ดร. ธรณ์ ธารงนาวาสวัสดิ์ ผู้ปลุกกระแสรักษ์โลกแห่งท้องทะเล
STORY
SURANGRAT KANBUBPHA
“ผมชอบอยู่ในที่โล่งๆ กว้างๆ ชอบธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก เวลาไปอุทยานต่างๆ ก็สนใจทั้งป่าทั้งทะเลไม่ต่างกัน แต่ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาคิดว่าจะเน้นเรื่องทะเลดีกว่า เพราะยังไม่มีคนทำงานด้านนี้ พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก็ตัดสินใจว่าจะเรียนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล คิดว่าตราบใดที่ยังมีชาวประมง มีนักท่องเที่ยว มีคนใช้ทะเลอยู่ วิทยาศาสตร์ทางทะเลก็สำคัญ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมผู้มีบทบาทสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของความรักที่มีให้กับทะเล ที่ส่งให้เขาก้าวเข้ามาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการทะเลแห่งชาติ กรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้เกิดโครงการสำคัญมากมาย ทั้งการปิดอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ การปฏิรูปอุทยานแห่งชาติทางทะเลด้วยพีพีโมเดล การฟื้นฟูทะเลและปะการังหลายแห่ง และที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 คือนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติก ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าจะสามารถทำได้จริงในประเทศไทย
ตอนนี้เรามาถูกทางแล้ว หากทำได้ตามโรดแม็ปที่ตั้งไว้อีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช้แก้ว ถุง หลอดพลาสติกทั้งหมด เราจะไปถึงมาตรฐานที่ใกล้เคียงยุโรปได้ภายใน 3-5 ปี
หลายสิบปีที่ผ่านมา การคลุกคลีอยู่กับแทบทุกเรื่องของทะเลไทย ทำให้ผศ. ดร.ธรณ์ เห็นว่าปัญหาที่เกี่ยวกับท้องทะเลนั้นเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะต้นตอที่เปลี่ยนจากการกระทำเพื่อมุ่งหาประโยชน์จากผืนน้ำกว้าง มาเป็นผลกระทบที่เกิดจากความไร้สำนึกรับผิดชอบของผู้คนในสังคม
“ผมทำตรงนี้มานานมาก เห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะ เมื่อ 40 ปีก่อนปัญหาโลกร้อนยังถูกพูดถึงน้อย ส่วนใหญ่ปัญหาของทะเลเกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง อย่างการระเบิดปลา เก็บปะการัง ซึ่งพอมีกฎหมายเข้ามาควบคุม เรื่องเหล่านี้ก็น้อยลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาจากการใช้ทะเลโดยตรง กลับกลายเป็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เราทำกำลังส่งผลกระทบกับทะเล ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เช่น คนแม่ฮ่องสอนทิ้งขยะก็มาถึงทะเลได้ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล หรือแม้แต่โลกร้อน ก็เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกร่วมกันทำให้โลกร้อน จนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่ง ปะการังฟอกขาว คือช่วงหลังมานี้ปัญหาไม่ได้เกิดจากการตั้งใจทำร้ายทะเล แต่เกิดจากผลของการไม่รับผิดชอบ การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ดีพอ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงและแก้ไขได้ยาก เพราะหากมีคนขโมยปะการัง เราสามารถจับได้ง่าย แต่เรื่องทิ้งขยะ ทุกคนทิ้งเหมือนกันหมด แล้วจะจับใคร ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาที่ต้องใช้อย่างอื่นในการจัดการด้วย ไม่ใช่กฎหมายเพียงอย่างเดียว”
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทะเลและโลกในทุกวันนี้ ทำให้บุคลากรผู้มีบทบาทสำคัญต่อทะเลไทยอย่างผศ. ดร.ธรณ์ ไม่เพียงแค่เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นทั้งนักวิชาการ นักวางกลยุทธ์ และที่ปรึกษา ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาให้กับทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาด้านขยะทะเล ซึ่งหลังจากเป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์ให้งดใช้ถุงพลาสติกมากว่า 20 ปี วันนี้เมื่อนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกถูกประกาศใช้อย่างจริงจัง ก็เริ่มเห็นผลว่าสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้จริง อาจารย์ธรณ์เผยว่า เฉพาะเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เพียงเดือนครึ่ง ประเทศไทยสามารถลดขยะพลาสติกได้มโหฬารมากกว่าที่ผ่านๆ มา ซึ่งเมื่อลดการเพิ่มขยะได้ ก็ช่วยให้ปัญหาขยะในทะเลดีขึ้นด้วย
“ตอนนี้ที่ทำข้อมูลมาพบว่า จากเมื่อก่อนปริมาณขยะในทะเลมีอยู่ 50,000 ตัน ลดลงมาเหลือ 30,000 ตันต่อปี ซึ่งถ้าเราเก็บให้ตายก็ลดได้แค่ 2,000 ตัน ฉะนั้นการลดตั้งแต่ต้นทางจึงเห็นผลกว่า ซึ่งเราเห็นแล้วว่าเราทำได้ และก็ยังมีความหวังว่าจะทำได้ดีขึ้น จึงมีโรดแม็ปลดพลาสติกต่อไป จากนี้ก็ต้องเดินหน้าต่อเรื่องของแก้วที่ใช้แล้วทิ้ง หลอดพลาสติกที่ใช้กันเยอะมาก ถุงตามตลาดก็ต้องลดด้วย ขวดน้ำพลาสติกก็ยังพบในทะเลจำนวนมาก ตอนนี้เรามาถูกทางแล้ว หากทำได้ตามโรดแม็ปที่ตั้งไว้อีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช้แก้ว ถุง หลอดพลาสติกทั้งหมด เราจะไปถึงมาตรฐานที่ใกล้เคียงยุโรปได้ภายใน 3-5 ปี” ผศ. ดร.ธรณ์ บอกเล่าถึงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติกคลี่คลายขึ้น
แต่แม้ว่าปัญหาพลาสติกจะเป็นวาระแห่งชาติ ทว่าผศ. ดร.ธรณ์ กลับมองว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย หากรู้จักเลือกใช้ และใช้ให้เป็น “คนยุโรปใช้พลาสติกมากกว่าคนไทยอีก แต่เขาไม่ได้ใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง เพราะพลาสติกมีกว่า 36,000 ชนิด สิ่งที่เราต้องจัดการ คือพลาสติกใช้แล้วทิ้งจนกลายเป็นขยะทะเล ฉะนั้นถุงที่ใช้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ถุงผ้า เพียงแต่ต้องไม่ใช้แล้วทิ้ง ให้นำกลับมาใช้ซ้ำเท่านั้น ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตรงนี้” นั่นเป็นสิ่งที่เขาพยายามสื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้และเข้าใจมาโดยตลอดผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีผู้ติดตามนับแสนราย
ในส่วนของทะเลไทย หากจะว่ากันตามตรง ผศ. ดร.ธรณ์ มองว่าสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับทะเล ณ ปัจจุบันนี้ไม่ได้เลวร้ายมากนัก ยังอยู่บนเส้นทางหรือโรดแม็ปที่วางไว้ โดยยึดตาม OHI หรือ Ocean Health Index ดัชนีชี้วัดที่เป็นสากล ซึ่งแยกเป็น 10 ด้าน ในแต่ละด้านก็มีคณะทำงานช่วยกันอย่างแข็งขัน อย่างด้านสัตว์ทะเลหายาก นับเป็นด้านที่ไทยเก่งอยู่แล้ว จึงก้าวไปข้างหน้าได้เร็วจนเป็นที่หนึ่งของอาเซียนและติดระดับท็อปของเอเชีย หรือด้านขยะทะเลก็ก้าวหน้าค่อนข้างไกล จากเดิมที่ก้าวแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่มาวันนี้นับว่าไปได้เร็วกว่าเดิมมาก ทว่าสิ่งที่อาจารย์ธรณ์เป็นห่วงและกังวล คือปัญหาน้ำเสียที่ยากต่อการแก้ไข
“น้ำเสียมาจากทุกบ้าน ทุกคนสร้างน้ำเสีย แต่น้ำเสียที่เข้าระบบบำบัดจริงๆ มีเพียงแค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น จริงๆ แล้วมีแผนแก้ แต่เราไม่มีงบประมาณ เพราะการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแต่ละแห่งต้องใช้งบประมาณ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งก็คงไม่ถูกต้องถ้าเราจะนำเงินภาษีของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียให้กับภูเก็ต ต่อให้ภูเก็ตบอกว่าทำรายได้ให้กับประเทศได้เยอะแยะ แต่นี่เป็นเรื่องของท้องถิ่น เราก็ต้องเข้าใจตรงนี้ ช่วงหลังจึงพยายามทำงานกับภาคเอกชนมากขึ้น และวางแผนพัฒนาในรูปแบบที่ยั่งยืน ซึ่งก็ต้องพยายามกันต่อไป”
สำหรับผศ. ดร.ธรณ์ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นปัญหาล้วนมาจากการขาดจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ฉะนั้นเขาจึงหวังเหลือเกินว่า ประเทศไทยจะมีความเข้าใจและความรับผิดชอบที่มากขึ้น เพื่อให้ทุกสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ท้ายที่สุดปัญหาต่างๆ จะส่งผลกระทบกลับมาหาตัวเราเอง
สุดท้ายเมื่อถามว่าทำงานมากมายขนาดนี้เหนื่อยบ้างไหม ผศ. ดร.ธรณ์ เผยรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ก่อนจะตอบว่า “เหนื่อยก็ต้องเหนื่อย มีมนุษย์คนไหนไม่เหนื่อยบ้าง ทุกเรื่องที่ผมทำ ผมไม่สนใจระหว่างทาง ผมสนใจตอนจบมากกว่า เมื่อจบแล้วจะถามตัวเองว่า จะหาเรื่องใส่ตัวต่อไปไหม (หัวเราะ) จริงๆ แล้วการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมสนุกนะ เพราะแน่นอนว่าเราอยากให้อะไรรอบๆ ตัวดีขึ้น พอเห็นขยะน้อยลง เต่ารอดตาย ไม่มีเต่ากินถุง เราก็จะแฮปปี้ อีกอย่างเรื่องแบบนี้เป็นเทรนด์โลก และจะเป็นเทรนด์ที่อยู่ไปอีกนาน ถ้าอยากอินเทรนด์ตลอดช่วงชีวิตของพวกเรา ก็มาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมกันสิครับ”