ด้วยความเชื่อที่ว่า “คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” จุดประกายให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เดินหน้าโครงการเพื่อสังคม
ภายใต้แนวคิด “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” สนับสนุนและส่งต่อพลังแห่งแรงบันดาลใจให้ชีวิตเดินทางไปได้ไกลกว่าเดิม
เปิดประสบการณ์สู่เวทีโลกด้วยพลังคนไทยในด้านต่างๆ อาทิ ด้านกีฬา ด้านดนตรี และด้านชุมชน
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หลากหลายผลงานภายใต้ชื่อ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” ได้กระจายโอกาสสู่ชุมชนทั่วทุกภูมิภาค ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด กว่า 3,000 ชุมชน ในด้านกีฬา คิง เพาเวอร์ ตั้งเป้ามอบลูกฟุตบอลจำนวน 1 ล้านลูก ภายในระยะเวลา 5 ปี ผ่านโครงการ “ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย” นอกจากนี้ยังมีโครงการ “100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย” ตลอดจนโครงการ “Fox Hunt” เฟ้นหาเพชรในวงการนักเตะเยาวชน เพื่อมอบทุนการศึกษาและส่งไปฝึกทักษะฟุตบอลที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ
สำหรับด้านดนตรี คิง เพาเวอร์ จุดไฟฝันของนักดนตรีชาวไทยให้โชติช่วงอีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนการจัดการประกวด “วงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย” หรือ “Thailand International Wind Symphony Competition” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสบานสำคัญให้เยาวชนและคนไทยที่มีหัวใจรักดนตรีได้แสดงศักยภาพและก้าวไปสู่เวทีระดับโลกอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับด้านชุมชน เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า “ของไทยมีดี” คิง เพาเวอร์ ได้ร่วมพัฒนาสินค้าชุมชน เชิดชูภูมิปัญญาของคนไทย พิสูจน์พลังแห่งการสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด จนนำผลงานไปเจิดจรัสในสายตาชาวโลกมาแล้ว
นอกจากนั้นกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ยังร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สนับสนุนศักยภาพของชุมชนไทย โดยเดินหน้าโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สุขา สุขใจ” มอบห้องน้ำให้กับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว เป็นห้องน้ำที่มีรูปแบบสากล “Universal Design” สำหรับชาย หญิง และผู้พิการ เพื่อให้เป็นห้องน้ำของทุกคน ที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์และยั่งยืน
ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ คิง เพาเวอร์ มุ่งมั่นหลอมรวมพลังของคนไทยให้ก้าวข้ามการเดินทางแบบเดิมๆ เพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างไม่หยุดยั้ง
ส่งต่อพลังดนตรี…ให้โลกรู้ว่าชาติไทยไม่แพ้ใคร
“สิ่งที่วงการดนตรีของไทยขาด ไม่ใช่บุคลากร หรือฝีมือ แต่เป็น “โอกาส” ที่จะได้มีเวทีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถไปอย่างเต็มศักยภาพ”
นี่คือส่วนหนึ่งของความในใจจาก “ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ” คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต่อวงการดนตรีของไทย และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ดร.ณรงค์รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ คิง เพาเวอร์ ซึ่งมีความเชื่อในพลังคนไทยในด้านดนตรีว่า ไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน จึงนำมาซึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญในการจัดการประกวด “วงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย” หรือ “Thailand International Wind Symphony Competition” (TIWSC) สุดยอดเวทีแห่งการแข่งขันด้านดนตรีระดับมาตรฐานสากล ซึ่งปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
