หลังจากต้องเลื่อนจากกำหนดเดิมถึง 1 ปีเต็ม เพลิงโอลิมปิกก็ลุกโชติช่วงขึ้นอีกครั้ง ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น สัญลักษณ์ที่ผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะแฟนกีฬาต่างตั้งตารอ เพราะนั่นหมายถึงว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32 โตเกียว 2020 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสมือวางอันดับ 2 ของโลกชาวญี่ปุ่น เป็นนักวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกคนสุดท้ายในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยปกติผู้ที่ได้รับเกียรติจุดคบเพลิงโอลิมปิกจะเป็นนักกีฬาหรือผู้มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องกับประเทศเจ้าภาพ ซึ่งถือได้ว่าเป็น หนึ่งในเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ใครๆ ต่างก็รอชม แน่นอนว่าโอลิมปิกครั้งนี้ก็เช่นกัน ทว่ายังมีอีกการแสดงหนึ่งในพิธีเปิดที่ถูกเรียกว่าเป็นจอมขโมยซีนของค่ำคืน เพราะทั้งสร้างรอยยิ้มและเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่ผู้ชมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นแฟนกีฬาหรือไม่ก็ตาม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น”
การแสดงชุด Pictogram ในพิธีเปิดเป็นการนำสัญลักษณ์ประเภทกีฬา จำนวน 50 ภาพ จาก 33 ประเภทกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ มานำเสนอในรูปแบบ Live Action ของพิกโตแกรมซัง โดยเหล่านักแสดงตลกเงียบชื่อดัง Hiro-Pon และดูโอ้ Masa และ Hitoshi ที่มาในบอดี้สูทสีขาวและน้ำเงิน ผลัดเปลี่ยนกันทำท่าตามสัญลักษณ์กีฬาต่างๆ จนครบ เล่นเอาคนดูทั้งลุ้น ทั้งชื่นชม ทั้งเหนื่อยแทน แม้จะมีผิดพลาดไปบ้างแต่ทุกคนก็พร้อมให้อภัยและเต็มใจปรบมือให้กับความจริงจังนี้ดังๆ เลยทีเดียว
Pictogram อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับใครหลายคน เพราะเป็นอะไรที่คุ้นตามาพอสมควร แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การนำ Pictogram มาใช้สื่อสารแทนประเภทกีฬาในโอลิมปิกเกมส์นั้น เริ่มต้นครั้งแรกในโอลิมปิก 1964 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั่นเอง ซึ่งเป็นการจัดงานโอลิมปิกครั้งแรกของทวีปเอเชียอีกด้วย และอย่างที่ทราบกันว่าญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร สิ่งที่จะมาช่วยทลายกำแพงด้านภาษาในฐานะของการเป็นเจ้าบ้านที่ต้องต้อนรับผู้คนจากทั่วโลก ก็คือ Pictogram ที่ถูกออกแบบมาใช้เป็นสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬา รวมไปถึงสัญลักษณ์ของสถานที่และข้อมูลการบริการทั่วไปต่างๆ นั่นเอง
สำหรับ โตเกียว 2020 Pictogram สัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาออกแบบโดย Masaaki Hiromura ดีไซเนอร์ชื่อดังที่ฝากผลงานไว้มากมาย เขาได้ทำการต่อยอดและบูชาครูดีไซน์จากปี 1964 ผสมผสานกับสไตล์ร่วมสมัยจนออกมาเป็นผลงานที่ชวนให้นึกถึงอดีตที่ชาติของตนได้ริเริ่มไว้ โดยการออกแบบจะแบ่งเป็น 2 ชุด คือแบบมีกรอบและไม่มีกรอบ สำหรับนำไปใช้ส่วนงานต่างๆ กัน สีที่ใช้หลักจะเป็นสีน้ำเงินอย่างในโลโก้ของงาน แต่ก็ยังมีดีไซน์อีกชุดที่ใช้สีเก่าแก่อื่นๆ ของญี่ปุ่น 5 สี ได้แก่ kurenai (สีแดงเข้ม) , ai (สีคราม), sakura (สีชมพูดอกซากุระ), fuji (สีม่วงดอกฟูจิ) และ matsuba (สีเขียวใบสน) ซึ่งช่วยเพิ่มความสดใสและความมีชีวิตชีวาให้กับโอลิมปิกครั้งนี้ได้ดีทีเดียว
นอกจากการแสดงชุด Pictogram ในพิธีเปิดจะเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมอย่างได้ไม่ขาดสายแล้ว อีกทางหนึ่งมันก็ยังแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ญี่ปุ่นในปี 1964 เป็นประเทศที่กำลังฟื้นฟูตัวเองจากการสูญเสียครั้งใหญ่หลังสงคราม การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นมาพร้อมกับไฟต์บังคับให้ต้องพัฒนาทุกภาคส่วนอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมทุกแขนงตลอดจนศิลปวัฒนธรรมที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลก คือการกำหนดอนาคตของประเทศ ซึ่งก็ประจักษ์แก่เราทุกคนแล้วว่าพวกเขาทำได้
โตเกียว 2020 ก็เป็นอีกครั้งที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาใหญ่ เพียงแต่ครั้งนี้มันเป็นปัญหาของทุกคนบนโลก ไม่ใช่แค่ของใครคนใดคนหนึ่ง จริงอยู่ที่โอลิมปิกครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อนๆ แต่ด้วยความตั้งใจและความเอาใจใส่ในแบบญี่ปุ่นๆ เราจึงเห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความประทับใจ เกิดขึ้นมากมายท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การได้ดูโชว์ที่ทำให้นึกถึงรายการ “เกมซ่าท้ากึ๋น” ในค่ำคืนนั้น ยิ่งตอกย้ำว่าญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น เราต่างรู้สึกได้ถึงกำลังใจที่ทุกคนมีให้กัน สมกับที่เป็นช่วงเวลาของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