DestinationLifestyle

DESTINATION
สักการะพระบรมสารีริกธาตุทั่วไทย
ไหว้พระขอพรรับปีใหม่เสริมสิริมงคล

By 5 January 2021 No Comments

เมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวพุทธมักจะพากันไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตกันตั้งแต่ต้นปี ด้วยเชื่อว่าการเริ่มต้นด้วยสิ่งดีๆ จะทำให้ตลอดทั้งปีนั้นมีแต่ความราบรื่น สุขกายสบายใจ และหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนต่างให้ความศรัทธา ด้วยมีบทบาททางสังคมและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ “พระบรมสารีริกธาตุ” ในพระธาตุเจดีย์ ที่ประดิษฐานอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศนั่นเอง Power จึงขอหยิบยกบางส่วนมาให้นักเดินทางสายบุญได้ทำความรู้จักและปักหมุดไว้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตในปีใหม่นี้

พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ถือเป็นวัตถุวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่อย่างสำคัญในทุกๆ ดินแดนที่นับถือพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นดั่งตัวแทนทางด้านกายภาพของพระพุทธเจ้า ประเทศไทยเองก็มีเรื่องเล่าขาน ตำนาน และความเชื่อ เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย และถึงแม้ว่าจะมีสถานะเป็นสิ่งสูงค่าที่ต้องเก็บรักษาอย่างดี แต่ก็สามารถหาโอกาสไปทำการสักการะได้ไม่ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะบรรจุอยู่ในพระธาตุเจดีย์ของวัดต่างๆ พร้อมเปิดรับผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวเสมอ ซึ่งนอกจากจะได้อิ่มอกอิ่มใจจากการกราบไหว้สักการะ ได้ร่วมทำบุญทำกุศลต่างๆ กับทางวัดแล้ว ยังได้เรียนรู้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะอันงดงาม อีกทั้งยังเพลิดเพลินไปกับสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

พระธาตุช่อแฮ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

ปูชนียสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่มาตั้งแต่สมัยโบราณ มีตำนานเล่าขานที่กล่าวถึงการสร้างพระธาตุต่างกันไป โดยหลักฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879 – 1881 ตั้งแต่สมัยที่ พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาต่างๆ ตามที่ปรากฏในพุทธประวัติ เมืองแพร่เป็นหนึ่งในนั้น โดยได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อม ทรงมอบหมายให้หาสถานที่สร้างพระธาตุแล้วนำไปบรรจุไว้ นับตั้งแต่นั้นจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่เจ้าครองเมืองแพร่จะต้องให้ความสำคัญกับพระธาตุและบูรณปฏิสังขรณ์ให้งดงามเรื่อยมา

พระธาตุช่อแฮ มีความหมายว่า เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี โดยทุกๆ ปีจะมีประเพณีการไหว้พระธาตุ งานจะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ (ตรงกับเดือนมีนาคม)  ถือเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัด เชื่อกันว่า อานิสงส์ของการนำผ้าแพรสามสีไปถวาย จะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรู พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นตามคติความเชื่อของชาวล้านนา พระธาตุช่อแฮ ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาลอีกด้วย

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ – ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีธรรมชาติ / พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง / พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน โรงเรียนสองพิทยาคม / แพะเมืองผี / แก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่ยม

พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม

“อุรังคนิทาน” ตำนานที่บอกเล่าเรื่องราวการสร้างพระธาตุต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้กล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ได้เสด็จมายังบริเวณแม่น้ำโขงตามพุทธประเพณี ซึ่งในเวลาต่อมาบริเวณดังกล่าวได้เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง โดยระหว่างนั้นพระองค์ได้โปรดรับสั่งไว้ล่วงหน้าว่า หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เหล่าพระอรหันต์จะนำเอาพระอุรังคธาตุ หรือ กระดูกหน้าอก มาประดิษฐานไว้ที่ “ภูกำพร้า” ริมแม่น้ำโขง  อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบันนี้ เพื่อให้เหล่าเทวดาและชาวเมืองทั้งหลายได้กระทำการสักการบูชาเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตสืบไป

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีวอก ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดแห่งเดียวตามคติความเชื่อของชาวล้านนาที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่ราบสูงของไทย และยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์อีกด้วย เนื่องมาจากพระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า ทั่วบริเวณนี้จะเป็นที่สืบทอดพระพุทธศาสนา โดยมีพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น เหมือนกับที่วันอาทิตย์เป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์นั่นเอง นอกจากนั้น มีความเชื่อสืบต่อกันว่า หากใครมานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือได้ว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” อันมีอานิสงส์ผลบุญเสริมมงคลเพิ่มพูนบารมีให้ผู้คนเคารพนับถือ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตยิ่งนัก โดยเทศกาลนมัสการพระธาตุนั้นจะจัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 21 – 29 มกราคม 2564

