ในที่สุดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก โตเกียว 2020 ก็ได้เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 กรกฎาคม ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในบทความนี้ Power จะพาคุณไปทำความรู้จักกับสิ่งละอันพันละน้อย แต่เต็มไปด้วยความใส่ใจอันมหาศาล ที่ทางเจ้าภาพได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักสากลโลก ภายใต้แนวคิด “Be better, together – for the planet and the people”
เหรียญรางวัล
ต้องบอกว่าน่าประทับใจทั้งในเรื่องของดีไซน์และแนวคิด กับไอเดียสุดสร้างสรรค์ ด้วยการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแปรรูปเป็นเหรียญรางวัลอันทรงเกียรติ ที่เหล่านักกีฬาต่างตั้งใจไขว่คว้า เพื่อสร้างชื่อให้กับตนเองและประเทศชาติ นอกเหนือจากการได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ โดยเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง จำนวนกว่า 5,000 เหรียญนั้น ถูกทำขึ้นมาจากโทรศัพท์มือถือเก่าๆ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่นๆ จากการบริจาคของประชาชน กว่า 1,621 ชุมชน หรือคิดเป็น 90% ของชุมชนทั้งหมดของญี่ปุ่น ได้วัสดุเกือบ 79,000 ตัน และโทรศัพท์มือถือใช้แล้วจำนวน 6.21 ล้านเครื่อง โดยใช้เวลารวบรวมกว่า 2 ปี เมื่อนำมารีไซเคิลได้เหรียทองประมาณ 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม
ทั้งนี้เหรียญรางวัลเป็นผลงานการออกแบบของ Junichi Kawanishi ผู้ชนะการประกวดจากทั้งหมด 400 แบบ ซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยเน้นที่ความเรียบง่าย มีรูปแกะสลัก Nike – เทพีแห่งชัยชนะของกรีก ยืนอยู่หน้าสนามกีฬาพานาธิไนกอส และสัญลักษณ์วงแหวนโอลิมปิก 5 ห่วง พร้อมชื่อการแข่งขัน โตเกียว 2020 ส่วนของริบบิ้นได้รับการออกแบบให้สะท้อนถึงตัวตนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีในความหลากหลาย ด้วยลวดลายทันสมัยของลายตาหมากรุก “อิชิมัทสึ โมโย” ดั้งเดิมของญี่ปุ่น ทำขึ้นจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลทางเคมี ซึ่งผลิต CO2 น้อยกว่าวัสดุโพลีเอสเตอร์อื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิต และแต่งสีกราฟิกหลักของโตเกียว 2020 ทั้งหมดถูกบรรจุอยู่ในกล่องที่ออกแบบโดย Shinya Yoshida ทำขึ้นจากไม้แอชญี่ปุ่นย้อม โดยช่างฝีมือชาวญี่ปุ่น Yamagami Mokko ที่ใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่มาผสมผสานกัน ทำให้แต่ละเหรียญมีลวดลายที่แตกต่างกันไป
โพเดียมรับรางวัล
อีกหนึ่งผลงานจากการรีไซเคิลขยะพลาสติกจำนวน 24.5 ตัน ที่ได้จากการรวบรวมขยะพลาสติกจากบ้านเรือน ร้านค้า โรงเรียน องค์กรต่างๆ รวมถึงขยะในท้องทะเล โดยบริษัท P&G ได้ให้การสนับสนุนในการเก็บรวบรวมตลอดระยะเวลา 9 เดือน จากการบริจาคของประชาชนชาวญี่ปุ่น เพื่อนำมาทำโพเดียมรับเหรียญรางวัลกว่า 98 แท่น โดยโพเดียมรับรางวัลนี้เป็นผลงานการออกแบบของ Asao Tokolo ศิลปินชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่ออกแบบตราสัญลักษณ์โอลิมปิก 2020 ที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมต่อกันเป็นฟอร์มวงกลม และการเชื่อมโยงกันของทรงลูกบาศก์เหล่านั้นได้แฝงความหมายถึงความสามัคคี โพเดียมรับรางวัลจึงเกิดจากการนำลูกบาศก์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลหลายลูกมาเรียงต่อกัน โดยแต่ละลูกรับน้ำหนักได้ 1.5 กิโลกรัม
ในส่วนของด้านข้างของแท่นโพเดียมจะเป็นรูปคล้ายตาหมากรุกสีคราม จัดเรียงแบบสามมิติสไตล์เรขาคณิต ส่วนสัญลักษณ์โอลิมปิก 5 ห่วง ทำมาจากขยะอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของบ้านพักชั่วคราว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของประเทศเมื่อปี 2011 นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะนำขยะกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ร้อยละ 65 ของขยะทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินการของเกม และร้อยละ 99 ของรายการทั้งหมดที่จัดหาสำหรับการแข่งขัน โดยแท่นโพเดียมจะถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นขวดแชมพูและผงซักฟอก โดย บริษัท สินค้าอุปโภคบริโภค Procter & Gamble ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโอลิมปิกต่อไป
คบเพลิง
คบเพลิงโอลิมปิก 2020 สีโรสโกลด์ ที่ใช้เทคนิคอัดขึ้นรูปอะลูมิเนียมรีไซเคิลแบบชิ้นเดียวเสมือนประติมากรรมที่ไร้รอยต่อชิ้นนี้ ถอดรูปแบบมาจากดอกซากุระ 5 กลีบ อันเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพ้องกับ 5 ห่วงสัญลักษณ์โอลิมปิก อย่างพอดิบพอดี ซึ่งอะลูมิเนียมที่นำมารีไซเคิลนี้ เคยใช้สร้างบ้านพักชั่วคราวในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ปี 2011 ที่ภูมิภาคโทโฮคุ นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิก ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการจุดคบเพลิง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้นผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่โรงงานในเมืองนามิเอะ จังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ รวมถึงอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ การนำวัสดุจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประเทศกลับมารีไซเคิล จึงเป็นการประกาศว่า โอลิมปิกเป็นเหมือนความหวังในการพลิกฟื้นญี่ปุ่นจากภัยพิบัติสึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ความทุกข์ยากของชาวญี่ปุ่นในครั้งนั้นได้ถูกคลี่คลายด้วยไฟแห่งความหวังของโอลิมปิก ซึ่งสอดคล้องกับความหมาย Hope Lights Our Way
โดยศิลปินผู้ออกแบบคบเพลิงแห่งความหวังนี้คือ Tokujin Yoshioka ดีไซน์เนอร์ชาวญี่ปุ่น ผู้เคยฝากผลงานไว้กับแบรนด์ดังมากมายอย่าง Issey Miyake, Cartier, Swarovski, Louis Vuitton, Hermès, Toyota, และ Lexus นอกจากนี้เขายังมีผลงานทั้งไฟน์อาร์ต ศิลปะร่วมสมัย การออกแบบอาคาร และการออกแบบแสง จุดเด่นของเขาคือแรงบันดาลใจที่ได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง
ชุดนักวิ่งคบเพลิงจากขวด Coca-Cola
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการ “มอบเกมที่ยั่งยืน” ทีมออกแบบของสมาคมโอลิมปิกแห่งโตเกียว นำโดย Daisuke Obana ผู้อำนวยการออกแบบโอลิมปิก ได้ร่วมมือกับ Coca-Cola ในการสร้างเครื่องแบบสำหรับนักวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก ที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่ทาง Coca-Cola ทำการเก็บรวบรวม จนได้เป็นชุดสไตล์ Unisex ซึ่งนอกจากจะเป็นการแนะนำประเพณีของญี่ปุ่นแล้ว ยังแสดงถึงความเคารพต่อการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก และแรงบันดาลใจสู่ความสำเร็จของเกมอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ชุดนักวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก โตเกียว 2020 เป็นชุดเครื่องแบบสีขาวเรียบง่าย ด้วยเสื้อยืดคอวีแขนสั้นและแขนยาว มีสายคาดสีแดงวิ่งจากด้านหน้าไปด้านหลัง ซึ่งสายคาดดังกล่าวจะถูกสวมใส่เป็นประจำในรีเลย์กีฬาของญี่ปุ่น โดดเด่นด้วยสัญลักษณ์การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ด้านหน้า และสัญลักษณ์โอลิมปิกที่ด้านหลัง ขณะที่กางเกงขายาวและกางเกงขาสั้นมีแถบแนวทแยงสีแดง เป็นชุดที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล เพื่อเป้าหมายในการมอบเกมที่ยั่งยืน
