Exclusive InterviewHappeningHappening 130Number 130

Exclusive Interview:
Explore The World Through Local Food

By 9 October 2019 No Comments

“การเที่ยวผ่านอาหารทำให้เข้าใจแต่ละสถานที่ยิ่งขึ้น เข้าใจไปถึงประวัติศาสตร์ชาติบ้านเมืองของเขา
รวมถึงเข้าใจผู้คนในพื้นที่นั้นๆ มากขึ้นด้วย” การ์ตูน–ณัฐธนัญ กุลระพีกร พิธีกรมากความสามารถ
จากรายการท่องเที่ยวชวนหิวอย่าง “Tasty Journey วัฒนธรรมยั่วน้ำลาย”
เปิดบทสนทนาถึงการเดินทางผ่านเส้นทางสายอาหาร
ที่ไม่ใช่แค่การทำงาน แต่ยังเพิ่มประสบการณ์หลายๆ ด้านให้เธอด้วย 

STORY: SURANGRAT KANBUBPHA

การ์ตูนเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการออกเดินทางเพื่อค้นหารสชาติที่แท้จริงของแต่ละประเทศแต่ละท้องถิ่นว่า โดยเนื้อแท้แล้วเธอไม่ใช่คนชอบเที่ยวเสียทีเดียว แต่สิ่งที่นำพาให้ต้องชีพจรลงเท้าเทียวไปเทียวมาในหลายประเทศทั่วโลกเหมือนเช่นทุกวันนี้คือความอยากรู้อยากเห็นและอยากเข้าใจถึงที่มาที่ไปในสิ่งที่เธอสนใจ กอปรกับเป็นคนชอบรับประทานอาหารมาตั้งแต่ไหนแต่ไร การทำหน้าที่เป็นผู้นำสารด้านอาหารการกินมาส่งต่อให้กับคนที่อยากรู้อยากเห็นในเรื่องเดียวกัน จึงเหมาะเจาะกับตัวเธอเป็นที่สุด

“ตอนเด็ก ตูนเคยเป็นพิธีกรและเป็นนักข่าวเด็กมาก่อน พอเรียนจบมาทำงาน พี่ๆ จึงให้โอกาสทำหน้าที่พิธีกรรายการท่องเที่ยวหลายรายการ จนมีคนเห็นว่าตูนชอบกิน และบอกว่าเวลาตูนกิน ไม่ว่าเมนูอะไรก็ดูน่ากินไปหมด ซึ่งก็อย่างที่เขาว่า ตูนชอบกินมาก และกินหมดทุกอย่าง มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่กิน คือสัตว์เลี้ยง อย่างหมา แมว กระต่าย ตูนเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย กินอะไรก็ได้ ผู้ใหญ่เลยให้โอกาสมาลองทำรายการวัฒนธรรมยั่วน้ำลายดู” 

การ์ตูนย้อนเรื่องราวแต่หนหลังเมื่อกว่า 4 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของรายการที่เหมือนจะกลายเป็นนามสกุลที่ 2 ของเธอไปแล้ว พร้อมกับเสริมว่าการได้มาเป็นส่วนหนึ่งของรายการนี้ คือโชคดีอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้เดินทางไปเรียนรู้โลกกว้าง ยังทำให้เธอได้รู้จักกับผู้คนแปลกหน้าที่กลายมาเป็นเพื่อนใหม่จากทั่วโลก ซึ่งยังคงติดต่อรับรู้สารทุกข์สุกดิบของกันและกันอยู่เสมอ จนราวกับว่าชีวิตส่วนตัวและงานของเธอผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว 

“การเดินทางทำให้ตูนได้เพื่อนเยอะมากๆ และที่สำคัญคือ ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ยิ่งทำงานไปเรื่อยๆ ตูนก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองนิสัยดีขึ้น คือปกติก็คิดว่าเราเป็นคนค่อนข้างมีจริยธรรมและศีลธรรมประมาณหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่พอมาทำรายการนี้ ได้เจอผู้คนเยอะ ก็ได้เปิดโลกทัศน์ ได้เห็นมุมมองใหม่ ทัศนคติใหม่ๆ ทำให้เราเปิดใจและให้อภัยคนง่ายขึ้น เหมือนกับว่าพอออกเดินทางจึงได้รู้ว่าตัวเราไม่ใช่ศูนย์กลางของอะไร จนตอนนี้ตูนแทบจะไม่มีความคิดแบบปัจเจกเลย ทุกครั้งที่ทำงาน ตูนจะทำตัวให้ไร้สัญชาติที่สุด ไม่ยึดติดว่าเรามาจากไหน ไม่เปรียบเทียบสิ่งที่พบเจอกับสิ่งที่เราคุ้นเคย ซึ่งนั่นทำให้ใจเราเข้าใจโลก เข้าใจตัวเองเหมือนได้รู้แจ้งบางอย่างจากการเดินทาง” สาวนักชิมถ่ายทอดถึงสิ่งที่ได้รับจากการท่องไปในโลกของอาหารที่เต็มไปด้วยรสชาติของชีวิตและประสบการณ์อันหลากหลาย และแน่นอนว่ารวมไปถึงการได้ลิ้มลองเมนูแปลกใหม่ที่เจ้าบ้านในแต่ละท้องถิ่นตั้งใจปรุงให้เธอได้ชิมโดยเฉพาะ

