เรื่องเจ็บตัว” คุณแม่วารีได้ฟังดังนั้น จึงแจกแจงให้ฟังว่ามีทั้งคิ้วแตก และตกน้ำ 2 รอบ เพราะความซุกซนที่เมื่อออกตัวได้ ก็วิ่งแบบไม่คิดชีวิต พอถึงทางเลี้ยวจึงบังคับตัวเองให้เลี้ยวตามทางไม่ได้ กลับพุ่งตกคลองแทน และอีกครั้งในพัทยาปาร์คที่ลูกชายจอมซนแอบคุณพ่อคุณแม่ไปขึ้นสไลเดอร์ และเมื่อลงมาถึงน้ำ ก็จมหายไปจนบรรดาการ์ดต้องลงมาช่วยกันควานหายกใหญ่ “เขาห้ามเด็กเล่นครับแต่ผมเห็นคนขึ้นไปเล่นเยอะ ก็อยากเล่นบ้าง ตอนนั้นผมยังว่ายน้ำไม่เป็น ตัวก็เล็กนิดเดียว แต่ได้ลองยืนเขย่งขาในสระดูแล้วว่ายืนถึง กะว่าลงมาแล้วยืนได้แน่ แต่กลายเป็นว่าพอลงมาถึงน้ำ ก็จำอะไรไม่ได้อีกเลย มารู้ตัวอีกทีก็ถูกพาไปนั่งที่ขอบสระแล้วไม่รู้เลยว่าขึ้นมาจากน้ำได้อย่างไร” วิทวัสเล่ารายละเอียดราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดได้ไม่นาน

แม้มีความฝันในวัยเด็กว่าอยากเป็นสถาปนิก แต่ด้วยความผูกพันกับธุรกิจครอบครัวที่คลุกคลีมาแต่เล็กแต่น้อย วิทวัสจึงเลือกเรียนในสาขาเศรษฐศาสตร์จนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก “ที่ผมไม่เลือกเรียนบริหารธุรกิจ แต่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะคิดว่าการเรียนเศรษฐศาสตร์จะทำให้เราได้ภาพในมุมกว้าง ทำให้เราเข้าใจว่าประเทศหรือรัฐบาลทำงานกันอย่างไร ทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้ ทำไมแบงค์ถึงทำอย่างนี้แต่ถ้าเป็นบริหารธุรกิจจะได้ภาพที่เล็กกว่า จะเป็นเรื่องการบริหารกิจการบริษัท ซึ่งเขาจะสอนว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ เราควรทำอย่างไร ซึ่งในการทำงานจริง เราต้องปรับแก้ไปตามหน้างานมากกว่า ถ้าลองครั้งหนึ่งแล้วผิด ก็ต้องแก้เองโดยตำราจะไม่สอนว่าถ้าทำตามตำราแล้วไม่ได้ผล จะต้องทำอย่างไรต่อไป เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เองจากประสบการณ์ หลังจากจบปริญญาโท ผมก็ไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน แล้วก็กลับมาช่วยที่บ้าน”

พ.ศ. 2547 คือปีที่วิทวัสเริ่มเข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว เขาโชคดีที่มีคุณแม่เป็นครูที่ดีและสอนทุกอย่างด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

“เวลาติดตามแม่ไปทำงาน เช่น ไปประชุมทางธุรกิจ ผมจะดูว่าสิ่งที่คุณแม่ทำเป็นอย่างไรถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร มีตรงไหนที่เราจะปรับปรุง หรือถ้าเป็นคนอื่นที่อยู่อีกมุม เขาจะทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ หรือไปประชุมในเรื่องแบบนี้เราจะต้องพูดอย่างไร ถ้าไม่อยากทำ เราจะมีวิธีเลี่ยง พูดอ้อม หรือวิธีปฏิเสธอย่างไร เมื่อเราคอยฟัง คอยดูทุกอย่างจะถูกเก็บไว้กับตัวเรา ซึ่งเราอาจจะต้องใช้ในวันหนึ่ง” ฝ่ายคุณแม่กล่าวเสริมว่า “โชคดีที่แม่ได้เดินทางเยอะ และตั้งแต่สมัยปริ้นซ์ยังเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะในอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา แม่ก็มักจะให้เขาบินมาเจอ มาดูงาน ดูนิทรรศการ เขาจะได้อยู่ในแวดวงผู้ใหญ่ที่เก่งๆ ได้ฟังการพูดคุย และคนที่เราติดต่อธุรกิจด้วย ก็มักจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ มาแล้ว ก็เป็นโชคที่ไม่ต้องไปเรียนถูกเรียนผิดแบบคนอื่น ได้เรียนในแบบที่ถูกต้องและเป็นของจริงด้วย”

ไม่เพียงเข้ากันได้เป็นอย่างดีในเรื่องงานทั้งสองแม่ลูกยังมีกิจกรรมความชอบที่เหมือนกันในหลายๆ ด้าน ทั้งการท่องเที่ยว ความหลงใหลในศิลปะ ชอบเข้าอาร์ตแกลเลอรี ดูงานสถาปัตยกรรม ดูปราสาทราชวัง ชอบธรรมชาติ และยังชอบช่วยเหลือผู้อื่นเหมือนกันอีกด้วย โดยต่างฝ่ายต่างทำในสิ่งที่ตนเองสนใจและถนัด คุณแม่จะเน้นไปที่การช่วยเหลือสังคมและช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่เจเนอเรชั่นใหม่อย่างวิทวัสเลือกจับงานด้านการศึกษา เพราะต้องการส่งเสริมให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความรู้และมีคุณภาพ

“ลูกทุกคนเป็นคนจิตใจดีและชอบดูแลช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าตัวเอง ไม่มีใครเห็นแก่ตัว ถ้าจะทำอะไร จะคิดถึงส่วนรวมก่อน ซึ่งแม่คิดแบบนี้ ลูกก็คิดแบบนี้ตาม เหมือนเป็นการโคลนนิ่งกันมา คิดว่าเป็นเพราะเราสอนลูกให้อยู่ในวิถีของพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังเล็กด้วย อย่างปริ้นซ์พอเขาอายุ 20 ปี เขาก็บินกลับมาบวชเองโดยไม่มีใครบอก เขาทำในสิ่งที่ควรจะทำ ปริ้นซ์เป็นคนที่มีความสามารถและมุ่งมั่น ไม่ทำอะไรหยิบโหย่ง เพราะถ้าเขาไม่สามารถทำธุรกิจให้เติบโตและต่อยอดไปได้ แม่เองคงเกษียณแบบไม่มีความสุข และคงไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการอย่างตอนนี้ได้ แม่เลิกเข้าออฟฟิศตอนอายุ 49 ปี ปล่อยให้เขาทำงานโดยเราคอยดูแลอยู่ห่างๆ เขาเรียนจบปริญญาโทตอนอายุ 21 ปี เพราะเรียนควบปริญญาตรีและโทพร้อมกัน ถือว่าตอนเรียนเขาทำได้ดีที่สุด ได้ทั้งทุนการศึกษา ได้ทั้งเกียรตินิยม” คุณแม่พูดถึงลูกชายด้วยน้ำเสียงชื่นชม ฝ่ายลูกชายจึงรีบแก้เขินว่า “ผมเป็นคนขี้เกียจครับ เลยพยายามเรียนให้จบเร็วที่สุด เพราะคิดว่าไปทำงานแล้วจะสนุกกว่า แต่ปรากฏว่าคิดผิดครับ (หัวเราะ) ผมประทับใจคุณแม่ในทุกๆ อย่างครับ คุณแม่เลี้ยงลูกมาอย่างดีที่สุด คุณแม่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องธุรกิจและในการเลี้ยงลูก ส่งเสียให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือดีๆ และสอนให้เป็นคนดี”

“แม่เป็นนักสู้นะคะ ไม่ค่อยท้อกับเรื่องอะไรง่ายๆ และถ้าลูกบอกว่าเราเลี้ยงมาแบบดีที่สุดแล้ว เราก็โอเค” คุณแม่ผู้เปรียบเสมือนลมใต้ปีกของนักธุรกิจหนุ่มมากความสามารถ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มแห่งความปลาบปลื้ม

ลูกๆ ทุกคนเป็นคนจิตใจดีและชอบดูแลช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าตัวเอง ไม่มีใครเห็นแก่ตัว ถ้าจะทำอะไร จะคิดถึงส่วนรวมก่อน ซึ่งแม่คิดแบบนี้ ลูกก็คิดแบบนี้ตาม

ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์

“ลูกคือที่หนึ่งเสมอ”

ด้วยลุคคล่องแคล่ว บวกกับน้ำเสียงที่ฉะฉาน ยามเฉิดฉายอยู่บนเวทีท่ามกลางสปอตไลท์ในฐานะพิธีกรงานอีเวนต์มือหนึ่งของเมืองไทย ทำให้ “หนิง–ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์” ดูโดดเด่นมีออร่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เบื้องหลังเวทีเมื่อหนิงต้องสวมบทคุณแม่ของลูกสาววัยทีน “น้องเบลล่า–กุญช์จารี จีระแพทย์” อาจทำให้หลายคนนึกภาพตามไม่ออกเหมือนกันว่า เธอเป็นคุณแม่แบบไหน และมีวิธีการเลี้ยงลูกอย่างไร โดยที่งานหลักไม่สะดุดแถมลูกยังเป็นที่หนึ่งได้เสมอ

เพื่อเผยถึงอีกมุมอันอบอุ่นของสาวเก่งที่หลายคนอาจไม่เคยได้สัมผัส ครั้งนี้หนิงพร้อมวางไมค์สลับบทบาทจากพิธีกรผู้ดำเนินรายการมาเป็นแขกคนสำคัญ ตอบทุกคำถามที่สงสัยให้หายข้องใจ

“หนิงเป็นคุณแม่เพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ ทุกอย่างรู้หมด แต่บางเรื่องรู้แต่ทฤษฎี ก็ใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง เด็กแต่ละคนมีธรรมชาติที่ต่างกัน หนิงดูแลตัวเองดีมาก ทำทุกอย่างที่คิดว่าดี แต่สุดท้ายลูกเกิดมาเป็นโคลิค (อาการร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่สามารถกล่อมให้หยุดได้ มักเกิดกับทารกที่มีอายุราว 2-4 สัปดาห์) ทำเอาหนิงเป็น Baby Blue (ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด) ไปเกือบ 2 เดือนเหมือนกัน ตอนที่คลอดเบลล่าได้ 1 เดือน หนิงน้ำหนักลงไป 15 กิโลกรัม หนิงคิดว่าการเลี้ยงลูกจะยึดตำราอย่างเดียวไม่ได้ การเลี้ยงลูกต้องอาศัยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เชื่อไหมว่าตั้งแต่คลอด หนิงแทบไม่ได้หยิบตำรามาอ่านอีกเลย จากแต่ก่อนเป็นคนที่ทำอะไรทุกอย่างต้องเป๊ะ พอมีลูกก็ต้องบอกตัวเองว่า บางครั้งหย่อนบ้างก็ได้”