หมู่บ้านนักกีฬาสีเขียว
ด้วยแนวคิดในเรื่องของการใช้งานได้อย่างคุ้มค่า เตียงนอนภายในห้องพักนักกีฬา จึงถูกออกแบบให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำมาจากกล่องกระดาษรีไซเคิล เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการลดความสูญเสียทรัพยากรภายในประเทศให้น้อยที่สุด โดยเตียงนอนสำหรับนักกีฬา 1 ชุด สามารถรับน้ำหนักของนักกีฬาได้มากถึง 200 กิโลกรัม และเมื่อจบการแข่งขันกีฬาแล้ว เตียงนอนชุดนี้ก็ยังสามารถพับเก็บไว้เพื่อนำออกมาใช้ในโอกาสต่างๆ ต่อไปได้
นอกจากนี้ในส่วนของอาคารอเนกประสงค์ หรือ Village Plaza ที่มีขนาด 5,300 ตารางเมตร ภายในหมู่บ้านนักกีฬา ยังสร้างจากไม้แปรรูปจำนวนกว่า 40,000 ชิ้น ที่ได้รับการบริจาคจากเทศบาล 63 แห่งทั่วประเทศ โดยไม้แต่ละชิ้นจะประทับชื่อของเทศบาลที่บริจาค เพื่อชี้ให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไม้แต่ละชนิดของแต่ละสถานที่ มีไฮไลต์เป็นไม้ที่มาจากจังหวัดอิวาเตะ จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งเป็น 3 จังหวัดในภูมิภาคโทโฮคุ ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2011 และเมื่อโอลิมปิกครั้งนี้จบลง จะมีการรื้อถอนอาคารอเนกประสงค์ และไม้เหล่านี้จะส่งกลับคืนไปยังหน่วยงานท้องถิ่นที่บริจาคมา เพื่อนำไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนต่อไป
สนามกีฬารีไซเคิล
Musashino Forest Sports Plaza สนามกีฬาฟันดาบและแบดมินตันใช้คอนกรีตจากมวลรวมรีไซเคิล (Recycled Aggregate Concrete) เพื่อลดปริมาณเศษวัสดุคอนกรีตจากการก่อสร้างและทดแทนวัสดุหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รวมถึงการใช้เหล็ก กระเบื้องและพื้นไวนิลรีไซเคิล ส่วนสนาม Oi Hockey Stadium สถานที่สำหรับการแข่งขันกีฬาฮอกกี้ จะใช้หญ้าเทียมที่ทำมาจากวัสดุชีวภาพอย่างเส้นใยของอ้อยที่เหลือทิ้งจากการเกษตร ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำถึงสองในสามเมื่อเปรียบเทียบกับสนามหญ้าทั่วไปแบบเดิมๆ นอกจากนี้วัสดุรีไซเคิลอื่นๆ ก็ได้นำมาใช้ในการก่อสร้างสนามอีก 5 แห่งคือ Ariake Arena, Sea Forest Waterway, Tokyo Aquatics Centre, Kasai Canoe Slalom Centre และ Yumenoshima Park Archery Field
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพียงบางส่วนของความตั้งใจและความใส่ใจ เพื่อให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นโอลิมปิกสีเขียวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อนำไปผนวกเข้ากับสัญลักษณ์ “ห่วงโอลิมปิกสีทอง 5 ห่วง” ที่ไขว้กันเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิก ในพิธีเปิดฯ ที่ผ่านมา จะพบว่าถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากต้นสนกว่า 160 ต้น ที่เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่นักกีฬาจากหลากหลายชาติทั่วโลก เคยทำการปลูกไว้ เมื่อคราวการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว ในปี 1964 ซึ่งผลิดอกออกผลในอีก 57 ปีต่อมา จึงเป็นอีกแนวคิดล่วงหน้าที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณและวันเวลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความสามัคคี ให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นเสมือนความหวังในการพลิกฟื้นญี่ปุ่น และให้กำลังใจคนทั่วโลกในการก้าวฝ่าวิกฤติไปได้อีกครั้ง
LIFESTYLE
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://olympics.com/
https://www.nipponnews.net/
https://www.reuters.com/
https://www.dezeen.com/