“เรื่องการชิมของแปลกเจอมาเยอะ แต่หากถามว่าเมนูอะไรแปลกที่สุดเท่าที่เคยกินมา ตูนยกให้เต่าบกที่ฟิลิปปินส์ ต้องยอมรับว่าตอนนั้นใจเราลังเลมากว่าจะตักเข้าปากดีไหม เพราะจริงๆ ไม่อยากกิน แต่ชนพื้นเมืองที่นั่นเขาตั้งใจทำมาเพื่อรับรองแขกอย่างเราเป็นของที่ดีที่สุดสำหรับเขาแล้ว และนั่นคือวิถีการกินอยู่ของเขา เรากลัวคนทำเสียใจ อีกอย่างเต่าตัวนั้นก็ตายเพราะเรา ไหนๆ ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เราเองก็ไม่ได้ตั้งธงว่าจะกินเป็นประจำนี่อาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตด้วยซ้ำ ตูนก็เลยตักชิมคำสองคำ เพื่อที่อย่างน้อยคนทำเองก็จะได้สบายใจว่าเราไม่ได้รังเกียจเขาด้วย” 

การ์ตูนเล่าถึงเมนูสุดแปลกที่เคยได้ลองชิมซึ่งหากถามถึงรสชาติ เธอบอกไม่ได้ว่าอร่อยหรือไม่อย่างไร เพราะทุกครั้งที่ถ่ายทำรายการ เธอจะไม่ยึดติดกับรสนิยมส่วนตัว และพยายามไม่คาดหวังถึงสิ่งที่จะต้องพบเจอ ฉะนั้นทุกรสชาติที่ผ่านมา
จึงไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับตัวเธอเท่าไรนัก ทว่าสิ่งที่เซอร์ไพรส์มากกว่ากลับเป็นการสื่อสารด้วยภาษาอาหาร ที่เมื่อผ่านประสบการณ์ด้านการกินมาอย่างโชกโชนในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว การ์ตูนก็ค้นพบว่า ภาษาอาหารของหลายสัญชาติบนโลกนี้มีจุดร่วมเดียวกัน

“ปกติตูนจะใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่หลังจากมาทำงานนี้ ตูนยังสื่อสารด้วยภาษาอาหารเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งภาษา อย่างตอนไปฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พออ่านข้อมูลแล้วตูนจะพอรู้ว่านี่คือข้าว เพราะมีคำที่ใกล้เคียงกับคำว่าข้าวอยู่หรืออย่างบางคำดูแล้วรู้เลยว่า ต้องเป็นเมนูที่ห่อด้วยใบตองแน่นอน แล้วยิ่งทำไปเรื่อยๆ ก็จะมีชุดคำศัพท์เกี่ยวกับรสชาติและอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งอร่อย เปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด ปิ้ง ย่าง ทอด ต้ม จนเวลาเดินทางไปประเทศต่างๆ บางทีจะมีคนถามว่าพูดภาษาบ้านเขาได้เหรอ เพราะเหมือนเรารู้ว่าแต่ละคำแปลว่าอะไร คือตูนจะสังเกตและเก็บเล็กผสมน้อย อย่างตอนไปกัมพูชา แล้วช่างภาพจะสั่งให้ปิ้งของตรงนั้นตรงนี้ ไกด์ก็บอกคนทำด้วยคำว่าอังอะไรสักอย่าง ทำให้ตูนนึกถึงคำว่าอังไฟของบ้านเราที่น่าจะมีความหมายเดียวกัน รู้อย่างนี้แล้วเราก็เก็บมาจัดเป็นชุดคำศัพท์ของเราเอง” หญิงสาวผู้ตกหลุมรักการกินเผยถึงความรู้ที่มาพร้อมกับความสนุกในการทำงาน ซึ่งทำให้เธอมีทักษะในการเอาตัวรอดเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแขนง 

เมื่อเอ่ยถามว่าจนถึงวันนี้ไปสัมผัสรสชาติและวัฒนธรรมอาหารมาแล้วกี่ประเทศ การ์ตูนส่ายหน้าตอบ “จำไม่ได้” เพราะไม่เคยนับเลยสักที แต่พอจะไล่เรียงได้ว่าประเทศในแถบเอเชียน่าจะไปมาจนเกือบครบแล้ว ยกเว้นเอเชียกลางที่ยังไม่ค่อยมีโอกาสได้ไป นอกจากนั้นก็มียุโรป อเมริกาเหนือและแอฟริกา ที่ไปมาแทบจะทั่วแล้วเช่นกัน ตอนนี้เหลือเขตอเมริกาใต้กับแคริบเบียนที่ยังรอโอกาสดีๆ อยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในบรรดาหลายประเทศที่ได้ไปเยือนมา มีอยู่ 2 แห่งที่เธอตกหลุมรักจนต้องวนเวียนไปหาแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก

“ประเทศที่ตูนไปมาแล้ว 17 ครั้งภายใน 2 ปี คือ ภูฏาน เริ่มจากการที่ไปทำงานก่อน แล้วชอบความน่ารักของผู้คน คนที่นั่นจริงใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น และมักจะพูดเสมอว่าเขาไม่โกหก เขาถือศีลห้า ซึ่งทุกคนที่เราเจอเป็นแบบนั้นจริงๆ อีกอย่างคือตูนชอบวิธีรับมือกับการท่องเที่ยวของเขา คือเขาเลือกคนเที่ยวโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณใครจะเข้าไปเยี่ยมเยือนต้องรับให้ได้ว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมวันละ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน (เป็นค่าบริการด้านต่างๆ เช่น ที่พัก อาหาร ไกด์ท้องถิ่น ฯลฯ) เพราะเขารักในสิ่งที่เป็นอยู่มาก ไม่ได้อยากให้คนเข้าไปเยอะแล้วเอาอะไรเข้าไปเปลี่ยนเขา ซึ่งนี่ทำให้ตูนเลือกที่จะไปเยือนภูฏานบ่อยๆ และทุกครั้งที่ไปก็จะไหว้พระขอพรว่าขอให้ได้กลับมาอีก นอกจากนี้ก็มีไอซ์แลนด์ที่ไปมา 5 ครั้งได้แล้ว แต่ไม่เคยไปทำงานเลย ไปเที่ยวเองล้วนๆ เริ่มตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ตูนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่กับแฟมิลี่ที่นั่น หลังจากนั้นถ้ามีเงินก็จะซื้อตั๋วเครื่องบินไปเองตลอด มีอยู่ช่วงหนึ่งเคยหยุดทำงาน 1 เดือน แล้วไปใช้ชีวิตที่โน่น ซื้อตั๋วรถเมล์แบบเหมา ออกไปถ่ายรูป ถ่ายวีดิโอทุกวัน ตูนมองว่าไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ดีงามมาก สวยแบบเหงาๆ มีความเหมือนยูโธเปียเล็กๆ คนน้อย อากาศดี ไม่น่าจะมีที่ไหนในโลกที่เป็นแบบนั้นแล้ว” การ์ตูนสาธยายถึงความดีงามของประเทศในฝัน ที่หากมีโอกาสเธอก็อยากจะไปเยือนอีกแบบไม่รู้เบื่อ

ถึงแม้จะผ่านการเดินทางมาแล้วมากมาย แต่พิธีกรมากความสามารถคนนี้ก็ยังคงเขินที่จะเรียกตัวเองว่า “นักเดินทาง” เพราะมองว่าตัวเธอยังสะสมประสบการณ์การเดินทางน้อยกว่าหลายคน หากจะให้จำกัดความ คำว่า “นักสำรวจ” น่าจะเหมาะกับคนที่ชอบไปฝังตัวค้นหารสชาติ เรียนรู้วิถีชีวิต และเข้าใจความเป็นอยู่ในแต่ละที่นานๆ แบบเธอมากกว่า 

“ตูนว่าการท่องเที่ยวแบบเข้าถึงและเข้าใจท้องถิ่นทำให้เราจำสถานที่นั้นได้นาน สังเกตไหมว่าคนที่เที่ยวแบบหลายๆ ประเทศพร้อมกันในทริปเดียว ความทรงจำของเขาจะเป็นข้อๆ ไปไม่ได้ครบถ้วน แต่สิ่งที่ตูนได้จากการเดินทางแบบนี้ คือความทรงจำที่ละเอียด ลึก จำได้แม้กระทั่งบทสนทนายาวๆ เพราะตูนอยู่กับแต่ละที่นาน ได้สัมผัสกับความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งหากเป็นไปได้ ตูนอยากให้ทุกคนลองเที่ยวผ่านอาหารดูบ้าง เอาอาหารเป็นที่ตั้ง แล้วให้อาหารพาเราไปท่องเที่ยวเมืองนั้นๆ ดู แล้วจะพบกับความแปลกใหม่ที่เหนือความคาดหมายเหมือนกับที่ตูนได้พบมาในหลายๆ ประเทศ” พิธีกรสายกินปนเที่ยวกล่าวทิ้งท้ายด้วยความปรารถนาที่อยากให้ทุกคนได้เปิดโลกทัศน์ในแบบเดียวกับเธอ