ปฏิเสธไม่ได้ว่าความนิยมที่มีต่อกีฬาเซิร์ฟสเก็ตในปัจจุบันได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์สำคัญของบ้านเรา ที่ไม่ว่าใครต่างก็หันมาไถสเก็ตคู่ใจโดยไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศหรือวัย ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจริงๆ แล้ว สเก็ตบอร์ดหรือแม้แต่เซิร์ฟสเก็ตก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่เท่าไรนัก ทว่าด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่มาบรรจบกัน จึงทำให้เกิดเป็นกระแสที่น่าจับตามองที่สุดอย่างหนึ่งในขณะนี้
ในอดีตกลุ่มคนที่เล่นสเก็ตหรือที่เรียกกันติดปากว่า “เด็กบอร์ด” มักถูกมองว่าเป็นเพียงวัยรุ่นกลุ่มเล็กๆ ที่มารวมตัวกัน และยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ในปัจจุบันพัฒนาการของสเก็ตบอร์ดได้เดินทางมาไกลเกินกว่าความชอบหรือกีฬา จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนไปแล้ว วันนี้ Power ได้มีโอกาสพูดคุยกับสองนักสเก็ตมืออาชีพ ที่คลุกคลีอยู่ในวงการสเก็ตมานาน โดยตอนนี้ทั้งคู่ใช้เวลาในวันเสาร์-อาทิตย์ มาช่วยสอนและให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจในกีฬาเซิร์ฟสเก็ต ที่ลานสเก็ต คิง เพาเวอร์ ศรีวารี จุดนัดพบแห่งใหม่ย่านบางนา-ลาดกระบัง กันแบบฟรีๆ ถึงวันที่ 11 เมษายน 2564 อีกด้วย เราเลยถือโอกาสชวน “เด็กบอร์ด” รุ่นโอลด์สคูล พูดถึงที่มาที่ไป รวมถึงมุมมองที่มีต่อเซิร์ฟสเก็ตกับเด็กรุ่นใหม่
“ตอนเด็กๆ เห็นพี่ชายซื้อสเก็ตบอร์ดมาเล่น
เลยลองเล่นบ้าง จากนั้นก็เล่นมาโดยตลอด
เรียกว่าพี่ชายเป็นแรงบันดาลใจ
ให้ได้มารู้จักกับสเก็ตก็ว่าได้”
– ไรอั้น–ปฐมพัฒน์ ศรีแป๊ะสัจจา –
โปรไรอั้น-ปฐมพัฒน์ ศรีแป๊ะสัจจา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเล่นสเก็ต โดยเจ้าตัวบอกว่าเล่นมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สตรีตสเก็ตบอร์ด สกิมบอร์ด และเซิร์ฟสเก็ตที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งหากเอ่ยถึงชื่อของไรอั้น เชื่อว่าคนในวงการสเก็ตบ้านเราไม่มีใครไม่รู้จักเขาอย่างแน่นอน เพราะโปรไรอั้นผ่านเวทีการแข่งขันมาแล้วมากมายหลายรายการ รวมไปถึงการเป็นนักกีฬาทีมชาติตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันบนเวทีกีฬาเอ็กซ์ตรีมระดับเอเชีย หรือ X Games Asia ที่เขาคว้าอันดับที่ 7 ของเอเชียมาครอง
หากพูดถึงกระแสความนิยมของสเก็ตบอร์ดและเซิร์ฟสเก็ตในบ้านเรา โปรไรอั้นบอกว่า “จริงๆ สเก็ตไม่เคยหายไปไหนเลย มีคนเล่นกันอยู่ตลอด เวลามีงานแข่งหรืออีเวนต์ต่างๆ เราจะเห็นคนเป็นพันๆ มารวมตัวกันทุกครั้ง อย่างวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปี จะเป็นวันสเก็ตบอร์ดโลก (Go Skateboarding Day) ประเทศไทยเราเองก็จัดงานมาโดยตลอด และเชื่อว่าปีนี้จะต้องยิ่งใหญ่มากกว่าปีก่อนๆ แน่นอน ยิ่งคนเล่นเยอะๆ ยิ่งดีใจที่มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สมัยก่อนอาจจะโดนมองโดนแซวบ้าง แต่ตอนนี้ มันเปลี่ยนไปแล้ว”
สำหรับเซิร์ฟสเก็ตนั้นถือได้ว่าเป็นกีฬาที่เล่นได้ทั้งครอบครัว อย่างคนที่มาเรียนกับโปรไรอั้น อายุน้อยสุดแค่ 5 ขวบ ส่วนผู้ใหญ่โตสุดก็อายุ 54 ปี เลยทีเดียว บางคนที่ไม่มีพื้นฐานสเก็ตมาก่อนแต่เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำนั้น เร็วสุดก็สามารถเล่นเป็นภายใน 2 ชั่วโมงเลย เพราะเซิร์ฟสเก็ตเป็นกิจกรรมที่ต้องการความแข็งแรงและการทรงตัวที่ดีในการเล่นนั่นเอง
