Fashion InsiderFlashFlash 134Number 134

Fashion Insider:
New Face of Fashion

By 18 August 2020 No Comments

STORY: TAWAN KONKAEW

PHOTOGRAPHY: COURTESY OF BRANDS

เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤต COVID – 19 นั้นส่งผลไปทุกภาคส่วนของธุรกิจและการดำรงชีวิตของคนทั่วโลก จนเกิดมาตรฐานการใช้ชีวิตใหม่แบบ New Normal ขึ้นมา ครั้งนี้เรามาพินิจดูกันว่าธุรกิจแฟชั่นอันสวยงามและชวนฝันนั้นปรับตัวกับคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดเข้ามาอย่างไรให้อยู่รอดและมีกำไรอย่างเปี่ยมสไตล์

ข่าวร้ายของวงการแฟชั่นนั้นไล่เรียงมาตั้งแต่การยื่นขอล้มละลายของเครือห้างสรรพสินค้าหรูอายุเก่าแก่กว่า 113 ปี ของสหรัฐอเมริกา อย่าง Neiman Marcus ที่ทำให้ต้องปิดร้านค้ากว่า 67 แห่งในทันที ต่อด้วย J. Crew ที่ยื่นขอล้มละลายต่อศาลรัฐเวอร์จิเนีย ด้วยภาระหนี้สินสะสมกว่า 1,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในตลาด Fast Fashion อย่าง Zara ก็ประสบปัญหาจนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างทันควัน โดย Inditex บริษัทแม่ของ Zara ที่ขาดทุนรายไตรมาสเป็นครั้งแรกช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการปิดร้านค้าชั่วคราวตั้งเเต่ปลายเดือนมกราคมถึงเมษายน เกือบ 90% จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ จนเหลือเพียง 965 สาขาเท่านั้นที่สามารถเปิดได้ในช่วงต้นปี สิ่งนั้นเองเป็นแรงกระตุ้นให้ยักษ์ใหญ่รายนี้เตรียมปิดร้านขนาดเล็กประมาณ 1,200 สาขาทั่วโลกภายใน 2 ปีที่จะมาถึง เพื่อโฟกัสเฉพาะสาขาใหญ่ที่มีสินค้าแบบครบวงจรและตลาดออนไลน์แทน

แต่จะมองว่าเป็นเรื่องร้ายทั้งหมดก็คงไม่ได้เพราะภายใต้เหตุการณ์นี้ผู้ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ นั้นก็คือลูกค้านั่นเอง เห็นได้จากสามจุดสังเกตุที่แบรนด์แฟชั่นทั้งหลายต่างปรับตัวขึ้นไปในแนวทางนี้กันหมด อย่างแรกคือ แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ทั้ง Hi-End และ Fast Fashion ต่างหันมาพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ของตัวเองให้สะดวก เข้าใจง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการช้อปปิ้ง อันเนื่องมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่อเนื่องช่วงเวลากักตัวอยู่บ้าน ทำให้ผู้บริโภคหลายคนหันไปสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากหลายเท่า นอกจากนั้นหลายแบรนด์ยังเน้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้าและพนักงานหน้าร้าน โดยให้มีการส่งข้อมูลและคอยอัพเดตเทรนด์สินค้าอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

สองเสื้อผ้าที่เปลี่ยนตามซีซั่นจะมีความชัดเจนน้อยลง โดยดีไซเนอร์จะไปโฟกัสกับการออกแบบเสื้อผ้าที่ใส่ได้ตลอดปี เริ่มกันที่ GUCCI ที่ประกาศลดการจัดแฟชั่นให้เหลือเพียงปีละสองครั้ง จากเดิมที่มีมากสี่ถึงห้าครั้งต่อปี หรือยักษ์ใหญ่ฟากปารีสอย่างแบรนด์ CHANEL ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมในคอลเลคชั่น Cruise 2020/21 ที่นำเสนอในรูปแบบวิดีโอความยาว 7 นาทีชื่อ Balade en Méditerranée ซึ่งถ่ายทำในสตูดิโอระหว่างการล็อกดาวน์ประเทศฝรั่งเศส โดยดีไซเนอร์ Virginie Viard นำเสนอเสื้อผ้าที่เป็นทั้งชิ้นเบสิกประจำวันแต่แฝงด้วยดีเอ็นเอในแบบของชาแนลเกินร้อย เช่น เสื้อคาร์ดิแกนผ้าทวีต กระโปรงทรงยาวที่ปรับเป็นชุดเกาะอกได้ เบลเซอร์สูททรงหลวม แต่เพิ่มลูกเล่นที่ชุดบิกินีและเสื้อเกาะอกปักเลื่อมตระการตา ที่ไม่ว่าจะใส่เมื่อไหร่ก็ดูไม่ตกยุค แมทช์ได้กับชิ้นเด่นที่เคยมีมาแล้วหรือแม้แต่กระทั่งวินเทจเดนิมที่สะสมไว้ในตู้เสื้อผ้า

จากแนวโน้มข้อสองสู่เทรนด์ข้อสามนั้นก็คือ การออกแบบส่วนใหญ่จะมุ่งไปทางที่เรียบง่าย มินิมัล ชิ้นงานทุกชิ้นจะให้ความสนใจกับคุณภาพ วัสดุ การตัดเย็บ และประโยชน์ใช้สอยที่ยาวนานชนิดที่ซื้อแล้วใช้ได้นานหลายปี ตัวอย่างที่เลื่อนอินสตราแกรมแล้วต้องเห็นก็คือ กระเป๋าใบใหม่จากสองแบรนด์ดัง อย่าง LOUIS VUITTON รุ่น “LV Pont 9” กระเป๋ารูปทรงคลาสสิกที่รวมความชิคและเรียบง่ายตามสไตล์สาวปาริเซียง ด้วยแรงบันดาลใจจากชื่อสะพานเก่าแก่ “Pont Neuf” กลางกรุงปารีส โดดเด่นด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมโค้งมนทำจากหนังวัวเรียบกริบหลากหลายสีสัน โดยเฉพาะสีเหลืองซัมเมอร์โกลด์ที่ขึ้น Waiting List กันเป็นเดือน มาพร้อมกับการประดับโลโก้วงกลมสีทองหรูหราไร้กาลเวลา ส่วนฟากแบรนด์ DIOR ก็ส่งกระเป๋า “Bobby” ทำจากหนังเรียบหรูโค้งคล้ายครึ่งวงกลม ตกแต่งด้วยตัวอักษรย่อ “CD” มีให้เลือกสามขนาดตามความชอบ แถมยังหลากหลายเฉดสีได้แก่ ดำ ครีม คาเมล รวมไปถึงแคนวาสลาย Dior Oblique   มาพร้อมกับสายสะพายที่เข้ากันทำจากหนังและผ้าแคนวาสลาย สามารถถอดออกหรือจับแมตช์สลับลวดลายได้อย่างที่สาวๆ รุ่นใหม่นิยมกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ได้เวลาที่สาวๆ จะปรับแนวคิดมาเลือกช้อปอย่างชาญฉลาดกับเทรนด์แฟชั่นยุค COVID-19 กันแล้ว