นอกจากจะต้องรับมือกับโลกใบใหม่ที่ไม่เคยสัมผัส ไม่มีตำราสำเร็จรูป ต้องอาศัยการเรียนรู้ในทุกวัน ด้วยความเป็นคนไฮเปอร์ พอชีวิตต้องแตะเบรกช้าลง ก็ทำให้คุณแม่หนิงต้องปรับตัวเองมากเหมือนกัน “ช่วงที่คลอดใหม่ๆ แล้วต้องอยู่บ้านทุกวัน แรกๆ ปรับตัวไม่ได้ จนผ่านไป 3 เดือนทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ชีวิตกลับมามีความสุขอีกครั้งไปไหนก็พาลูกไปด้วย ไปทำงานก็พาไป เพราะหนิงตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้ามีลูกจะเลี้ยงลูกเองหนิงเชื่อว่านี่เป็นความฝันของคุณแม่ทุกคนนะที่ไม่อยากเห็นลูกเราไปติดคนอื่น หนิงเลือกเลี้ยงเอง ถึงจะเหนื่อยและเครียด แต่สิ่งที่ได้มาคือความสุข ความใกล้ชิด และความผูกพัน”

เห็นเป็นคุณแม่ร่างเล็กแบบนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าขวบแรกของเบลล่าเติบโตมาด้วยน้ำนมจากอกแม่ “หนิงตั้งใจไว้แน่วแน่แต่แรกเช่นกันว่าจะให้นมลูกเอง ลูกดูดนมจากอกหนิง 1 ปีเต็ม เพราะเขาไม่ยอมดูดนมจากขวด เราเองก็กระเตงลูกไปทุกที่ ทุกวันนี้เราเลยผูกพันกันมาก ถึงลูกจะจำโมเมนต์นั้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยความรู้สึกใกล้ชิดที่เขาได้สัมผัส การพาลูกไปไหนมาไหน ก็ฝึกให้เขาเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คุณหมอบอกนะคะ และหนิงก็คิดว่าจริง เบลล่าเป็นเด็กอัธยาศัยดี อารมณ์ดี”

หนิงตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้ามีลูกจะเลี้ยงลูกเอง หนิงเชื่อว่านี่เป็นความฝันของคุณแม่ทุกคนนะ ที่ไม่อยากเห็นลูกเราไปติดคนอื่น หนิงเลือกเลี้ยงเอง ถึงจะเหนื่อยและเครียด แต่สิ่งที่ได้มาคือความสุข

อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกโตขึ้น หนิงเริ่มมีพี่เลี้ยงเข้ามาเป็นผู้ช่วย แต่หน้าที่ในการรับ-ส่งเบลล่าและพาลูกเข้านอน ยังเป็นภารกิจหลักที่เธอไม่เคยละทิ้ง “ส่วนใหญ่หนิงจะเป็นคนไปรับไปส่งลูกเอง และพาเขาเข้านอนด้วยกัน อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน จนวันนี้เขาอ่านเองได้ พูดง่ายๆ ว่า 10 ปีแรกของลูก ถ้ามีอะไรที่คุณแม่อย่างเราควรทำ หนิงก็ทำหมด หนิงเลี้ยงลูกแบบไม่ตี ใช้เหตุผลคุยกันแต่เวลาดุก็ต้องจริงจัง ให้ได้ผล ไม่อย่างนั้นคุมลูกไม่ได้ ถ้าดุคือลูกต้องรู้ว่าตามนั้น ไม่อย่างนั้นลูกจะไม่กลัว หนิงคิดว่าแต่ละบ้านต้องมีใครสักคนที่สามารถคุมเด็กได้ ไม่อย่างนั้นเด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าแสดงพฤติกรรมบางอย่าง แล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ อย่างที่เราเห็นเด็กบางคนร้องไห้งอแงเวลาอยากได้ของเล่น เพราะถ้าเขาร้องแล้วได้ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าอยากได้อะไรให้ทำแบบนี้ แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ เขาก็จะเรียนรู้อีกแบบเหมือนกันว่าทำแบบนี้ก็ไม่ได้ของที่ต้องการอยู่ดี”

คุณแม่คนเก่งยังบอกเล่าอย่างออกรสต่อว่า “เวลาเบลล่าทำไม่ถูก หนิงจะดุ และอธิบายให้ฟังถ้าบางครั้งลูกยังหงุดหงิด งอแง บางทีก็ต้องปล่อยให้ร้องไห้ไปให้พอ หลังจากนั้นค่อยมาสอนหรืออธิบายให้เขาเข้าใจ ดีกว่ามาพูดกันตอนที่เขายังโกรธหรือหงุดหงิด ส่วนใหญ่หนิงจะรับหน้าที่ดูแลลูกเป็นหลัก เพราะพี่โบ๊ต (จามร จีระแพทย์) ทำงานออฟฟิศ เสาร์-อาทิตย์ถึงจะมีเวลาได้อยู่กับลูกเต็มที่ เพราะฉะนั้นพี่โบ๊ตจะเป็นฝ่ายให้การสนับสนุนทางจิตใจ เล่นกับลูก แต่เราก็ต้องคุยกันนอกรอบนะคะว่าเราเลี้ยงลูกแบบไม่ตี เพราะฉะนั้นในบ้านเราจะไม่มีคำว่าเดี๋ยวตีนะ เพราะถ้าจะดุลูก เราจะดุด้วยเหตุผล”

อีกหนึ่งนิยามในการเลี้ยงลูกสไตล์แม่หนิงคือ “เลี้ยงลูกโดยอาศัยพลังแห่งความสุขเป็นตัวขับเคลื่อน” เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกหยิบยื่นอะไรให้กับลูก เธอจะพิจารณาจากความสุขของลูกเป็นหลัก “หนิงเลือกให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะไม่อยากให้เขาต้องเหนื่อยกับชีวิตคนเมืองที่ต้องติดอยู่บนท้องถนน โชคดีว่าในซอยบ้านหนิงมีโรงเรียนนานาชาติ หนิงเลยให้เรียนที่นี่ ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีถึงบ้าน ลูกมีความสุข มีเพื่อนมาเล่นที่บ้าน หนิงไม่ใช่คุณแม่ที่เน้นเรื่องวิชาการ แต่ให้ลูกเรียนรู้ผ่านการเล่นและกิจกรรมนอกห้องเรียนหนิงให้ลูกเรียนเปียโนและเรียนเต้นตั้งแต่เด็ก แต่เรียนแล้วหนิงจะคอยถามเสมอว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องเรียน หนิงไม่บังคับ แต่ถ้าลูกชอบ หนิงจะสนับสนุนเต็มที่ อย่างการเต้นแจซและบัลเลต์ หนิงให้เรียนตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเขาอายุ 7 ขวบ ก็เริ่มไปประกวดเต้น ได้รางวัลทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ”

ล่าสุด เบลล่าเพิ่งไปคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันแจซประเภทเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี คว้ารางวัลชมเชยคลาสสิกบัลเลต์ รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี และได้รับรางวัลชมเชยแจซดูโอ รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี จากการแข่งขันเต้นในรายการ Perth Dance Festival 2016 ซึ่งเป็นรางวัลที่ทำให้คุณแม่อดภาคภูมิใจในลูกสาวตัวน้อยไม่ได้

“ทุกครั้งที่เบลล่าไปแข่ง หนิงจะเป็นคนแต่งหน้าทำผมและแต่งตัวให้ลูก ไปเชียร์และให้กำลังใจเขาเสมอ ยอมรับว่าเวลาที่ลูกแพ้แล้วร้องไห้ ก็สงสารลูก แต่หนิงคิดว่าการเต้นเป็นทักษะที่สอนลูกหลายอย่าง ทำให้เขาไม่หมกมุ่นกับเทคโนโลยี เพราะมีกิจกรรมอื่นที่ต้องทำ การเต้นมีทั้งแบบเดี่ยวและเต้นเป็นทีม ซึ่งถือเป็นการฝึกวินัย ความสามัคคี แพ้ชนะไม่สำคัญรางวัลไม่สำคัญเท่ากับการที่ลูกได้พัฒนา หนิงว่าการแพ้หรือชนะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกได้เรียนรู้จากความผิดพลาด หนิงคิดว่าการยอมรับว่าแพ้ถือเป็นการชนะใจตัวเอง ถ้าวันนี้ลูกรู้จักแพ้และชนะ ในอนาคตถ้าเขาต้องเจอกับความผิดหวัง อกหักเขาจะอยู่กับความผิดหวังนั้นได้ เพราะทุกเกมมีทั้งแพ้และชนะ”

หนิงยอมรับว่า เธออาจโชคดีที่ค้นพบสิ่งที่ลูกชอบและมีแพชชั่น เพื่อส่งเสริมลูกไปให้สุดทางได้ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่รู้ ไม่จำเป็นต้องกดดัน ค่อยๆ สังเกตว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกทำแล้วมีความสุขจึงค่อยส่งเสริมสิ่งนั้น

การมีลูกทำให้หนิงหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้นเพราะไม่อยากเป็นภาระให้ลูก และอยากอยู่กับเขาไปนานๆ สำหรับการแบ่งเวลาให้ทั้งงานและครอบครัว คุณแม่คิวทองเปิดเผยว่า “ถึงลูกจะมาเป็นที่หนึ่งแต่บางครั้งเราก็ต้องให้เวลากับตัวเองด้วย เวลาที่หนิงรู้สึกว่าได้อยู่กับตัวเองมากที่สุด คือตอนที่ทำงานพิธีกร เพราะเวลาอยู่บนเวทีเป็นช่วงที่รู้สึกว่าได้อยู่กับตัวเอง โฟกัสกับงานของเราเท่านั้น สำหรับหนิงนี่คือช่วงเวลาที่รู้สึกว่าได้พักผ่อนจริงๆ” หนิงกล่าวปิดท้าย

หนิงให้ลูกเรียนเปียโนและเรียนเต้นตั้งแต่เด็ก แต่เรียนแล้วหนิงจะคอยถามเสมอว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องเรียน หนิงไม่บังคับ แต่ถ้าลูกชอบ หนิงจะสนับสนุนเต็มที่

อัจฉรา จึงเจริญสุขยิ่ง

“คุณแม่นางเอกร้อยล้าน”

เพราะไม่เคยให้สัมภาษณ์ออกสื่อไหนมาก่อนจึงทำให้นัดหมายวันนี้ไม่ได้มีแต่ “ออกแบบ–ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง” นางแบบดาวรุ่งที่มีลุคหมวยอินเตอร์และมาดเท่เป็นเอกลักษณ์ ก่อนก้าวสู่บัลลังก์นางเอกร้อยล้านจากภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่ตื่นเต้นไม่น้อยกับการถ่ายแบบกับนิตยสาร Power “คุณแม่อ้อย–อัจฉรา จึงเจริญสุขยิ่ง” ที่เดินทางมาให้กำลังใจลูกสาวถึงสตูดิโอ ก็นั่งรถมาด้วยใจระทึก แถมยังออกตัวก่อนจะกดบันทึกเสียงเพื่อเป็นการย้ำอีกครั้งว่า “แม่ไม่เคยออกสื่อมาก่อนนะคะ” งานนี้ออกแบบเลยทำหน้าที่ลูกสาวคนดีมานั่งให้กำลังใจคุณแม่อยู่ข้างๆ ก่อนที่จะเจอคุณแม่เล่า (เผา) ถึงวีรกรรมวัยเด็กของลูกสาวคนเล็กที่เฮี้ยวไม่เบา

“แม่มีลูก 3 คน คนโตเป็นลูกสาวชื่อ ออมสิน คนกลางเป็นลูกชายชื่อ อนึ่ง ส่วนคนเล็กคือ ออกแบบที่ตั้งชื่อนี้เพราะวันเกิดของออกแบบตรงกับวันนักประดิษฐ์พอดี และคุณพ่อเขาเป็นวิศวกรโยธา ทำงานเขียนแบบมาทั้งชีวิต เลยคิดว่าให้ชื่อนี้ดีกว่า เหมือนคนโตชื่อ ออมสิน เพราะว่าตอนท้อง แม่ถูกสลากออมสิน” คุณแม่อ้อยบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของครอบครัวตัวอ. อย่างออกรส เพราะพอนึกย้อนไปแล้วคุณพ่อก็ชื่อ อ้วน คุณแม่ก็ชื่อ อ้อย เมื่อเจอคุณแม่เฉลยแบบนี้ ออกแบบที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ เลยอดแซวไม่ได้ว่า เปิดหมดแบบนี้เจอเพื่อนล้อชื่อพ่อแม่แน่เลย แต่ดูเหมือนคำประท้วงของออกแบบจะไม่เป็นผล คุณแม่อ้อยเล่าต่อว่า “ออกแบบเป็นลูกคนเล็กติดเอาแต่ใจให้พี่ๆ โอ๋ แถมชอบรังแกคนอื่น ทำให้บ้านครึกครื้น ตอนเด็กขี้หวงของ โดยเฉพาะของกินเสียดายแม่ไม่ได้ติดรูปมาด้วย เป็นรูปออกแบบตอนเด็ก ที่เขาหลับไปแล้วยังมีข้าวโพดคาอยู่ที่ปาก”

ส่วนคนเล็กคือ ออกแบบ ที่ตั้งชื่อนี้เพราะวันเกิดของออกแบบตรงกับวันนักประดิษฐ์พอดี และคุณพ่อเขาเป็นวิศวกรโยธา ทำงานเขียนแบบมาทั้งชีวิต เลยคิดว่าให้ชื่อนี้ดีกว่า

ทุกวันนี้ก็ยังห่วงเขา เวลาเขาไปทำงาน ถ้ายังไม่กลับบ้าน แม่ก็นอนไม่หลับ ถ้าเขาไปต่างประเทศ ก็จะคอยไลน์หาแม่ตลอดว่าเขาไปไหนและทำอะไรอยู่

แม่อ้อยเล่าไปขำไป ก่อนเผยถึงสไตล์การเลี้ยงลูกที่เธอให้คำจำกัดความว่า เลี้ยงคนเดียว แต่ไม่ได้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว “เราเป็นครอบครัวข้าราชการ ส่วนใหญ่
คุณพ่อต้องประจำการอยู่ต่างจังหวัด หน้าที่หลักในการเลี้ยงลูกเลยกลายเป็นของแม่ ตอนมีลูกคนแรกก็จ้างพี่เลี้ยงนะ แต่โดนพี่เลี้ยงยกเค้าเอาของไปทั้งบ้าน แล้วทิ้งออมสินไว้ จากวันนั้นก็เลยไม่กล้าจ้างพี่เลี้ยงอีกเลย”

ตั้งแต่ตั้งท้องลูกคนแรก แม่อ้อยอาศัยคู่มือเลี้ยงลูกของอาจารย์ชนิกา ตู้จินดา โดยถือคติในการเลี้ยงลูกทั้งสามว่า ต้องเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด “ในจำนวนลูกทั้งหมด ลูกชายเลี้ยงยากที่สุด ส่วนออกแบบเลี้ยงไม่ยาก แต่เราก็ยังโชคดีที่พี่ชายของคุณพ่อออกแบบเป็นสูตินรีแพทย์ และพี่สะใภ้เป็นหมอเด็ก ฉะนั้นเวลามีอะไรก็โทรไปปรึกษาได้ หลายคนสงสัยว่าแม่เลี้ยงลูกอย่างไร ถึงสูงเป็นนางแบบ เพราะแม่ให้ดื่มนม นมจิตรลดาของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันที่จริงแม่เป็นคนไม่ดื่มนม แต่ตอนท้องก็ต้องดื่ม จนพอคลอดออกมา ก็บังคับให้ลูกๆ ดื่มนม แม่เป็นคนดุนะคะ” ถึงตรงนี้ ออกแบบที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ ถือโอกาสเสริมว่าดุมากค่ะ “แม่จะเน้นเรื่องโภชนาการของลูกมากต้นหอม ผักชี มะระ แม่จะพยายามนำมาปรุงหรือหาวิธีให้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารให้ลูกๆ รับประทาน”

สำหรับวิธีรับมือลูกๆ ซึ่งมีวัยไล่เลี่ยกัน สมัยที่ลูกๆ อยู่ในวัยซน คุณแม่อ้อยเผยว่า อาวุธคู่ใจที่ใช้คือก้านมะยม ซึ่งเป็นผลผลิตจากต้นมะยมหน้าบ้านที่ลูกๆ มักแอบไปเด็ดก้านทิ้งอยู่เป็นประจำ

“กฎของบ้านเราคือ ทำผิดโดนตีตามอายุ ส่วนใหญ่ออกแบบจะซนตามพี่ชาย มีครั้งหนึ่ง 3 พี่น้องแอบไปเล่นน้ำที่คลองท้ายหมู่บ้าน มารู้จากเพื่อนบ้านเพราะมีเด็กที่ไปเล่นด้วยเกือบจมน้ำ โชคดีได้ผู้ใหญ่ลงไปช่วยไว้ทัน วันนั้นแม่โกรธมาก แต่พอจะลงโทษเห็นลูกๆ มอมแมม เลยให้ไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อน ที่ไหนได้ทั้งสามคนแสบมาก ถือโอกาสไปแอบเอาหนังสือพิมพ์มาซ่อนไว้ที่ก้น แม่ตีไปก็ไม่รู้ เขาก็ทำเจ็บๆ ดีว่าสไตล์การตีของแม่จะเป็นการฟาดก้นแถมน่อง ก็เลยโดนน่องกันไปคนละที สุดท้ายมาเจอคุณพ่อจับได้ทีหลังว่าซ่อนหนังสือพิมพ์ไว้ เพราะใส่ไว้หนาเกินไป” คุณแม่อ้อยเล่าไปขำไปอีกครั้ง

มาถึงวันนี้ วันที่ลูกๆ เติบใหญ่ ลูกสาวคนเล็กคว้าปริญญามาครองได้สมใจ แถมยังมีอาชีพการงานที่ก้าวหน้า ในฐานะคนเป็นแม่ก็อดภาคภูมิใจไม่ได้

“ทุกวันนี้ก็ยังห่วงเขา เวลาเขาไปทำงาน ถ้ายังไม่กลับบ้าน แม่ก็นอนไม่หลับ ถ้าเขาไปต่างประเทศ ก็จะคอยไลน์หาแม่ตลอดว่าเขาไปไหนและทำอะไรอยู่ แม่ยังจำวันที่ไปดูหนัง “ฉลาดเกมส์โกง” กับคุณพ่อได้ยังบอกกับคุณพ่อเลยว่า ไม่คิดว่าลูกเราจะมาถึงวันนี้ตั้งแต่เขาทำงานวันแรกจนถึงวันนี้ เวลาเขาได้เงินมาจะมาฝากแม่ไว้ ไม่เคยเอาไปใช้ แม่เองก็ช่วยเก็บไว้ให้ไม่เคยเอาเงินเขามาใช้ เพราะแม่คิดเสมอว่าหน้าที่ของแม่คือเลี้ยงดูส่งเสียลูกจนเรียนจบ ซึ่งตอนนี้เขาก็เรียนจบเรียบร้อยแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม่อ้อยย้ำว่าต่อให้ลูกเติบโตแค่ไหน ก็ยังเป็นเด็กในสายตาพ่อแม่เสมอ “สำหรับออกแบบ แม่ไม่ค่อยห่วง เขาค่อนข้างมีความรับผิดชอบ แม่อยากให้เขาได้ทำในสิ่งที่มีความสุข และคอยเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ เวลามีปัญหา เจอข่าวแย่ๆ ออกแบบจะถามแม่ก่อนว่าแม่เชื่อไหม แม่ก็จะบอกว่าแม่เชื่อใจลูก สิ่งที่สำคัญคือ เวลามีอะไร ขอให้ลูกพูดความจริง”

คุณแม่อ้อยกล่าวปิดท้ายก่อนเผยถึงความรู้สึกของการเป็นคุณแม่นางเอกร้อยล้านว่า แรกๆ รู้สึกไม่คุ้นเคยที่ไปไหนก็มีคนมอง “แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว เวลามีแฟนๆ มาทัก หรือขอถ่ายรูป แม่จะถอยออกมาด้านหลัง

พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล

“ชื่นใจเพราะมีเธอ”

หลายคนรู้จัก “ตุ๊กตา–พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล” ผ่านผลงานเขียนที่แฝงไปด้วยเรื่องราวอันแสนอบอุ่นในทุกตัวอักษร บางคนรู้จักเธอในฐานะผู้กุมหัวใจของนักร้องหนุ่มเจ้าของเสียงอบอุ่น “บอย–ตรัยภูมิรัตน” ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยรู้จักเธอผ่านความน่ารักและสดใสราวกับโลกทั้งใบมีแต่ความสุขของ “เด็กหญิงชื่นใจ ภูมิรัตน” ลูกสาวสุดรักสุดหวง

ไม่สำคัญว่าคุณจะรู้จักเธอผ่านบทบาทไหน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ ทุกๆ เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คือส่วนผสมที่หลอมรวมให้เธอเป็นเธอในวันนี้ เพื่อพาทุกคนเข้าไปรู้จักกับครอบครัวเล็กๆ แต่ดัชนีความสุขและความอบอุ่นเต็มเปี่ยม คุณแม่คนสวยพร้อมแล้วที่จะพาขึ้นพรมวิเศษไปท่องราตรีดื่มด่ำกับเรื่องราวชีวิตที่ไม่มีวันเหมือนเดิมของคนเป็นแม่

เมื่อต้นรักที่บ่มเพาะมานานถึง 9 ปีสุกงอมบอยและตุ๊กตาตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตคู่ชูชื่น ทั้งคู่ไม่ใช่คู่รักที่วางแผนตีกรอบชีวิตคู่ว่าต้องมีลูกเมื่อพร้อมแต่ปล่อยให้ทุกเรื่องเป็นไปตามธรรมชาติและโชคชะตาจะนำพา จากผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันและอนาคตใกล้ๆ ที่จินตนาการตามได้ไม่ยาก พอเริ่มเป็นคุณแม่ทำให้มุมมองในการใช้ชีวิตหลายอย่างของเธอเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว

“การเป็นคุณแม่ เป็นโลกอีกใบที่เรานึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าเป็นอย่างไร เลยใช้การอ่านเพื่อจินตนาการ เพราะตุ๊กตาเป็นคนที่ไม่ว่าทำอะไรต้องมีภาพในหัวก่อน แล้วค่อยมาปรับหาวิธีว่าตรงไหนที่เป็นตัวเรา ตอนนั้นอ่านหนังสือเยอะมากจริงๆ อ่านมากกว่าตอนสอบอีก (หัวเราะ) ไม่ว่าอะไรก็รู้หมด สัปดาห์นี้ลูกจะมีพัฒนาการอย่างไรตอนนั้นตุ๊กตาก็คงเหมือนคุณแม่มือใหม่ทั่วไปที่รู้ว่าอะไรดีก็ทำหมด ซึ่งพอมามองย้อนกลับไป จริงๆ สิ่งที่ทำเพื่อลูก สุดท้ายแล้วก็คือสิ่งที่ดีกับตัวเราเอง เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยทำ เพราะอาจจะขาดแรงบันดาลใจบางอย่าง แต่พอคิดว่าทำเพื่อลูกก็เลยทำ”

ตุ๊กตายอมรับว่า จากผู้หญิงที่สนุกกับการทำงานอย่างเต็มที่ ชอบดื่มน้ำอัดลม ไม่ออกกำลังกาย แต่เมื่อตั้งท้องแล้วรู้ว่าการออกกำลังกายจะดีกับลูกในท้อง เธอเลือกไปออกกำลังกายในน้ำ รวมทั้งเล่นโยคะ กิจกรรมซึ่งเธอออกปากว่า ถ้าไม่ใช่เพื่อลูกไม่มีทางทำแน่นอน “ตุ๊กตาไม่ใช่คนชอบออกกำลังเลย แถมยังชอบดื่มน้ำอัดลมมาก แต่ตอนตั้งท้อง ก็ต้องปรับพฤติกรรม จนพอคลอดแล้ว หลายๆ อย่างที่ดีก็ยังทำมาจนทุกวันนี้ เช่น น้ำอัดลม ตอนหลังคลอดก็กลับมาดื่ม แต่ตอนนี้เลิกแล้วค่ะ”

ตุ๊กตาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงใสๆ ก่อนเฉลยถึงที่มาของชื่อ “ชื่นใจ” ชื่อเรียกง่าย เข้าใจได้แบบไม่ต้องถอดความ “ความจริงตั้งใจจะใช้อีกชื่อแต่เพราะลูกเกิดวันศุกร์ แล้วชื่อที่คิดไว้มีตัวอักษรที่ไม่เป็นมงคล พอดีเรามีชื่อ “ชื่นใจ” เก็บไว้ในใจอยู่แล้ว เลยเลือกใช้ชื่อนี้เป็นทั้งชื่อจริงและชื่อเล่นของลูกค่ะ”

พอมามองย้อนกลับไป จริงๆ สิ่งที่ทำเพื่อลูก สุดท้ายแล้วก็คือสิ่งที่ดีกับตัวเราเอง เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยทำ เพราะอาจจะขาดแรงบันดาลใจบางอย่าง แต่พอคิดว่าทำเพื่อลูก ก็เลยทำ

นับตั้งแต่สวมบทบาทคุณแม่ ตุ๊กตายอมรับว่าบทบาทนี้ค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตของตุ๊กตาคนเดิมให้กลายเป็นคนใหม่ตลอดกาล “แต่ก่อนเป็นคนไม่วางแผนหรือคิดไกลๆ พอมีลูก ทำให้มุมมองบางอย่างเริ่มเปลี่ยน จะใช้ชีวิตสุดขั้วเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ เพราะเป็นห่วงลูก ตุ๊กตาว่าการมีลูกค่อยๆ เปลี่ยนตัวเราทีละนิด แต่เป็นการเปลี่ยนไปแบบตลอดกาล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในที่นี้เป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีนะคะ อย่างที่บอกว่าเราหันมาสนใจตัวเองมากขึ้น วางแผนชีวิตอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยมีลูกเป็นโจทย์ที่ทำให้เราอยากทำสิ่งดีๆ เพราะเราคือต้นแบบของเขา ตุ๊กตาเชื่อเสมอว่าการสอนลูกต้องสอนแบบ Being than Doing คือเป็นให้เห็น”

