DestinationLifestyle

DESTINATION
Bangkok Art Biennale 2020
Escape Routes

By 29 October 2020 No Comments

BANGKOK ART BIENNALE 2020
ESCAPE ROUTES

การกลับมาเป็นครั้งที่สองของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติแห่งกรุงเทพมหานคร

ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สร้างสิ่งสวยงามจรรโลงใจ หรือเป็นสื่อกลางที่แสดงให้คนทั่วไปรับรู้ได้ถึงความรู้สึก ความคิด และจินตนาการของผู้สร้างเท่านั้น แต่ “ศิลปะ” ยังสามารถที่จะส่งต่อพลัง จุดประกายความหวัง และประคับประคองหัวใจให้กันและกันได้อีกด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต่างเผชิญหน้ากับความเป็นไปได้ที่คาดไม่ถึงมากมาย ท่ามกลางชีวิตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนราวกับเดินวนอยู่ในเขาวงกต “ศิลปินกลุ่มหนึ่ง” จึงถูกชักชวนกันมาร่วมหาทางออกในแบบฉบับตามที่แต่ละคนถนัด และนั่นจึงเป็นที่มาของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ภายใต้แนวคิด Escape Routes หรือ “ศิลป์สร้าง ทางสุข” เพื่อนำเสนอทางออกของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยที่รอให้คุณไปสำรวจด้วยตัวของคุณเองได้ทั่วกรุงเทพมหานคร

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 คือการกลับมาเป็นครั้งที่สองของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติแห่งกรุงเทพมหานคร หลังจากจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา จากความร่วมมือของ มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมี ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ของงาน ซึ่งในครั้งนี้จะมีผลงานทั้งของศิลปินระดับโลกและศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองทั้งสิ้น 82 คน จาก 34 ประเทศทั่วโลก นำมาจัดแสดงตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 11 แห่งด้วยกัน

โดยปกติแล้วเทศกาลศิลปะร่วมสมัยขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่จัดขึ้นทุกๆ สองปี (Biennale) อย่าง Venice Biennale อันลือลั่น ประเทศอิตาลี หรือ แบบที่จัดขึ้นทุกๆ สามปี (Triennale) อย่าง Setouchi Triennale ประเทศญี่ปุ่น ก็จะทำการจัดแสดงผลงานศิลปะกระจายไปตามจุดต่างๆ ในเมือง โดยเฉพาะแลนด์มาร์กที่มีความโดดเด่นและสัมพันธ์กับตัวผลงานนั้นๆ ทั้งแบบติดตั้งภายในอาคารและกลางแจ้ง นั่นจึงทำให้การเสพศิลปะแบบนี้แตกต่างจากการเดินชมนิทรรศการในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์แบบปกติ เพราะสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “การเดินทาง” ต้องมีการขึ้นรถ ลงเรือ ขี่จักรยาน หรือแม้แต่เดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ

อย่าง Setouchi Triennale เทศกาลศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นที่หมู่เกาะอันสวยสดงดงามแห่งท้องทะเลในเซโตะอุจินั้น ได้ทำการติดตั้งผลงานศิลปะกระจายไปตามเกาะต่างๆ ถึง 12 เกาะ บวกกับเมืองท่าอีก 2 เมือง จึงทำให้คนรักศิลปะผู้หลงใหลในการเดินทางต่างอิ่มอกอิ่มใจที่ได้เพลิดเพลินไปกับการสัมผัสความงามอย่างเต็มอิ่ม ทั้งจากผลงานศิลปะ จากทิวทัศน์ของธรรมชาติระหว่างทาง ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นอันเปี่ยมเสน่ห์

สำหรับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 นั้น ศิลปินทั้ง 82 คน ได้รับโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนี่เป็นช่วงเวลาที่มีประเด็นใหญ่มากมายที่กำลังเป็นที่สนใจ ทั้งโลกกำลังตื่นตัวกับปัญหาและความเป็นไปต่างๆ ซึ่งหนึ่งในหน้าที่สำคัญของการเป็นศิลปิน ก็คือการกระตุ้นเตือนให้เกิดการฉุกคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคม ผ่านผลงานศิลปะที่ล้อไปกับสถานที่ที่มันได้ถูกติดตั้งไว้นั่นเอง

สถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ที่ใช้จัดแสดงผลงานในครั้งนี้ประกอบไปด้วย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งรับบทบาทเป็นจุดศูนย์กลางของงาน, BAB Box @One Bangkok, The Prelude One Bangkok, The PARQ (เดอะ ปาร์ค) , มิวเซียมสยาม, ล้ง 1919, ริเวอร์ซิตี้แบงค็อก, สวนเบญจกิติ และอีก 3 แห่ง ได้แก่ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วัดรั้วเหล็ก), วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ซึ่งทั้งสามถือเป็นส่วนหนึ่งในไฮไลต์ของงานครั้งที่แล้ว เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันระหว่างงานศิลปะระดับโลกกับวัด สถานที่ที่ดูเผินๆ คล้ายจะไม่เข้ากันกับการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยเท่าไรนัก ซึ่งความน่าสนใจตรงนี้นี่เองที่ทำให้เราเลือกที่จะไปทำความรู้จักกับ 3 พระอารามหลวงคู่บ้านคู่เมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วัดรั้วเหล็ก)

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดประยูรฯ หรือที่คนรุ่นก่อนเรียกกันติดปากว่า วัดรั้วเหล็ก นั้น เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี ก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งที่มาของชื่อ “รั้วเหล็ก” เล่าขานต่อกันมาว่า เกิดจากเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สั่งรั้วเหล็กมาจากประเทศอังกฤษน้อมเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงขอพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงพระอารามที่ตนสถาปนาขึ้นใหม่นั้นเอง โดยใช้น้ำตาลทรายอันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศในเวลานั้น แลกมาแบบ “น้ำหนักต่อน้ำหนัก” นั่นคือ รั้วเหล็กมีน้ำหนักเท่าใด ก็ใช้น้ำตาลทรายแลกมาด้วยน้ำหนักเท่านั้น กระทั่งเกือบ 200 ปีต่อมา เรื่องเก่าตำนานรั้วเหล็กนี้ได้ถูกนำมาเล่าใหม่อีกครั้ง ผ่านผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า “Sweet Boundary: In the Light Tube” ของศิลปินไทย กมล เผ่าสวัสดิ์ ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ภายในบริเวณวัดประยูรฯ ยังมีสถานที่ที่สวยงามและมีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์หลากแง่มุมอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น พระอุโบสถฯ อันมีพระพุทธธรรมวิเชฏฐศาสดา พระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือชาวต่างชาติมาปิดทองจากประเทศญี่ปุ่น เป็นพระประธานอยู่ภายใน, วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกาและพม่า และอุทยานเขามอ (เขาเต่า) ภูเขาจำลองที่ตั้งอยู่ริมสระน้ำ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เต็มไปด้วยเต่าและตะพาบน้ำที่มีผู้นำมาปล่อยไว้

โดยในปีนี้ศิลปินที่จัดแสดงผลงานที่วัดประยูรฯ ได้แก่ บุษราพร ทองชัย และ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ศิลปินชาวไทย รวมถึง Ana Prvački ศิลปินเชื้อสายโรมาเนีย-เซอร์เบีย จากประเทศเยอรมนี

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดอรุณฯ เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก แต่เปลี่ยนมาเป็นวัดแจ้งเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จกลับจากการกอบกู้อิสรภาพคืนมาเป็นของไทยทางชลมารคมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวัดมะกอกนี้ในเวลารุ่งแจ้งพอดี ในขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งในประเด็นเรื่องชื่อนี้ เนื่องจากในนิราศเมืองเพชรบุรี วรรณกรรมตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏชื่อของวัดแจ้งอยู่ในนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดเด่นภายในวัดอรุณฯ คือพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่ประดับประดาไปด้วยชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผาหลากสีสันจากการค้าขายแลกเปลี่ยนกับจีน เปี่ยมคุณค่าทั้งในแง่ของความงามและประวัติศาสตร์ ซึ่งศิลปิน คมกฤษ เทพเทียน ได้หยิบยกเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศจีนดังกล่าว มาเล่าผ่านผลงานประติมากรรมชื่อ “สองเกลอ” ที่ได้ทำการผสมเอาลักษณะของตุ๊กตาอับเฉารูปนักรบจีน เข้ากับยักษ์สหัสเดชะเอกลักษณ์ประจำวัดแจ้ง ในรูปแบบตัวติดกันคล้ายแฝดสยามอินจัน ตั้งตระหง่านอยู่ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ผ่านมา

โดยในปีนี้ศิลปินที่จัดแสดงผลงานที่วัดอรุณฯ ได้แก่ Anish Kapoor ศิลปินชาวอินเดียเจ้าของรางวัลเทอร์เนอร์ ผู้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ โด่งดังมีชื่อเสียงจากการร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะระดับโลกมากมาย รวมถึงการเป็นผู้ได้รับสิทธิพิเศษในการใช้สี Vantablack หนึ่งในสีที่ดำที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา แต่เพียงผู้เดียว

