Lifestyle

LIFESTYLE
10 คำถาม คลายข้อสงสัยเมื่อหายจากโควิด
พร้อมแนวทางการปฏิบัติเมื่อได้กลับบ้าน

By 28 October 2021 No Comments

มาถึงวันนี้ แม้ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั้งในทางการแพทย์ รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากไปกว่าที่เป็นอยู่

ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่รักษาหาย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม Hospitel หรือสถานที่รักษาตัวผู้ป่วยโควิด-19 ต่างๆ ที่ทางคุณหมอลงความเห็นว่าสามารถกลับบ้านได้ กลับมีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีความกังวล พร้อมๆ กับเกิดข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ อยู่หลายข้อ Power จึงได้รวบรวม “คำถามที่พบได้บ่อยเมื่อหายจากโควิด-19 ที่ทั้งน่าสนใจและเป็นประโยชน์ พร้อมด้วยคำตอบและคำแนะนำจากคุณหมอในการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้มีใครต้องติดเชื้ออีกมาฝากกัน

Q: โดยทั่วไปการรักษาโรคต้องใช้เวลากี่วันถึงจะหาย?

A: สถิติทางการแพทย์พบว่า โดยทั่วไปเมื่อนับจากวันที่ปอดติดเชื้อจนแสดงอาการให้รู้ เชื้อจะยังคงอยู่เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณหมอก็จะเผื่อสังเกตอาการยืดออกไปอีก 2 สัปดาห์ รวมเป็น 1 เดือน นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รักษาตัวใดๆ เป็นเวลา 14 วัน หลังจากนั้นเมื่ออาการดีขึ้น จึงสามารถกลับไปกักตัวรักษาต่อที่บ้านอีก 14 วันนั่นเอง

Q: เราจะรู้หรือแน่ใจได้อย่างไรว่าปอดไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่?

A: การที่หมออนุญาตให้กลับบ้านหลังจาก 14 วันที่เข้ารับการรักษานั้นก็หมายความว่า โอกาสที่จะหายจากโควิดนั้นสูงมากแล้ว ซึ่งวัดผลจากการที่ 1. อาการโดยรวมดีขึ้น 2. ค่าออกซิเจนดีขึ้น และ 3. ผลเอกซเรย์ปอดออกมาดี ยิ่งถ้ากลับมากักตัวรักษาต่อที่บ้านอีก 14 วัน โดยไม่มีอาการผิดปกติอะไรอีก ก็มั่นใจได้ว่าหายจากโควิดแล้ว

Q: หมออนุญาตให้กลับบ้าน แต่กลัวแพร่เชื้อให้คนอื่น ควรทำอย่างไร?

A: สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว นั่นคือเมื่อหมออนุญาตให้กลับบ้าน ความเป็นไปได้ที่จะกลับไปแล้วแพร่เชื้อต่อนั้นถือว่ามี แต่น้อย เพราะฉะนั้นคำแนะนำคือให้ผู้ป่วยที่รักษาหาย ใส่หน้ากากตลอดเวลาแม้จะอยู่ในบ้าน เว้นระยะห่าง ถ้าเป็นไปได้ก็ให้กักตัวแยกออกจากคนในบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะดีที่สุด

Q: หายแล้วยังคงต้องเอกซเรย์ปอดอีกหรือไม่?

A: โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยไปเป็นกรณีว่า หลังจากกักตัวรักษาต่อที่บ้านครบ 14 วันแล้ว จะต้องกลับมาเพื่อเช็กอาการของปอดอีกหรือไม่ โดยจะพิจารณาจาก 1. ความเสี่ยงของผู้ป่วย และ 2. ความรุนแรงของอาการในขณะที่ติดเชื้อ ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่แพทย์อยากติดตามผลการรักษา นั่นคือการตรวจ “การอักเสบของปอด” มากกว่า “การติดเชื้อใหม่”

Q: ปอดจะหายกลับมาเป็นปกติหรือไม่?

A: อธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า เมื่อปอดติดเชื้อโควิด-19 นั้น จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน 1. ปอดเริ่มติดเชื้อ 2. ปอดอักเสบ 3. ปอดเป็นแผล และ 4. ปอดเป็นพังผืด ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเจอครบทั้ง 4 ระยะนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง เมื่อเข้ารับการรักษาปอดก็สามารถที่จะกลับมาเป็นปกติได้ ยิ่งถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนก็จะยิ่งหายเร็ว

Q: ต้องมีเครื่องผลิตออกซิเจนที่บ้านหรือไม่?

A: อยู่ที่วิจารณญาณของแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางคนรักษาหายแล้วแต่ค่าออกซิเจนยังต่ำอยู่ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน แต่อาจจะแนะนำให้หาเครื่องผลิตออกซิเจนติดไว้ด้วย

Q: หายแล้วมีโอกาสติดเชื้ออีกหรือไม่?

A: แน่นอนว่า “มีโอกาส” ในขณะเดียวกันเมื่อรักษาหายก็เปรียบเสมือนว่าได้วัคซีน ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน แต่หากเจอความเสี่ยงอีก โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังฟื้นตัว ก็อาจทำให้อาการแย่ลงอีกครั้งได้

Q: ต้องใส่หน้ากากอีกนานแค่ไหน?

A: หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ก็จำเป็นต้องใส่หน้ากากต่อไป รวมไปถึงเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่อีกด้วย

Q: หายแล้วต้องฉีดวัคซีนเมื่อไหร่?

A: เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ระบาด แพทย์อาจจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนภายใน 2 สัปดาห์ แต่โดยปกติการเว้นระยะจะอยู่ที่ 1 – 3 เดือน

Q: หายแล้วกลับไปทำงานได้เมื่อไหร่?

A: เมื่อกักตัวรักษาต่อที่บ้านจนครบ 14 วันแล้วไม่มีอาการ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตคาดว่าระยะเวลาการกักตัวจะลดลงเหลือ 7 วัน โดยยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

ดูเหมือนว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำร้ายเราแค่ปอด แต่ยังทำลายความเชื่อมั่นหลายๆ อย่างลงไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ถึงแม้ว่าหลายคนจะได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ก็ยังกลัวว่าจะกลับไปติดอีกครั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ก็คือ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ติดตามข่าวสารและหาความรู้อยู่เสมอ หมั่นสังเกตอาการว่ามีความผิดปกติอีกหรือไม่โดยเฉพาะอาการเหนื่อยหอบ ที่สำคัญอย่าลืมดูแลสภาพจิตใจของตนเองให้ดี อย่ากังวลมากจนเกินไป การเอาชนะโรคอาจไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์ถนัด แต่การมีสติและทักษะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น เราก็ไม่เป็นรองใครเหมือนกัน

LIFESTYLE