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ – หาดแห่ ทะเลอีสาน / ต้นไม้ยักษ์ วัดจอมศรี / อุโมงค์นาคราช / พระธาตุเรณูนคร / พระธาตุนครบุรีศรีโคตรบูร วัดกกต้อง / ตลาดโต้รุ่ง (ตลาดแลง ธาตุพนม) / ถนนสายวัฒนธรรมเมืองพนม (ถนนคนเดินประตูโขง ธาตุพนม)

พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

หนึ่งในศาสนสถานที่สำคัญที่ใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการถือว่ายังไปไม่ถึงเชียงใหม่ พระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1927 สมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ที่ได้จากเมืองศรีสัชนาลัย ที่ทรงเก็บไว้สักการบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี ขึ้นหลังช้างมงคล และทรงอธิษฐานว่า หากช้างเชือกนั้นหยุดตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุที่นั่น ปรากฏว่า พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพก็ส่งเสียงร้องสามครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณสามรอบแล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดดินลึกลงไป 8 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาทำเป็นหีบในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหินแล้วก่อพระเจดีย์ครอบ

ด้วยความสูงเกือบ 700 เมตร จากระดับที่ราบเชียงใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาสักการะพระธาตุดอยสุเทพนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่จะต้องผ่านด่านบันไดนาคขึ้นไป 300 ขั้น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปเพราะทางวัดก็มีบริการรถกระเช้าขึ้น-ลงดอยสุเทพ อำนวยความสะดวกระหว่างเวลา 05.30 น. – 19.00 น.

เชื่อกันว่าหากมาสักการะและอธิษฐานขอพรพระธาตุดอยสุเทพจะมีแต่ความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา โดยการสักการะนั้นควรเตรียมข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เดินเวียนขวา 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ ตั้งจิตอธิษฐานให้ดี และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งแต่ละทิศให้อานิสงส์ที่ต่างกัน ทิศเหนือ ขอให้มีปัญญาดุจพระจันทร์เพ็ญ ทิศใต้ ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้บวชในพุทธศาสนา ทิศตะวันออก ขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ และทิศตะวันตก เป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ นอกจากนั้นตามคติความเชื่อของชาวล้านนา พระธาตุดอยสุเทพ ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะแมอีกด้วย

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ – พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ / สวนสัตว์เชียงใหม่ / ถนนนิมมานเหมินท์ / อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) / หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ / อุทยานหลวงราชพฤกษ์

พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ วัดไชยธาราราม จังหวัดภูเก็ต

พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ ประดิษฐานอยู่ที่วัดไชยธาราราม หรือชื่อเดิมว่า วัดฉลอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 – 2544 เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ส่วนฐานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย บริเวณด้านข้างผนังของแต่ละชั้นจะมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ เหตุการณ์ตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในขณะที่ด้านบนส่วนของพระเจดีย์ จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และบริเวณรอบนอกของพระเจดีย์สามารถที่จะเดินออกไปชมทิวทัศน์อันงดงามของวัดและเมืองภูเก็ตโดยรอบได้

เดิมทีพระบรมสารีริกธาตุพระองค์นี้ เคยประดิษฐานในเจดีย์ของเมืองอนุราชปุระ เมืองหลวงเดิมของศรีลังกามาก่อน ต่อมาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของศรีลังกา ได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเยือนศรีลังกา เพื่อรับการถวายพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ – ย่านเมืองเก่าภูเก็ต / พิพิธภัณฑ์โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว / พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี ยอดเขานาคเกิด / แหลมพรหมเทพ

พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง อาจเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยในฐานะงานวัดสุดคลาสสิกใจกลางกรุงเทพมหานครของใครหลายคน เพราะที่นั่นคุณจะได้สนุกสนานไปกับชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน หรือแม้แต่บ้านผีสิงในสไตล์ย้อนยุค อย่างไรก็ตามพระอารามหลวงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแห่งนี้ ก็ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาสักการะพร้อมกับชื่นชมความงดงามอยู่เสมอ

เดิมที “ภูเขาทอง” นั้นถูกวางแผนให้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากติดปัญหาทางโครงสร้าง ต่อมารัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอดจึงสามารถสร้างได้สำเร็จ โดยได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2420 และครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2441 ซึ่งครั้งหลังนี้รัฐบาลอินเดียได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์แด่รัชกาลที่ 5 จากคำจารึกสืบค้นได้ว่าเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราช พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์

แม้ว่าการขึ้นไปสักการะองค์เจดีย์ภูเขาทองนั้นจะต้องออกแรงเดินขึ้นบันไดถึง 334 ขั้น แต่เมื่อไปถึงข้างบน นอกจากจะได้สักการะองค์เจดีย์ ได้สัมผัสกับพุทธสถาปัตยกรรมและพุทธศิลป์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว บริเวณลานทางเดินโดยรอบยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์มุมสูงของกรุงเทพมหานครอีกด้วย อย่างที่ใครหลายคนว่า ความงดงามช่วยให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งได้จริงๆ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่นๆ – พระบรมมหาราชวัง / โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร / นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ / ท่ามหาราช

DESTINATION

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://thai.tourismthailand.org/
https://www.museumthailand.com/
https://th.wikipedia.org/