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ พระอารามหลวงชั้นเอกและวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธาราม วัดเก่าแห่งเมืองบางกอกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึง พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ขนาดใหญ่ 4 องค์

นอกจากนั้นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ห้ามพลาด ได้แก่ วิหารพระพุทธไสยาส สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาส หนึ่งในพระพุทธปฏิมากรสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศด้วยความสูง 15 เมตร และความยาวถึง 46 เมตร โดยทำการสร้างองค์พระพุทธไสยาสขึ้นก่อนแล้วจึงค่อยสร้างพระวิหารครอบในภายหลัง ซึ่งในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 จิตต์สิงห์ สมบุญ ศิลปินและดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้ทำการแสดง ศิลปะสื่อแสดงสด ที่วิหารพระนอนแห่งนี้ทุกๆ วัน ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ด้วยการให้เหล่านักท่องเที่ยวสวมเสื้อคลุมสีขาวที่ปักคำว่า “ศรัทธา” ในภาษาไทย อังกฤษ และจีนไว้กลางหลัง ในขณะที่เดินเข้าไปในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คลอด้วยเสียงเหรียญตกกระทบลงบนก้นบาตร

โดยในปีนี้ศิลปินที่จัดแสดงผลงานที่วัดโพธิ์มีด้วยกัน 2 ท่าน ได้แก่ Anish Kapoor และ อัฐพร นิมมาลัยแก้ว ศิลปินไทยผู้สนใจในการสร้างภาพจิตรกรรมสามมิติ ด้วยการวาดภาพสีน้ำมันลงบนผ้าโปร่งแสง (ผ้ามุ้ง) แล้วนำมาซ้อนทับกันจนเกิดเป็นเหมือนภาพสามมิติ (Hologram) ความโดดเด่นของผลงานอยู่ที่ความเบาบาง ล่องลอย แต่สร้างเสน่ห์จากความลวงตาได้อย่างน่าสนใจ

สำหรับการเดินทางไปยังวัดทั้งสามนั้น สามารถเริ่มต้นที่วัดประยูรฯ จากนั้นค่อยไปต่ออีกสองวัดได้ไม่ยาก หากสะดวกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถจอดรถได้ที่ลานจอดรถของวัด หรือ ลานจอดรถใกล้เคียง อย่างสำนักเทศกิจหรือวัดกัลยาณมิตรฯ ก็ได้ หรือ หากเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา ก็ให้ลงที่ท่าเรือสะพานพุทธ แล้วเดินเท้าข้ามสะพานพุทธ ชมทิวทัศน์ข้างทางไม่กี่นาทีก็ถึงวัดประยูรฯ ส่วนวัดอรุณฯ จุดหมายต่อไปนั้นอยู่ห่างออกไปเพียงกิโลฯ กว่าๆ เดินชิลๆ ชมเมืองเก่า ถ่ายรูปเล่นก็เพลินไปอีกแบบ ปิดท้ายด้วยวัดโพธิ์ที่อยู่ห่างจากวัดอรุณฯ เพียงแม่น้ำกั้น นั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งตลาดท่าเตียนก็ถึงเลย โดยสามารถเข้าชมผลงานได้ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564 เวลา 08.30 – 17.30 น.

นอกจากศิลปินและสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ก็ยังทำการจัดแสดงในจุดต่างๆ พร้อมกับศิลปินที่น่าสนใจท่านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, แทน โฆษิตพิพัฒน์, โลเล, ไมเคิล เชาวนาศัย, เป็นเอก รัตนเรือง, ยุรี เกนสาคู, Ai Weiwei, Marina Abramović, Yoko Ono และอีกมากมาย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/index.php

TRAVEL TIPS

  • โปรดแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย สุภาพสตรีควรสวมเสื้อคลุมหัวไหล่ กางเกงหรือกระโปรงยาวคลุมเข่า
  • ที่จอดรถจํานวนจํากัดและอาจมีค่าบริการ
  • สถานที่กลางแจ้ง ควรจัดเตรียมอุปกรณ์กันแดดหรือฝนให้พร้อม

DESTINATION

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

https://www.bkkartbiennale.com/
https://www.watprayoon.com/
https://www.watarun1.com/
https://thai.tourismthailand.org/
https://commons.wikimedia.org/