เทคนิคในการเลี้ยงลูกที่ตุ๊กตาใช้คือ ไม่ตีแต่ดุ ดุในเรื่องที่ต้องดุและเห็นว่าไม่สมควร เช่นเรื่องมารยาท และระเบียบวินัย “ถามว่าเป็นคุณแม่ที่ดุหรือเปล่า ก็ดุนะ ชื่นใจจะจับความรู้สึกได้ว่าแค่ไหนที่แม่ไม่โอเคแล้ว คือต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เขาจะมีระดับวัดความท้าทายของเขาเป็นวิธีต่อรอง เราก็ต้องเรียนรู้กับเขา เรื่องบางเรื่องอย่างระเบียบวินัย เราต้องเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันบางเรื่องเราก็ต้องเว้นที่ว่างไว้ให้เขาได้เรียนรู้และต่อรอง เพราะถ้าลูกทำตามที่พ่อแม่บอกทุกเรื่องก็น่าเป็นห่วงนะคะ (หัวเราะ) เพราะเราห่วงว่าเมื่อต้องไปใช้ชีวิตในโลกกว้างแล้ว เขาต้องยอมคนอื่นทุกเรื่องหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่อง เช่น การเลือกเสื้อผ้า เราจะให้อิสระ ให้อำนาจในการต่อรองกับเขา”

นอกจากครอบครัวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้แล้ว การเดินทางไปสัมผัสโลกกว้าง คืออีกหนึ่งห้องเรียนห้องใหญ่ของชื่นใจ จนได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งครอบครัวนักเดินทางที่รักในการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ “ชื่นใจเริ่มเดินทางครั้งแรกตั้งแต่อายุ 3 เดือน เอาจริงๆ ช่วงก่อน 3 ขวบ เขายังไม่รู้เรื่องหรอกว่า เขาไปเที่ยวที่ไหน ความสนุกของเด็กในวัยนั้นคือ การได้เปลี่ยนสถานที่ แต่ในฐานะพ่อแม่ เราก็อยากพาเขาไป ไปเห็นความตื่นตาตื่นใจ แม้จะยังไม่ได้เป็นความทรงจำ ก็ไม่เป็นไร จนพอตอนที่ชื่นใจ 3 ขวบแล้วเขาเริ่มเรียนรู้ว่าไปเจออะไรมาบ้าง และได้เรียนรู้ความหมายของคำว่าคิดถึง พอเริ่มโตเขาเริ่มคิดถึงบ้านคิดถึงของเล่น ซึ่งตุ๊กตาว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ อย่างน้อยเขาก็ได้เรียนรู้ความรู้สึกนี้ด้วยตัวเองว่ารสชาติเป็นอย่างไร ตุ๊กตาเชื่อว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านประสบการณ์ เหมือนเราสอนคำศัพท์เกี่ยวกับผักผลไม้ผ่านการ์ดคำศัพท์ เขาก็เรียนรู้ประมาณหนึ่ง แต่ก็ไม่สู้พาเขาไปตลาด ไปเห็นสีส้มของแครอตว่าส้มแบบไหน เท็กซ์เจอร์เป็นอย่างไร”

คุณแม่เจ้าของไอเดียคิดบวกยังเชื่อว่า ทุกคนมีคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง สำหรับเด็ก บ้านคืออาณาจักรส่วนตัวที่เป็นคอมฟอร์ตโซน จะนั่ง ยืน หรือนอนตรงไหนก็ได้ แต่คนเราไม่สามารถอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเองตลอดเวลาได้ ต้องออกไปหาประสบการณ์ เจอกับผู้คนและสถานที่ใหม่ๆ โดยที่ยังมีคอมฟอร์ตโซนที่พร้อมรองรับในวันที่อ่อนล้า

อย่างไรก็ตาม ถึงการมีลูกจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต แต่ตุ๊กตาไม่เคยให้คำว่า “แม่” ลิดรอนความเป็นตัวเอง “ชีวิตเปลี่ยนไปแน่นอนเมื่อมีคำนำหน้าว่าแม่ แต่ตุ๊กตาจะไม่ให้มาลิดรอนความเป็นตัวเอง เรายังมีสิ่งที่อยากทำ เพราะฉะนั้นเราจะไม่วางความเป็นตัวเรา แต่เราจะทำในสิ่งที่เป็นแพชชั่นไปพร้อมกับการเป็นแม่ ตุ๊กตารักในการเขียนหนังสือ ทุกวันนี้ก็ยังเขียน บทบาทอาจจะไม่ได้เป็นบรรณาธิการบริหารเหมือนเมื่อก่อน แต่การได้ทำในสิ่งที่รักเหมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้หัวใจชุ่มชื่น ตุ๊กตาชอบเขียนหนังสือท่องเที่ยว ทุกวันนี้ก็ยังเขียนอยู่แต่เปลี่ยนแนวมาเขียนหนังสือท่องเที่ยวเชิงครอบครัว ซึ่งเราไม่ได้ทิ้งตัวตน แต่มีเรื่องราวเพิ่มขึ้นมาถ่ายทอด เหมือนถนนเส้นเดิม แต่ทำทางให้กว้างขึ้นเท่านั้นเอง” ตุ๊กตากล่าวปิดท้าย

เรื่องบางเรื่องอย่างระเบียบวินัย เราต้องเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันบางเรื่องเราก็ต้องเว้นที่ว่างไว้ให้เขาได้เรียนรู้และต่อรอง เพราะถ้าลูกทำตามที่พ่อแม่บอกทุกเรื่องก็น่าเป็นห่วงนะคะ