Lifestyle

Lifestyle
Beauty and the Beast
in Modern Digital Space

By 30 July 2021 No Comments

Beauty and the Beast แฟนตาซีในโลกเสมือน

Beauty and the Beast
แฟนตาซีในโลกเสมือน

ท่ามกลางกระแสโอลิมปิก โตเกียว 2020​​ Belle คือแอนิเมชันที่ร้อนแรงที่สุดของญี่ปุ่นในชั่วโมงนี้ โดยผู้กำกับ Hosoda Mamoru ที่นำเทพนิยายปรำปราของฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 18 Beauty and the Beast มาผูกเรื่องเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ตในศตวรรษที่ 21

เมื่อหลายปีก่อน Hosoda เคยได้ชื่อว่าเป็น The New Hayao Miyazaki เทพของวงการแอนิเมะแห่ง Studio Ghibli ซึ่ง Studio Ghibli เองก็เคยทาบทามให้ Hosoda ไปกำกับ Howl’s Moving Castle ในตอนนั้น Hosoda เพิ่งมีงานกำกับแค่เรื่องเดียวเท่านั้น แถมเป็นหนังสั้นอีกด้วย เรื่อง Digimon: Our War Game! แต่ในฐานะแอนิเมเตอร์ Hosoda มีแต่ผลงานดังๆ ทั้งนั้น อาทิ Sailor Moon, Slam Dunk, One Piece และ Dragon Ball เขารับงาน Studio Ghibli แต่ทำได้แค่พักเดียวก็ออกมาปฏิเสธไม่ทำต่อ เพราะทาง Studio Ghibli ไม่ให้อิสระในการทำงาน แต่ยืนกรานที่จะให้เขาทำงานในสไตล์ของ Miyazaki เท่านั้น ตอนนั้นหลายคนคิดว่านั่นคงเป็นจุดจบของ Hosoda แต่ที่ไหนได้ปัจจุบันเขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Chizu เจ้าของผลงานแอนิเมชันเนี้ยบถึง 6 เรื่องรวม Belle งานล่าสุดที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมือง Cannes คนดูลุกขึ้นยืนตบมือให้นานถึงกว่า 14 นาทีเลยทีเดียว รวมทั้งกวาดรายได้วันแรกวันเดียวในญี่ปุ่นไปถึงกว่า 190 ล้านเยน ทำให้ Studio Chizu กลายเป็นสตูดิโอเบอร์ต้นๆ ของวงการไปแล้ว หลังจากที่ผลงานก่อนหน้านี้ Mirai ก็เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Oscar มาแล้วเมื่อปี 2018

Belle (ชื่อเรื่องในภาษาญี่ปุ่นแปลตรงตัวว่า มังกรกับเจ้าหญิงหน้าตกกระ) เล่าเรื่องของ Suzu เด็กสาวขี้อายหน้าตกกระ วัย 17 ปี ที่ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรจากชนบทเมือง Kochi ตอนเด็กๆ Suzu เคยมีความสุขที่ได้ร้องเพลงกับคุณแม่ แต่พอคุณแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็ไม่มีใครได้ยินเธอร้องเพลงอีกเลย กับคุณพ่อเธอก็ไม่ค่อยสนิทเท่าไหร่ สิ่งเดียวที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคือการเขียนเพลง จนวันหนึ่งเธอได้ค้นพบ U โลกใหม่บนอินเทอร์เน็ต U คือโลกเสมือนที่บอกว่าทุกคนสามารถเป็น U (เล่นคำกับ You) คนใหม่ ใช้ชีวิตมีตัวตนในแบบฉบับที่เราต้องการได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องเก็บกดมันไว้ข้างใน บนโลกของ U มี User จากทั่วโลกกว่า 5 พันล้านคน และที่นี่เอง Suzu ได้ปลดปล่อยและร้องเพลงอย่างมีความสุข เพราะที่ U ตัวตนในโลกความเป็นจริงของแต่ละคนคือความลับสุดยอด เธอดังไปทั่ว U เพียงชั่วข้ามคืน ภายใต้ชื่อ Belle (ชื่อ Suzu ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า Bell ระฆังหรือกระดิ่ง และพ้องเสียงกับคำว่า Belle ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าสวยงาม) Belle คือดีวาที่สะกด FC ด้วยเสียงร้อง ทุกอย่างดูจะไปได้สวยจนกระทั่งอสูร Beast สมาชิก FC ลึกลับปรากฏตัวขึ้น ที่เหลือไว้รอดูกันในหนังว่าทั้งคู่ต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรด้วยกันบ้าง และ Beast ช่วยให้ Suzu ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเธอในโลกความเป็นจริงที่ไม่ใช่ U ได้อย่างไร และที่สำคัญมาลุ้นกันว่าใครกันแน่คือ Beast ในโลกแห่งความเป็นจริง?

นอกจากการนำเทพนิยายคลาสสิกกว่าศตวรรษมาผูกเรื่องใหม่ให้ดูโมเดิร์น เข้ากับบริบทสังคมยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ จุดขายก็ยังเป็นเรื่องของเพลงประกอบที่เกือบทุกเพลงบุก​ Oricon​ Chart ของญี่ปุ่นพร้อมกันเลย รวมทั้งงานให้เสียงของ นักพากย์ที่มากความสามารถโดยเฉพาะ Belle/Suzu และ Beast ที่ให้เสียงโดยนักร้องนักดนตรี Nakamura Kaho และดาราฝีมือจัดจ้านอย่าง Satoh Takeru ในขณะที่ลายเส้นก็มีความโดดเด่นจากการแท็กทีมกันระหว่าง Studio Chizu กับคนเก่งระดับอินเตอร์อย่าง Jim Kim แอนิเมเตอร์ชาวเกาหลีที่เคยดีไซน์คาแรกเตอร์ให้บล็อคบัสเตอร์ frozen, moana หรือ tangled มาแล้ว​ Jim Kim ดีไซน์คาแรกเตอร์​ของ Belle ตามแบบฉบับของการ์ตูน​ดิสนีย์ ส่วนคาแรกเตอร์​ของ Suzu มีลายเส้นที่อบอุ่นในสไตล์ญี่ปุ่น วิชวลของโลกเสมือนก็เป็นเรื่องที่ Hosoda ให้ความสำคัญ ฉากหวือหวาตระการตาของ U มาจาก Element ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ประกอบขึ้นมาคล้ายเลโก้ กลายเป็นโครงสร้างและบรรยากาศของโลกเสมือน เป็นผลงานของ Eric Wong สถาปนิกและดีไซเนอร์ชาวจีนแห่งสตูดิโอ Cartoon Saloon จากไอร์แลนด์ ซึ่ง Hosoda บังเอิญไปเจอผลงานของเขาจากอินเทอร์เน็ต Eric Wong เล่าว่าแรงบันดาลใจของดีไซน์ได้มาจากชิ้นส่วนโลหะเล็กๆ ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้เกิดเสียงของพิณ เขาเลือกเอาชิ้นส่วนพวกนั้นมาเพื่อสื่อถึงเสียงเพลงซึ่งเป็นตัวตนของ Belle/Suzu

Studio Chizu กลับมาคราวนี้พร้อมทิศทางใหม่ จากเดิมที่ใช้คนวาดล้วนๆ ในเรื่องนี้จะมีการผสมผสานงาน CG เข้าไปด้วย แต่ Hosoda ยืนยันว่าอย่างไรก็จะไม่ทิ้งศาสตร์การวาดภาพด้วยมือแน่นอน มันคือศิลปะที่ควรอนุรักษ์และส่งต่อให้เด็กรุ่นหลัง ทุกวันนี้แทบจะหาคนวาดภาพด้วยมือไม่ได้แล้ว แต่แฟนๆ จะยังได้เห็นซิกเนเจอร์ของ Studio Chizu ทั้งปลาวาฬที่เคยโผล่มากลางชิบุยะในเรื่อง The Boy and The Beast หรือก้อนเมฆฤดูร้อนที่ลือชื่อเรื่องความสมจริงในผลงานทุกเรื่องที่ผ่านมา รวมทั้งธีมของหนังที่ยังคงเน้นสื่อสารด้านดีของอินเทอร์เน็ตต่างจากเรื่องอื่นที่มักพูดแต่แง่ร้ายประเภท AI จะยึดโลก เรื่องข่าวลวง แฮ็กเกอร์เลว ฯลฯ แต่ Hosoda บอกว่าอยากสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ ที่ใช้ชีวิตติดอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เกิด ผลักดันให้เยาวชนใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ เหมือนที่ตัวเอกของเขาได้สร้างวีรกรรมไว้ในทุกเรื่องที่ผ่านมา

ใครสนใจฟังเพลงประกอบเพราะๆ คลิก!

LIFESTYLE

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://studiochizu.com/
https://twitter.com/StudioChizu
https://www.instagram.com/shuzuiyukinobu/
https://moviewalker.jp/