“ก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็เคยมีการประกวดในลักษณะนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้การจัดการแข่งขันต้องพักไปหลายปี จนกระทั่งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งมีความมุ่งหวังจะจุดประกายสร้างฝันให้นักดนตรีชาวไทย ได้เข้ามาพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความพร้อมในการส่งเสริมทักษะด้านดนตรี จึงร่วมกันจัดการประกวดขึ้นมาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อรายการและหลักเกณฑ์ในการประกวดหลายอย่าง เพื่อเปิดมิติใหม่ของการประกวดให้เป็นมากกว่าเวทีการแข่งขัน แต่เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับสังคม”
หนึ่งในความพิเศษที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือรูปแบบของการแบ่งประเภทการแข่งขัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ Class A เป็นวงใหญ่ ประเภทประชาชนทั่วไป, Class B เป็นวงใหญ่ ประเภทนักเรียน นักศึกษา, Class C วงเล็ก ประเภทประชาชนทั่วไป และ Class D วงเล็ก ประเภทนักเรียน นักศึกษา
“เหตุผลที่มีการจัดการแข่งขันสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะเราต้องการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันด้านดนตรีอย่างเสรี ไม่จำกัดเพศ อายุ และสัญชาติ ให้คนที่รักในเสียงดนตรีได้มาแสดงความสามารถ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ที่เปิดกว้างเช่นนี้
“อย่างปีแรกที่จัดการประกวด ผมยังแซวทีมที่ชนะเลิศว่า เป็นทีมเดียวที่ผมต้องยกมือไหว้ เพราะเป็นรุ่นพี่ผมอีก สิ่งที่น่าประทับใจ คือพวกเขาบอกว่าไม่ได้มาเพื่ออยากแพ้หรือชนะ แต่แค่อยากเล่นดนตรี โดยเฉพาะได้มาเล่นที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร ก็ถือว่าคุ้มแล้ว ผมว่านี่คือสปิริตอย่างหนึ่งของนักดนตรีที่ทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล และ คิง เพาเวอร์ อยากให้เกิดขึ้น ทุกคนที่มาไม่ได้แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ทุกคนมาเพื่อเล่นดนตรี แถมยังได้เพื่อนได้มิตรภาพกลับไป จะเห็นว่าบรรยากาศรอบชิงชนะเลิศจะเต็มไปด้วยมิตรภาพ ไม่ว่าทีมไหนจะชนะ ทุกทีมก็พร้อมร่วมยินดี นี่คือมิติของการจัดการประกวดที่มากกว่าแค่เป็นหมุดหมายที่นักดนตรีต้องฝึกซ้อมเพื่อพิชิตเป้าหมาย แต่ยังได้มิติของความสามัคคีและมิตรภาพ โดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์”
อีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้การประกวดนี้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย คือความโปร่งใสและความเที่ยงธรรมในการประกวด ในแต่ละรอบนอกจากจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหมุนเวียนมาตัดสินแล้ว ในรอบชิงชนะเลิศ ยังเชิญกรรมการจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการมาเป็นผู้ตัดสิน และยังช่วยยกระดับมาตรฐานนักดนตรีไทยด้วยการเปิดโอกาสให้ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้มีโอกาสเวิร์กช็อปทำ Conducting กับผู้เชี่ยวชาญในวงการดนตรีระดับโลกด้วย
นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ยังบอกเล่าอย่างออกรสว่า ผลลัพธ์ของการประกวดไม่ได้หยุดอยู่ที่การแพ้ชนะ เพราะแต่ละปีผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ผู้แพ้มีเป็นร้อย และความพ่ายแพ้คือพลังสำคัญที่ทำให้นักดนตรีไม่หยุดพัฒนา
“ต่อให้เป็นทีมที่ชนะในปีนี้ มาซ้ำในปีหน้าก็อาจจะไม่ชนะก็ได้ เพราะมาตรฐานของวงที่เข้ามาประกวดต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งแค่การสอนให้นักดนตรีพัฒนาฝีมือไปเรื่อยด้วยปากเปล่า มันไม่ทำให้เห็นภาพ แต่ถ้ามีการประกวดแบบนี้ เหมือนเป็นเครื่องกระตุ้นให้นักดนตรีรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ระดับไหน อย่างทีมที่แพ้ในปีนี้ เขาเห็นแล้วว่าทีมที่ชนะมีมาตรฐานตรงไหน เขาก็ต้องพยายามพัฒนาให้เหนือกว่า เหมือนกับนักกีฬาที่ต้องทำลายสถิติของคู่แข่งให้ได้”
อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายต่อไปของการจัดการประกวด ดร.ณรงค์ย้ำชัดว่า ต้องการยกระดับสู่เวทีระดับสากล “ภายใน 3-5 ปี เราคาดว่าเวทีนี้จะกลายเป็นหนึ่งในการประกวดดนตรีที่มีนักดนตรีจากต่างประเทศให้ความสนใจและอยากเข้าร่วมมากขึ้น จากที่ผ่านมามีสัดส่วนผู้เข้าแข่งขันจากต่างประเทศอยู่ที่ 10-15% เราหวังว่าแทนที่เยาวชนหรือนักดนตรีชาวไทยจะต้องเสียเงินหลักล้านเพื่อเดินทางไปแข่งที่ต่างประเทศ ในอนาคตเราจะสามารถพัฒนาการประกวดของเราให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งนอกจากจะสร้างชื่อให้ประเทศไทยแล้ว ยังนำเม็ดเงินเข้าประเทศด้วย”
ดร.ณรงค์ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า คนไทยมีศักยภาพ พร้อมพัฒนาไปในระดับนานาชาติ เพียงแต่คนไทยต้องการโอกาสที่จะได้รับจากรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานใหญ่ๆ “ผมเชื่อว่าถ้าคนไทยพยายามทำอะไร ก็จะประสบความสำเร็จ อย่างตอนนี้ คิง เพาเวอร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโอกาสนั้นแล้ว เชื่อว่าในอนาคตจะมีคนไทยคุณภาพไปยืนอยู่ในระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ”
เหตุผลที่มีการจัดการแข่งขันสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะเราต้องการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขัน
ด้านดนตรีอย่างเสรี ไม่จำกัดเพศ อายุ และสัญชาติ ให้คนที่รักในเสียงดนตรีได้มาแสดงความสามารถ
ใช้ข้อผิดพลาดต่อยอดพัฒนาไม่หยุดยั้ง
เสียงปรบมือที่ดังกึกก้องหอประชุมมหิดลสิทธาคาร ในการประกาศผลทีมที่ชนะเลิศการประกวด “วงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2562” ยังคงก้องกังวานอยู่ในใจสมาชิกนักดนตรีหญิงล้วนจากโรงเรียนสุรนารีวิทยาทั้ง 80 ชีวิต ที่รวมใจเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อวง Suranaree Girls Wind Symphony
นอกจากความดีใจที่พรั่งพรูออกมา ซึ่งเป็นผลจากความมุ่งมั่นและพยายามจะนำพาวงดนตรีจากจังหวัดนครราชสีมาให้ถึงฝั่งฝันแล้ว ยังเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า ถึงสมาชิกจะเป็นผู้หญิงทั้งวง แต่พลังผู้หญิงดูถูกไม่ได้
“อภิวุฒิ มินาลัย” อาจารย์ผู้ควบคุมวง Suranaree Girls Wind Symphony บอกเล่าด้วยความตื้นตันถึงเบื้องหลังความสำเร็จของวงในครั้งนี้ว่า โรงเรียนสุรนารีวิทยาก่อตั้งวงดนตรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 แต่เพิ่งเปลี่ยนจากวงโยธวาทิตประเภทแปรขบวน เป็นการนั่งบรรเลงคอนเสิร์ตเมื่อ พ.ศ. 2558 เพราะอยากพัฒนาศักยภาพการบรรเลงดนตรีของนักเรียนให้ก้าวไปอีกขั้น โดยสมาชิกของวงประกอบด้วยนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีใจรักในเสียงดนตรี
“เวลาที่ฝึกซ้อม ผมไม่เคยกดดันว่าต้องชนะ เพราะการแพ้หรือชนะไม่สำคัญ ตราบที่เราทำอย่างดีที่สุด ผมมองว่าการที่ส่งนักเรียนเข้าประกวด เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพที่มี เพราะถ้าไม่เช่นนั้น โอกาสที่จะได้เล่นในฮอลล์ใหญ่ๆ ที่ได้มาตรฐานอย่างหอประชุมมหิดลสิทธาคาร แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือต่อให้จัดแสดงคอนเสิร์ตกันเอง ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องหาสถานที่ จัดทำสูจิบัตร และที่สำคัญ ยังไม่รู้ว่าจะมีคนมาดูหรือเปล่า ดังนั้นการที่มีเวทีประกวดเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสที่ต้องทำให้เต็มที่อย่างดีที่สุด”
สำหรับชัยชนะที่ได้รับนั้น อาจารย์อภิวุฒิมองว่า เป็นผลจากความทุ่มเทและมุ่งมั่นของสมาชิกทุกคน ที่นำข้อผิดพลาดและประสบการณ์จากปีก่อนๆ มาพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง “ปีก่อนหน้านี้ที่มาแข่ง เราได้คะแนนระดับ Gold Class คือระดับความสามารถ 85 คะแนนขึ้นไป แต่ยังไม่ถึงรางวัลชนะเลิศ เรากำความพ่ายแพ้กลับไป พร้อมเก็บประสบการณ์ที่ได้กลับไปพัฒนาและต่อยอดให้ดีขึ้น จนในที่สุดก็ทำความฝันสำเร็จ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดที่เรียกว่าหินที่สุด”
จากชัยชนะบนเวทีการประกวด “วงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2562” เป็นแรงผลักดันให้วง Suranaree Girls Wind Symphony ไปคว้าชัยในการประกวดอีกหลายรายการ เช่น ประกาศนียบัตรระดับความสามารถเหรียญทอง สามารถเป็นตัวแทนไปประกวดในระดับโลกได้
“ผมเชื่อเสมอว่าเด็กไทยมีความสามารถ แต่สิ่งที่พวกเขาขาด คือโอกาส การที่คิง เพาเวอร์ เข้ามาสนับสนุน ทำให้เด็กๆ มองเห็นว่าความเชื่อที่จะนำพาพวกเขาไปพิชิตความฝันนั้นเป็นไปได้ โดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ” อาจารย์อภิวุฒิกล่าวปิดท้าย
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าคนไทยมีพลังในตัวเองอยู่แล้ว เราเป็นชนชาติที่เก่ง
ยิ่งเมื่อคนไทยหลอมรวมใจเป็นหนึ่งแล้วเมื่อตั้งใจทำอะไรก็ทำได้ ก็สำเร็จได้ไม่ยาก
แพ้คือประสบการณ์ ความมุ่งมั่นจะพาไปสู่เป้าหมาย
เพราะความรักในเสียงดนตรีที่ไม่เคยจางหายไปกับกาลเวลา จึงเปรียบเสมือนสายใยเส้นบางๆ แต่เหนียวแน่น ที่ทำให้ “บิ๊ก–สุพัฒน์ หาญพัฒนชัย” หนึ่งในสมาชิกวง Siam Saxophone Quartet (SSQ) ยังคงมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นดนตรีกับวงที่เขาตั้งขึ้นมาเมื่อ 12 ปีก่อน
ที่ผ่านมา วง SSQ ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์บนเส้นทางดนตรีมากมาย นับตั้งแต่ก่อตั้งวงเมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็สามารถคว้าแชมป์รายการ Asian Symphonic Band Competition 2009 ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้วงได้แจ้งเกิดและได้รับเชิญไปแสดงดนตรีในเวทีต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสโลวีเนีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น โครเอเชีย สิงคโปร์ รวมทั้งแคนาดา
แม้วันนี้สมาชิกในวงจะหมุนเวียนมาจนถึงรุ่นที่ 3 แล้ว แต่สุพัฒน์ในฐานะสมาชิกรุ่นบุกเบิก เป็นเพียงคนเดียวในวงที่ยืนหยัดมาตั้งแต่ก่อตั้งวงสมัยเป็นนักเรียนมัธยม ยังแน่วแน่ด้วยปณิธานที่อยากจะยกระดับมาตรฐานการเล่นดนตรีของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ
“ผมเรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เล่นดนตรีมาตลอด จนถึงวันนี้ก็ยังมาเป็นอาจารย์สอนดนตรี ส่วนตัวผมมองว่าการประกวดเป็นเวทีที่ช่วยวัดระดับว่า วงของเราอยู่ในระดับไหนมากกว่าแค่การแพ้ชนะ สำหรับสมาชิกของวงเราเปลี่ยนมาหลายรุ่นก็จริง จนตอนนี้เป็นรุ่นที่ 3 แต่ก็เล่นด้วยกันมา 3 ปีแล้ว โดยคุณสมบัติสำคัญของสมาชิกในวงเรา คือต้องมีทัศนคติที่ดีกับการเล่นดนตรี เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นชนวนที่จุดประกายไปสู่คุณภาพการเล่นที่ดีตามมา”
ด้วยความรักในดนตรีที่ไม่เคยจาง และยังหมั่นฝึกฝนเพื่อพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ ทำให้ตั้งแต่ปีแรกที่ทราบข่าวว่าจะมีการประกวด “วงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย” ก็ทำให้หัวใจของสมาชิกวง SSQ เต้นแรงอีกครั้ง
“ปีแรกที่เรามาประกวด เราไม่ได้รางวัล จนปีล่าสุด วง SSQ ได้รางวัลรองชนะเลิศจาก Class C วงเล็ก ประเภทประชาชนทั่วไป ส่วนอีกวงที่ผมเล่นด้วย คือวง Bangkok Saxophone Collective เข้าชิง Class A วงใหญ่ ประเภทประชาชนทั่วไป ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แต่ก็ไม่เป็นไร ผมตั้งใจว่าในการแข่งขันปี พ.ศ. 2563 จะกลับมาสู้อีกครั้ง แพ้ชนะเป็นอีกเรื่อง เพราะแค่ได้มีโอกาสมาเล่นดนตรีที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร ซึ่งเป็นหอประชุมที่เรียกว่ามีความพร้อมที่สุดในประเทศไทย เป็นหอประชุมเดียวที่รองรับการเล่นดนตรีแบบอะคูสติก จึงถือเป็น Final Destination ของนักดนตรี ก็ถือว่าที่สุดแล้ว แต่ผมก็จะพยายามอย่างเต็มที่ เพราะเวทีนี้ถือว่าเป็นที่สุดของการประกวดด้านดนตรีจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม สุพัฒน์ หรืออาจารย์บิ๊ก ที่หลายคนรู้จัก สะท้อนมุมมองอย่างน่าสนใจว่า ด้วยความที่เป็นอาจารย์ด้านดนตรี เวลามาแข่งก็ยิ่งกดดันแน่นอน แต่ไม่ใช่เพราะกลัวแพ้ แต่เป็นแรงกดดันที่ทำให้ต้องเล่นอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างว่ามาตรฐานของวงอยู่ตรงไหนมากกว่า แพ้ชนะเป็นสิ่งที่กรรมการตัดสิน
“โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าคนไทยมีพลังในตัวเองอยู่แล้ว เราเป็นชนชาติที่เก่ง ยิ่งเมื่อคนไทยหลอมรวมใจเป็นหนึ่งแล้วเมื่อตั้งใจทำอะไรก็ทำได้ ก็สำเร็จได้ไม่ยาก สำหรับวงการดนตรีของไทย หลายปีที่ผ่านมาการศึกษาด้านดนตรีในไทยพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด คนเริ่มจับตามองมากขึ้น ยิ่งมีผู้ใหญ่เข้ามาให้การสนับสนุน จัดให้มีการประกวด ยิ่งกระตุ้นให้วงการพัฒนา” นักดนตรีหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
ความเป็นไทยได้เฉิดฉายสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง เมื่อนักฟุตบอลสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้
พร้อมใจกันสวมแจ็กเก็ตรุ่นพิเศษลงสนามในช่วงพิธีเปิดการแข่งขันในวัน Boxing Day เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปีที่ผ่านมา
ผ้ามัดย้อมจากคีรีวง เจิดจรัสท่ามกลางสายตาชาวโลก
ความเป็นไทยได้เฉิดฉายสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง เมื่อนักฟุตบอลสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้พร้อมใจกันสวมแจ็กเก็ตรุ่นพิเศษลงสนามในช่วงพิธีเปิดการแข่งขันในวัน Boxing Day เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้เปิดบ้านต้อนรับสโมสรลิเวอร์พูล ดวลแข้งส่งท้ายปี พ.ศ. 2562 โดยแจ็กเก็ตรุ่นพิเศษนี้เป็นการผสมผสานเทคนิคการย้อมสีของภาคใต้จากชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช (สีเหลืองทองช่วงล่าง) และภาคเหนือจากชุมชนตะเคียนปม จังหวัดลำพูน (สีฟ้าครามช่วงบน) นอกจากนั้นบนเสื้อแจ็กเก็ตยังปักโลโก้สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ไว้ที่อกด้านซ้าย พร้อมปักรูปธงชาติไทยไว้ที่แขนข้างซ้าย และธงชาติอังกฤษไว้ที่แขนข้างขวา
ใครจะคิดว่า เบื้องหลังผลงานนี้จะเกิดจากน้ำพักน้ำแรงและความมุ่งมั่นของชาวบ้านจากหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาทางภาคใต้ของไทย ที่นำผลผลิตในหมู่บ้านมาสกัดเป็นสีธรรมชาติ ผสานภูมิปัญญาในการมัดย้อมอันเป็นเอกลักษณ์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศให้โลกรู้ว่า พลังคนไทยยิ่งใหญ่แค่ไหน
นอกจากเสื้อแจ็กเก็ตแล้ว ยังมีของที่ระลึกสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดทำเป็นลิมิเต็ด เอดิชั่น ภายใต้ชื่อ From Leaves to Lively Thai Dye Collection ของที่ระลึกชุดพิเศษนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความงดงามของธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดเป็นสินค้าผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีทั้งเสื้อยืดแขนสั้น-แขนยาว เสื้อเชิ้ต หมวก กระเป๋าแบบต่างๆ ลูกบอล และพวงกุญแจ รวม 17 แบบอีกด้วย
หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังพลังเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ คือ “อุไร ด้วงเงิน” ผู้นำกลุ่มใบไม้คีรีวงที่มีสำนึกรักบ้านเกิดอยู่เต็มหัวใจ แม้หลังจากเรียนจบจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ พักใหญ่ แต่ในวัยใกล้ๆ 30 ปี เธอตัดสินใจโบกมือลากรุงเทพฯ กลับมาใช้ชีวิตที่หมู่บ้านคีรีวง ซึ่งเธอบรรยายให้เห็นภาพตามว่า ในอดีตนั้นถนนยังเป็นลูกรัง ไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก “ตอนที่กลับมา เราพยายามหาวิธีว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ เพราะลำพังพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรที่มีคงไม่พอ คำตอบที่ได้ คือต้องหาอาชีพเสริม แต่อาชีพที่ว่าคืออะไร เพราะแม้ในเวลานั้นจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้นำผลผลิตมาแปรรูป แต่ก็ไม่ยั่งยืน เพราะขายได้เฉพาะในท้องถิ่น ไม่สามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้”
ตอนนั้นอุไรคิดถึงเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เพราะถ้าย้อนไปกว่า 20 ปีที่แล้ว ตลาดเครื่องนุ่งห่มไทยยังมีแต่ผ้าทอ ยังไม่มีผ้าพื้นเมือง จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่น่าสนใจ บวกกับตอนนั้นเธอเห็นแล้วว่า เทรนด์สินค้ารักษ์โลกจะมาแรง จึงริเริ่มนำผ้าฝ้ายมามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดแข็งของคีรีวง เพราะอุดมไปด้วยต้นไม้มากมายหลายชนิด
ต้องขอบคุณ คิง เพาเวอร์ ที่เข้ามาสานฝัน เพราะถ้าไม่มีบริษัทไหนกล้าซื้อของจากชาวบ้าน
เราคงไม่มีโอกาสได้แสดงพลัง เราดีใจที่เป็นจุดเล็กๆ ในการส่งต่อพลังคนไทยไปสู่ตลาดโลก
“ช่วงแรกเราไปเชิญอาจารย์มาสอนย้อมผ้าเบื้องต้น จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ ทดลองกันมาเรื่อยๆ หนึ่งในคำสอนของอาจารย์ที่ยังจำมาจนถึงทุกวันนี้คือต้นไม้ทุกต้นให้สีหมด แต่ให้สีไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องไม่หยุดทดลองและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะแค่อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนเปลี่ยน ต้นไม้ต้นเดิมก็อาจให้สีที่แตกต่าง ช่วงแรกๆ ยอมรับว่ายากมาก ทั้งการศึกษาเพื่อนำสีจากต้นไม้มาใช้ และการเปิดตลาดให้ลูกค้ายอมรับ เพราะคนที่จะใช้ผ้าพื้นเมืองจริงๆ นอกจากจะต้องมีใจรักธรรมชาติ สนใจงานชาวบ้าน ยังต้องให้เกียรติชาวบ้าน ไม่ดูถูกชิ้นงานชาวบ้าน ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นที่ออกมามีเพียงชิ้นเดียวในโลก ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำ ต้องมีความแม่นยำเรื่องสี รู้จักนำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย”
ตลอดเส้นทางการทำงาน 20 ปี อุไรยอมรับว่า ตลาดผ้ามัดย้อมเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการโอกาสที่จะพาให้สินค้าไปได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งการเข้ามาของ คิง เพาเวอร์ ถือเป็นอีกประตูแห่งโอกาสบานสำคัญ
“คิง เพาเวอร์ ติดต่อเรามาตั้งแต่ 3 ปีก่อน แต่เพิ่งได้มาร่วมงานกันเมื่อปีที่แล้ว เพราะแม้เราจะยินดีมากๆ ที่จะได้ร่วมงานกับ คิง เพาเวอร์ แต่เราก็ต้องมั่นใจก่อนว่ากลุ่มเรามีความพร้อมมากพอ เราใช้เวลาเตรียมตัวเพื่อปรับการบริหารจัดการภายใน การวางแผนการผลิต เพราะสินค้าของเราส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ยิ่งหมู่บ้านเราอยู่ในทำเลที่รับมรสุมทั้งจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย เราต้องวางแผนให้ดีว่า ถ้ามรสุมเข้า ไม่มีแดดให้ตากผ้าที่มัดย้อม เราจะยังผลิตสินค้าได้ตามที่ต้องการหรือไม่”
หลังจากเตรียมความพร้อมจนมั่นใจถึง 60% ส่วนอีก 40% อุไรมองว่าเป็นการแก้ปัญหาหน้างาน จึงกลายเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับทีมดีไซเนอร์ของ คิง เพาเวอร์ โดยการทำงานครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านได้พัฒนาทักษะ ทั้งเรื่องการดีไซน์ การทำงานภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลา จะทำงานตามใจเหมือนอย่างเคยไม่ได้ ต้องทำงานอย่างมีระบบ ซึ่งผลจากความมุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจ ในที่สุดคีรีวงก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ถึงจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็สามารถผลิตสินค้าได้ครบตามออร์เดอร์ สามารถนำสินค้าไทยออกสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“เป้าหมายจากนี้ เราไม่ได้ต้องการขยายกลุ่มให้ใหญ่ขึ้น แต่เราต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มให้ดีขึ้น ทุกวันนี้นอกจากผลิตสินค้า เรายังเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน เพราะเราอยากเป็นตัวอย่างและจุดประกายให้หมู่บ้านอื่นๆ ได้นำไอเดียไปทำตาม เผื่อวันหนึ่งลูกหลานในหมู่บ้านจะได้ไม่ต้องจากบ้านไปทำงานที่อื่น แต่อยู่ในหมู่บ้านก็มีอาชีพ มีรายได้ที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้เหมือนกัน ซึ่งต้องขอบคุณ คิง เพาเวอร์ ที่เข้ามาสานฝัน เพราะถ้าไม่มีบริษัทไหนกล้าซื้อของจากชาวบ้าน เราคงไม่มีโอกาสได้แสดงพลัง เราดีใจที่เป็นจุดเล็กๆ ในการส่งต่อพลังคนไทยไปสู่เวทีโลก” อุไรกล่าวปิดท้าย
การที่ คิง เพาเวอร์ เชื่อมั่นในพลังคนไทย แม้แต่คนพิการ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม
ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะถึงแม้พวกเราจะพยายามแสดงพลังที่มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ยังต้องการโอกาสจากสังคม
“แก้วเป่า” ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย สร้างรายได้สู่ผู้ด้อยโอกาส
จากชีวิตที่แตกละเอียด ต้องกลายเป็นคนพิการตั้งแต่ในวัยเบญจเพส ทำให้ “ภพต์ เทภาสิต” รู้สึกสิ้นหวังและอยากลาโลก แต่เมื่อปลดล็อกทางความคิดว่า ชีวิตคนเรายังมีความหมายเมื่อเลิกคิดถึงแต่ตัวเอง จึงพลิกชีวิตให้ภพต์ไม่เพียงลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง แต่วันนี้เขายังเป็นอีกหนึ่งตัวแทนพลังคนไทยที่ด้อยโอกาส พิสูจน์ให้โลกทั้งใบได้เห็นถึงฝีมือเป่าแก้วของคนไทยที่ไม่แพ้ใครในโลก
“พอตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง ผมไปเรียนรู้อาชีพต่างๆ กว่า 30 อาชีพตั้งแต่ปั้นแป้งเป็นกุหลาบขาย ทำยาหม่อง ยาดม เทียนแฟนซี ทำไข่เค็ม กล้วยทอด ทำหลอดแอลซีดีใส่ในเทียนเจลและกระเป๋าต่างๆ แต่รายได้ก็ไม่มากพอ จนผมค้นพบว่า อาชีพไหนที่ทำยากและใช้เวลาเยอะ เราจะมีคู่แข่งค่อนข้างน้อย เลยผันตัวเองมาเรียนการเป่าแก้ว เพราะผมก็ชอบงานด้านศิลปะเป็นทุนเดิม มีประสบการณ์ปั้นแป้งมาบ้าง บวกกับมีพื้นฐานงานช่างสิบหมู่ เลยนำมาต่อยอด”
ภพต์ยอมรับว่า การเป่าแก้วเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ความอดทน และความระมัดระวังอย่างมาก เพราะแม้จะมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างแว่นกรองแสงและถุงมือยางแล้ว แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะต้องทำงานด้วยไฟที่มีอุณหภูมิสูงถึง 180 องศาเซลเซียส เพื่อหลอมละลายแก้ว แล้วค่อยๆ ยืดและหดแก้วให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการ
“ครั้งหนึ่งผมเคยพลาดทำแก้วกระเด็นโดนตรงน่อง จะเรียกว่าเป็นโชคช่วยหรือเปล่า เพราะด้วยความที่ผมเป็นอัมพาตครึ่งตัว เลยได้แค่กลิ่นไหม้ แต่ถ้าเป็นคนปกติคงแย่แน่ เพราะความร้อนระดับนี้โดนถูกผิวหนัง คือไหม้ถึงกระดูกได้เลย ผมถึงมองว่าเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือมาก สำหรับผม งานเป่าแก้วก็เหมือนกับการใช้ชีวิต เวลาเราเป่าแก้ว ถ้าเร็วไป แก้วจะร้าวและแตก เราต้องค่อยๆ เลี้ยงให้แก้วหลอมละลาย แล้วเราค่อยยืดและหดมัน แต่ถ้าปล่อยไฟมากเกินไป แก้วจะเริ่มหลอมละลาย เราก็จะไม่สามารถรวมตัวให้เป็นรูปร่างที่เราต้องการได้”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมาจับงานฝีมือที่ไม่ได้มีคนทำมากมาย แต่หนทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความที่ไม่มีความรู้ว่าจะนำผลงานไปสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งภพต์ยอมรับว่า ช่วงแรกที่รัฐเข้ามาส่งเสริมทั้งการฝึกฝีมือและการจัดหาอุปกรณ์ ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังขาดคือโอกาสที่จะเข้าถึงตลาด
“โชคดีที่ในยุคนั้น รัฐมีการส่งเสริมเรื่องการไปสู่อาเซียน คิง เพาเวอร์ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยขับเคลื่อน และประกาศให้นำสินค้าไปโชว์ ตอนนั้นมีแก้วเป่าหลายเจ้าเหมือนกันที่ส่งผลงานเข้าไป แต่สุดท้าย คิง เพาเวอร์ พิจารณาแล้วว่า ทางกลุ่มเรามีความเหมาะสม เพราะราคารับได้ คุณภาพสินค้ามีเอกลักษณ์ความเป็นไทย มีการใช้อัญมณีและคริสตัลเข้ามาเพิ่มมูลค่าในชิ้นงาน สินค้านอกจากจะสะท้อนความเป็นไทยผ่านธงชาติ ตุ๊กตุ๊ก และช้าง ยังเพิ่มลูกเล่นและมูลค่าให้สินค้าได้อย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น การทำช้างออกมาในหลากหลายอิริยาบถ ทั้งหมอบ ยืน มีแบบทรงเครื่องด้วย ซึ่งต่างจากในตลาดทั่วไปที่ตอนนั้นถึงมีช้าง แต่ก็เป็นช้างเปล่าๆ ไม่ได้มีเครื่องทรงหรือเอกลักษณ์พิเศษอะไร”
หลังจาก คิง เพาเวอร์ เข้ามาช่วยเปิดตลาด ภพต์บอกว่าทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นมาก จากเดิมผลิตแล้วรอขาย กลายเป็นตอนนี้ผลิตไว้แล้วมีตลาดแน่นอน สามารถวางขายเป็นของที่ระลึกที่ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีตลาดที่พร้อมรองรับตลอดทั้งปี ที่สำคัญ ไม่ได้มีแค่ลูกค้าคนไทย แต่ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติด้วย ข้อดีของการที่มีตลาดแน่นอน ไม่เพียงทำให้ภพต์และเพื่อนๆ ในกลุ่มสหกรณ์คนพิการมีรายได้ประจำที่มั่นคง ยังช่วยประหยัดต้นทุน สามารถสั่งวัตถุดิบได้ล็อตใหญ่ เนื่องจากมีออร์เดอร์แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น แท่งแก้ว สามารถสั่งได้จาก 10 กิโลกรัม เป็น 100 กิโลกรัม จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก นอกจากนี้ คิง เพาเวอร์ ยังเข้ามาให้ความรู้ในแง่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สินค้าตอบโจทย์ตลาดสากลมากขึ้นอีกด้วย
จากนี้ภพต์ตั้งใจว่า จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อแตกไลน์สินค้าให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรือมีการผลิตสินค้าที่เหมาะกับในแต่ละเทศกาล เช่น ช้างกามเทพสำหรับช่วงวาเลนไทน์ รวมทั้งมีการพัฒนาแบบใหม่ๆ ทุกๆ 3 เดือน “การที่ คิง เพาเวอร์ เชื่อมั่นในพลังคนไทย แม้แต่คนพิการ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะถึงแม้พวกเราจะพยายามแสดงพลังที่มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่ยังต้องการโอกาสจากสังคม ให้ผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาช่วย เปลี่ยนคนพิการจากที่เป็นเพียงผู้รับ ให้กลายเป็นผู้ให้ ที่สามารถดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว และช่วยเหลือสังคมได้เช่นกัน” ภพต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานสหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์คนพิการไทย กล่าวปิดท้าย