ในฐานะครูสอนสเก็ต โปรไรอั้นจะพยายามเน้นให้นักเรียนโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สิ่งที่ตัวเองกำลังทำมากที่สุด ซึ่งตรงนี้เองถือเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เล่นสเก็ตได้ดีและปลอดภัย เพราะจากประสบการณ์ในวงการกว่า 20 ปี อุบัติเหตุที่เจ็บหนักที่สุดที่เคยเกิดขึ้นคือ ข้อเท้าพลิก อาจจะมองว่าไม่ร้ายแรงมากแต่นั่นก็ทำให้ต้องพักไปนานหลายเดือนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญ เจ็บแล้วเล่นสเก็ตไม่สนุก
สุดท้ายโปรไรอั้นอยากฝากถึงเยาวชนหรือผู้ที่สนใจในกีฬาสเก็ตว่า ควรเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ถูกต้อง เหมือนกับการเรียนที่ต้องค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้น ตอนนี้ยังไม่เก่งก็ไม่เป็นไร ส่วนการล้มนั้นมีอยู่แล้ว แผลเป็นเรื่องปกติ ทุกคนต้องเจ็บหมด ไม่มีใครเลยที่เล่นแล้วไม่ล้ม ขอแค่ต้องล้มให้เป็น
ติดตามโปรไรอั้นได้ที่ https://www.facebook.com/Ryan-Surf-Skate-102846008219602/
“ทุกๆ สกิลใหม่ที่ทำได้คือความภูมิใจของตัวเอง
ชอบโมเมนต์นั้นของตัวเองที่สุด”
– พีน–ภาคิน อังศุวัฒกกุล –
“ทุกๆ สกิลใหม่ที่ทำได้คือความภูมิใจของตัวเอง
ชอบโมเมนต์นั้นของตัวเองที่สุด”
– พีน–ภาคิน อังศุวัฒกกุล –
เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว นับจากวันที่ พีน-ภาคิน อังศุวัฒกกุล มีโอกาสเข้าไปเล่นสเก็ตบอร์ดที่ลานในสวนรมณีนาถตอนอยู่ชั้น ป. 6 ซึ่งเขาก็ไม่เคยที่จะหยุดเล่นอีกเลย พีนเล่าย้อนให้ฟังถึงความรู้สึกที่เหมือนได้เจอเพื่อนใหม่ เจอสังคมใหม่ ได้ท้าทายตัวเองในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในวันนั้น
จากความสนุกในตอนแรกที่เริ่มเล่น พอได้เห็นเวทีการแข่งขันต่างๆ พีนก็เริ่มสนใจและลงแข่ง ชนะบ้างแพ้บ้าง แต่เขาก็รู้ตัวดีว่าตัวเองไม่ได้ซ้อมมาเพื่อแข่ง ต่อมาด้วยการแนะนำจากโค้ชและพี่ๆ ในวงการ พีนจึงเริ่มเข้าทีมและเป็นที่รู้จักมากขึ้น พอมาถึงจุดหนึ่งก็ได้เรียนรู้ว่าวงการสเก็ตบอร์ดไม่ได้มีแต่การแข่งขัน นักสเก็ตสามารถเป็นที่ยอมรับหรือสร้างรายได้จากการนำเสนอตัวเองในแบบต่างๆ ได้ อาจจะทำวิดีโอขึ้นมาสักตัวเพื่อนำเสนอสไตล์การเล่นของตัวเอง รวมไปถึงการมีสปอนเซอร์ที่ทำให้การเล่นสเก็ตสามารถยึดเป็นอาชีพได้
“ผมว่าการเล่นของผมน่ามองนะ” พีนบอกว่าจุดเด่นของเขาคือการเล่นที่เน้นความสวยงามมากกว่าการเล่นท่ายากๆ “ผมไม่ได้อยากเป็นอะไรเลย ผมแค่สนุกกับมัน เต็มที่กับมันทุกวัน เป้าหมายต่อไปก็อยากทำวิดีโอเจ๋งๆ สักตัว อย่างตอนเด็กๆ ก็มีบ้างที่ฝันอยากจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่ประสบการณ์บอกเราว่าวงการสเก็ตมีช่องทางให้ไปได้มากมาย ไม่จำเป็นต้องแข่งเพียงอย่างเดียว ถ้าจะต้องแข่งก็คงแข่งกับตัวเอง เพราะสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ก็คือการเล่นสเก็ต ออกไปเล่นตามที่ต่างๆ พอมีสปอนเซอร์เข้ามาก็ช่วยเขา หน้าที่ของเราคือพัฒนาการเล่นของตัวเอง แล้วเผยแพร่ความสร้างสรรค์ของเราออกไป เหมือนเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจผู้คนได้”
ปัจจุบันพีนเล่นสเก็ตเป็นอาชีพ รวมไปถึงรับสอนสเก็ตให้กับเด็กๆ เขาเชื่อว่าการเล่นสเก็ตเหมือนเป็นการฝึกตัวเองอย่างหนึ่ง เวลาโค้ชสอนหรือแนะนำ ถ้าเปิดใจและรับฟังก็จะเล่นเป็นได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น สเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาที่ต้องเรียนรู้จากตัวเองให้มากๆ นอกจากจะฟังที่โค้ชสอนแล้วก็ยังจะต้องเข้าใจมูฟเมนต์ของตัวเอง เข้าใจความคิดและร่างกายของตัวเอง หัวใจสำคัญคือการเล่นอย่างไม่กดดันตัวเอง เล่นให้มันสนุก
ติดตามพีนได้ที่ https://www.instagram.com/peenanzu/