Lifestyle

Lifestyle
โควิด-19 กับสกิลการเอาตัวรอดของเหล่าเซอร์ไวเวอร์

By 15 July 2021 No Comments

วันนี้แม้ว่าโรคโควิด-19 จะไม่ใช่โรคใหม่ เพราะเราต่างคลุกคลีอยู่กับมันมากว่าสองปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาโควิดก็ไม่เคยทำให้รักของเราเก่าลงเลย เพราะขยันปรากฏสายพันธ์ใหม่ๆ เข้ามาสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้เราได้เพิ่มสกิลในการดูแลตัวเองกันอยู่เสมอ จนถึงวันนี้เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีความเชี่ยวชาญในระดับมืออาชีพในการดูแลตัวเองกันไปแล้ว เช่นเดียวกับ Power ที่ยังคงหมั่นดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างไม่ยอมปล่อยให้การ์ดตก ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นลองไปทบทวนกันหน่อยดีกว่า

ร่างกายต้องรอด จิตใจต้องนิ่ง

ร่างกายต้องรอด
จิตใจต้องนิ่ง

1. หมั่นล้างมือให้เป็นนิสัย ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 20 วินาที หรือหากต้องการความสุนทรีย์หน่อยก็ร้องเพลง Happy Birthday หรือเพลงช้างสัก 2 รอบ ไม่ว่าจะก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ ไอ จาม หรือหลังจากสัมผัสจุดเสี่ยงร่วมต่างๆ เช่น ราวบันได กลอน หรือลูกบิดประตู เป็นต้น ที่สำคัญอย่าลืมเช็ดมือให้แห้ง เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจายจากผิวที่มีความเปียกชื้นได้ง่ายกว่าผิวที่แห้ง

2. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ยิ่งสถานการณ์ช่วงนี้แนะนำให้สวม 2 ชั้นไปเลย โดยสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ด้านในแล้วสวมทับด้วยหน้ากากผ้าที่ด้านนอกเพื่อความกระชับ ซึ่งหน้ากากผ้านั้นต้องหมั่นซักทำความสะอาดอยู่เสมอ

3. รับประทานอาหารปรุงสุกสดใหม่ สะอาด และควรใช้ช้อนส้อมส่วนตัว

4. รักษาร่างกายให้อบอุ่น แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ เหนื่อยหอบ หรือเป็นผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่แสดงทีท่ารังเกียจจนเกินงาม ไม่ควรสร้างตราบาปให้ผู้ป่วย อย่าลืมว่าโควิด-19 เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ และหลังจากหายแล้วเขาเหล่านั้นสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และเราเองก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกันหากได้รับเชื้อ

6. รู้อารมณ์ตัวเอง หาวิธีผ่อนคลายความเครียดในแบบที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ฝึกสมาธิ ที่สำคัญคือ อย่าใช้เครื่องดื่มมึนเมา หรือสารเสพติด มาช่วยในการผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะไปกันใหญ่

7. รับสื่ออย่างมีสติ ไม่หมกมุ่นจนเกินไป ลดการดูหรืออ่านข่าวลงบ้าง เหลือเพียงวันละครั้งสองครั้งก็เพียงพอ และควรต้องเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ มิเช่นนั้นอาจเกิดเป็นความเครียดโดยใช่เหตุ

8. สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พร้อมคลายความกังวลใจให้กับคุณตลอด 24 ชั่วโมง

ในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และผู้มีโรคประจำตัว ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด รวมถึงบุคคลใกล้ชิดต้องหมั่นเฝ้าระวังความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย จิตใจ หรือพฤติกรรม เพื่อจะได้หาหนทางช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

บ้านเรา…ห่างกันสักพัก แต่รักเหมือนเดิม

บ้านเรา…ห่างกันสักพัก
แต่รักเหมือนเดิม

จากสถานการณ์ตอนนี้ Social Distancing ยังคงต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ ควรเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่เว้นแม้แต่ที่บ้าน! การเว้นระยะห่างจากคนรอบข้างอย่างน้อย 2  เมตร หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม จะช่วยทุเลาความรุนแรงของการระบาดได้ เพราะฉะนั้นเรามาสร้างกฎบ้านกันเถอะ!

1. ทำข้อตกลงร่วมกันกับสมาชิกในบ้าน เน้นรักน้อยๆ แต่รักนานๆ หลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือสัมผัสใกล้ชิด แต่หากเว้นระยะห่างได้ยากด้วยพื้นที่ภายในบ้านมีจำกัด ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยร่วมด้วย นอกจากนี้ควรลดการออกนอกบ้าน งดการใช้จาน ชาม ช้อนส้อมร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องบอกความจริง หากใครเผลอไม่ทำตามกฎ และสมาชิกคนอื่นๆ ควรใช้การตักเตือนแต่ไม่กล่าวโทษหรือซ้ำเติม

2. ส่งความห่วงใยผ่านคำพูด สร้างกำลังใจดีๆ ให้กันและกัน สมาชิกในครอบครัวที่เคยแสดงความรักความห่วงใย ด้วยการสัมผัสหรือโอบกอด ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้การถามไถ่พูดคุยแบบรักษาระยะห่าง อาจส่งผ่านความห่วงใยผ่านอุปกรณ์สื่อสารในยามที่อยู่ไกลกัน รวมไปการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่นอกจากจะติดต่อกันได้กว้างไกลมากขึ้น ในทุกพื้นที่ที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้าถึงแล้ว เผลอๆ เราอาจจะได้ดาว TikTok คนใหม่ ที่พร้อมจะให้กำลังใจคนทั้งโลกก็ได้ ใครจะรู้

3. เรียนรู้สิ่งใหม่ ใช้โอกาสในยามที่ต้องอยู่บ้านสร้างงานอดิเรกยามว่าง เช่น ทำอาหาร ทำขนม ปลูกต้นไม้ หรืออาจฝึกทักษะใหม่ๆ ที่เคยอยากทำ เช่น วาดภาพ เล่นดนตรี ทำงานฝีมือต่างๆ หรือแม้แต่ลงเรียนออนไลน์หาความรู้ใหม่ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเบื่อหน่าย ผ่อนคลายความเครียดจากการอยู่บ้านนานๆ ได้ ดีไม่ดีอาจกลายเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้กับคนที่ค้นพบความสามารถของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้

4. จัดสถานที่ แยกของใช้ของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งควรมีคนดูแลหลักๆ เพียงคนเดียว หรือเต็มที่ไม่เกินสองคน ไม่ควรเปลี่ยนคนบ่อย และต้องแน่ใจว่าคนดูแลหลักต้องไม่ใช่ผู้เสี่ยงติดเชื้อ นอกจากนี้ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กด้วยเช่นกัน

ที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าการเว้นระยะห่างภายในบ้าน อาจทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกอึดอัดใจ ไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิตอย่างที่ควร แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องแย่ๆ เพราะกฎบ้านที่เราช่วยกันสร้างนั้น จะสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวได้ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในวงกว้าง และช่วยให้เราผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ในที่สุด

LIFESTYLE