THE RIVER OF LIFE FOR THAI PEOPLE
“…พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
คัดตัดตอนจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่พระราชทานแก่ราษฎรบ้านถ้ำติ้ว ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2525
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถคู่พระราชหฤทัยที่ทรงเคียงข้างและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกื้อหนุนและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาโดยตลอด หนึ่งในพระราชกรณียกิจเหล่านั้น คือการอนุรักษ์ป่า ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เอาพระราชหฤทัยใส่และมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการที่จะฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนแผ่นดิน ซึ่งเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงทุกสรรพชีวิต
จากการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงเยี่ยมราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงความยากลำบากของราษฎรที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำจนเกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ อีกทั้งยังทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีจำนวนลดน้อยลงไปมาก ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ แต่อีกส่วนซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผืนป่าหมดไปอย่างรวดเร็ว คือการลักลอบตัดไม้ ซึ่งจำนวนไม่น้อยเกิดจากความยากจน ชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ผลักดันให้ราษฎรต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ เพราะหากป่าหมดสภาพไป ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต นอกจากจะเกิดภาวะฝนแล้ง เกษตรกรปลูกพืชพรรณธัญญาหารไม่ได้ผล ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารแล้ว สัตว์ป่าที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุมก็จะพลอยลดจำนวนลงหรืออาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้
เพราะพื้นที่ป่าคือที่ดูดซับน้ำได้เป็นอย่างดี โดยการกักเก็บน้ำไว้ที่รากใต้ดิน นานวันไปก็จะเกิดน้ำซับ เกิดเป็นลำธารขึ้นได้ เพื่อเป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงชักชวนให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่าที่บริเวณเชิงภูผาเหล็ก ติดกับอ่างเก็บน้ำคำจวง บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โดยทรงมอบหมายให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์และพันเอกเรวัต บุญทับ (ปัจจุบันคือ พลเอกณพล บุญทับ) ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 23 จัดเตรียมพื้นที่สำหรับทรงปลูกป่าเป็นตัวอย่าง 1 ไร่ โดยทรงปลูกทั้งไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ซ้อ กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส ทั้งหมดประมาณ 100 ต้น เพื่อให้ราษฎรได้เห็นการปลูกอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญเทพารักษ์เจ้าป่าให้มาสถิตเพื่อคุ้มครองพื้นที่ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “ป่ารักน้ำ” โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ 1. เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้เป็นบริเวณต้นน้ำลำธารกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ 2. เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เดิมเอาไว้ให้ได้ ในเวลาเดียวกันก็ปลูกเสริมขึ้น เพื่อให้มีป่าไม้ช่วยในการควบคุมความปรวนแปรของดินฟ้าอากาศและภัยแล้ง 3. เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ให้มากยิ่งขึ้น 4. เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีไม้ไว้ใช้สอยและเพิ่มพูนรายได้ และ 5. เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน ขาดแคลนที่ดินทำกิน และบุกรุกกระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีอาชีพแน่นอน เพื่อจะได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไป
นอกจากนั้นยังทรงเช่าและซื้อที่ดินที่ชาวบ้านแผ้วถางเพื่อปลูกมันสำปะหลัง แต่ทิ้งร้างไป มาปลูกป่าในโครงการ โดยจัดให้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัย หาอาชีพให้ ชักชวนให้ปลูกต้นไม้และดูแลป่า พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของป่า ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ในระยะเริ่มแรกมีราษฎรเข้าร่วม 35 ครอบครัวพระองค์พระราชทานเงินเดือนให้ครอบครัวละ 3,000 บาท ต่อมาได้มีครอบครัวอาสาเข้ามาปลูกป่าถวายเพิ่มอีก รวมทั้งมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพอื่นได้ใช้เวลาว่างจากการทำงานมาร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่าถวายโดยไม่ขอรับเงิน เวลาผ่านไป เมื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการสามารถตั้งตัวได้ มีรายได้จากการประกอบอาชีพ พระองค์ท่านจึงทรงลดความช่วยเหลือลงจนทุกครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล่าถึงการดำเนินงาน “โครงการป่ารักน้ำ” พระราชทานคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ความตอนหนึ่งว่า “…ไปเช่าและซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ตั้งแต่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ติดต่อเชื่อมโยงกับหมู่บ้านใหญ่ และให้ราษฎรที่หมู่บ้านใหญ่เป็นผู้ตัดสินเองว่า คนยากจนในหมู่บ้านของเขาคนใดบ้างที่สมควรได้รับการสนับสนุนให้มาอยู่ในหมู่บ้านป่ารักน้ำ โดยที่สมาชิกฝ่ายชาย หัวหน้าครอบครัว มีอาชีพปลูกป่า เพาะกล้าไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นไม้โตเร็วทั้งนั้น จุดมุ่งหมายแรกคือ มุ่งให้รากของต้นไม้นั้นรักษาความชุ่มชื้นในแผ่นดิน จุดที่สองคือ ต้องการให้ชาวบ้านมีไม้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหาร นับว่าเป็นการช่วยตัวเอง โดยไม่ต้องซื้อหามาจากข้างนอก จุดที่สาม ในเมื่อต้นไม้อายุได้ 3 ปีขึ้นไป สามารถใช้ไม้นั้นซ่อมแซมหรือปลูกเพิ่มเติมที่อยู่อาศัยได้ นอกจากปลูกป่าและเพาะกล้าต้นไม้แล้ว ก็ยังสนับสนุนให้ผู้ชายเลี้ยงสัตว์ มีบ่อปลา บ่อกุ้ง เป็นช่างไม้ ช่างปั้น ในขณะที่ภรรยาเป็นสมาชิกทอผ้าตัดเย็บเสื้อผ้า ทอผ้าห่ม ทอฝ้ายปนไหมพรม ทำนวมสำหรับขายและสำหรับใช้ในหน้าหนาว”
โครงการป่ารักน้ำ คือตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนและป่า
ตามหลักการของพระองค์ที่ว่า “ให้ป่าอยู่กับคนได้ คนอยู่กับป่าได้ โดยไม่มีการทำลาย”
ทั้งยังนับเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ส่งเสริมให้ราษฎรรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง
โครงการป่ารักน้ำ คือตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนและป่าตามหลักการของพระองค์ที่ว่า “ให้ป่าอยู่กับคนได้ คนอยู่กับป่าได้ โดยไม่มีการทำลาย” การฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณต้นน้ำลำธารที่เสื่อมโทรมให้พลิกฟื้นกลับคืนสู่การเป็นพื้นที่ดูดซับน้ำ ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น ยังนับเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ส่งเสริมให้ราษฎรรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดได้โดยไม่ต้องจากพื้นที่บ้านเพื่อไปหาอาชีพที่อื่น
ความสำเร็จด้วยดีของโครงการป่ารักน้ำแห่งแรก ส่งผลให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ หลายแห่ง จนปัจจุบันมีโครงการป่ารักน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ 1. โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร 2. โครงการป่ารักน้ำ บ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร 3. โครงการป่ารักน้ำ บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร 4. โครงการป่ารักน้ำ บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และ 5. โครงการป่ารักน้ำ บ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของพระองค์ที่จะให้ราษฎรเกิดความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ จนเกิดจิตสำนึกในการรักษาป่าร่วมกันของคนในท้องถิ่น ราษฎรที่เห็นผลดีจากโครงการได้ร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่าทดแทน รักษาและฟื้นฟูสภาพป่าให้เพิ่มมากขึ้น จนสามารถยับยั้งการทำลายป่าได้
“ป่ารักน้ำ” นับเป็นตัวอย่างของโครงการที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมองการณ์ไกลและทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนของราษฎรโดยแท้จริง นอกจากโครงการนี้แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด ผ่านโครงการในพระราชดำริอีกหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โครงการธง “พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นต้น
ถึงวันนี้ ผืนป่าหลายแห่งได้รับการคุ้มครองและอนุรักษ์ไว้เป็นป่าต้นน้ำ สร้างความสมดุลและความสมบูรณ์ให้กับผืนแผ่นดินไทยตราบชั่วลูกชั่วหลาน นับว่าพระราชปณิธานและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับทั้งคนและป่าไปพร้อมๆ กัน เมื่อคนรักป่า และป่ารักน้ำ ความรักในแผ่นดินก็ได้ถูกปลูกขึ้นและเจริญงอกงามอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดไป