เมื่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบอย่างที่เคยเป็น
ภาพยนตร์โฆษณา Thailand Smiles With You “Smiles at Your Home Ground” ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในด้านการดูแลเอาใจใส่ ด้านความบันเทิง และด้านการบริการ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อยไปกว่าใคร ทว่าพวกเขาเหล่านั้นกลับดูเหมือนว่ายังเปี่ยมไปด้วยพลังใจในการมีชีวิต ยังคงมีรอยยิ้มและความห่วงใยให้แก่กันเสมอ
มาทำความรู้จักกับคนธรรมดาที่มีหัวใจพิเศษ ผ่าน 3 รอยยิ้มสู้ชีวิตในภาพยนตร์โฆษณาฯ กับเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มเหล่านั้น ที่ยิ่งตอกย้ำให้เรารู้ว่า “รอยยิ้ม” มีพลังมากกว่าที่คิด เป็นพลังวิเศษที่มีอยู่ในคนไทยทุกคน รอยยิ้มเป็นดั่งกำลังใจที่ส่งไปเมื่อไรก็จะส่งต่อให้กันได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด และที่สำคัญการกลับลงสู่สนามแห่งชีวิตอีกครั้งนั้น บางทีก็จำเป็นต้องผ่านเส้นทางอุโมงค์ที่มืดมิด ก่อนจะพบกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง
“พี่ไม่เคยท้อ ไม่เคยแอบร้องไห้เลยนะ เพราะพี่เชื่อในอาชีพของพี่ เราอยู่ในครัวกับเพื่อนๆ มานาน อยู่มาสิบห้าปีแล้ว
คนอื่นๆ เพื่อนๆ ในครัวก็เริ่มบ่นแล้วว่าอยากกลับเข้าครัวใจจะขาด (หัวเราะ)”
กุสุมา ทองคำพูล
ยิ้มที่รวมพลัง
15 ปีก่อน สุ-กุสุมา ทองคำพูล ตัดสินใจไปสมัครงานที่ห้องอาหารของโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพ ท่ามกลาง Executive Chef, Sous Chef, Chef de Partie, Demi Chef, Commis I, Commis II และ Cook Helper ที่นั่น เธอเริ่มงานด้วยการทำหน้าที่ล้างจาน งานในครัวนั้นหนักทุกหน้าที่ โดยเฉพาะช่วงที่มีทัวร์จากนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักมา กระทั่งเชฟต้องดึงตัวเธอไปช่วยงาน ด้วยความขยันบวกกับการที่เชฟเห็นแววตอนที่ให้ลองทำอาหารจริง จึงค่อยๆ เลื่อนตำแหน่งให้จนเป็น Commis I ประจำอยู่ที่ครัวไทย
ก่อนหน้าเดือนมีนาคมที่โรงละครจะปิดตัวลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ครัวต้องรับลูกค้าวันละเป็นพันคน เครื่องครัว หม้อ กระทะ ล้วนใหญ่และหนักจนไม่สามารถยกได้ด้วยคนคนเดียว แม้จะเหนื่อย แต่ “พี่สุ” มีความสุขทุกครั้งที่เข้าครัว เธอเล่าว่ารักอาชีพนี้มาก เพราะได้ลองทำเมนูใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ได้มีโอกาสช่วยสอนน้องๆ และสนุกที่สุดเวลาได้ทำอาหารพร้อมกับเพื่อนๆ ในครัว
ความเปลี่ยนแปลงมาในชั่วข้ามคืน ทุกส่วนได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน หลายคนเลือกที่จะกลับบ้าน ทุกคนจำเป็นต้องปรับตัว อย่างพี่สุที่ผันตัวไปขายผลไม้เล็กๆ น้อยๆ ที่ศูนย์วัฒนธรรม แต่ไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่ทุกคนคิดตรงกันก็คือ เมื่อไรโรงละครสยามนิรมิตจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ความคิดถึงทำหน้าที่ของมัน พี่สุหวังลึกๆ ว่า ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่มันคือความผูกพันกับผู้คนนับร้อยในครัวมากกว่า ระหว่างนี้พี่สุดำเนินชีวิตไปด้วยความหวัง ความเข้าใจ และความเห็นใจ เมื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ก็ไม่เครียดจนทำให้ไม่สบายใจ ท้ายที่สุดพี่สุหวังว่า ถ้าครัวกลับมาเปิดอีกครั้ง แม้ว่าหลายๆ คนอาจจะไปทำอย่างอื่นกันแล้ว แต่ก็ยังอยากเจอทุกคนอีก
“คณะเราอยู่กันแบบครอบครัว ให้กำลังใจกันตลอด ก็บอกกันเสมอว่าอย่าไปท้อ
เดี๋ยวสักวันหนึ่งเราก็จะกลับมารวมกันเหมือนเดิม ได้กลับมาทำงานที่เรารัก”
อาธากร สุดเวหา
ยิ้มที่ไม่มีวันยอมแพ้
ด้วยความรักในวัฒนธรรมไทยและความสนใจในการแสดง ทำให้ ซัน-อาธากร สุดเวหา เลือกเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ โดยเป็นตัวลิงในการแสดงโขน กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านการแสดงที่โรงละครอักษรา จึงมีความฝันว่า สักวันหนึ่งถ้าเรียนจบจะมาสมัครเข้าทำงานที่นี่ให้ได้ จวบจนวันนี้ก็เป็นเวลา 4 ปี แล้ว กับบทบาทของการเป็น “คนเชิดหุ่นละครเล็ก” ประจำโรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์
แน่นอนว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้โรงละครจำเป็นต้องปิด นักแสดงและทีมงานของคณะหุ่นละครเล็กเกือบ 30 ชีวิต ต้องหยุดอยู่กับบ้าน โดยปกติแล้วหุ่นตัวหนึ่งจะใช้คนเชิดทั้งหมด 3 คน คนที่ 1 เรียกเชิดแกน บังคับศีรษะ ใบหน้า และแขนซ้าย คนที่ 2 บังคับขาทั้งสองข้าง และคนที่ 3 บังคับแขนขวา แต่การฝึกของอักษราจะไม่มีใครประจำตำแหน่งใดตายตัว ทุกคนจะต้องเชิดได้ทั้งหมด เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีนักแสดงคนใดได้รับอุบัติเหตุ จะได้ทำการเข้าเชิดหุ่นแทนกันได้ เพื่อให้การแสดงสามารถดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ซึ่งโควิด-19 ก็ถือเป็นอีกสถานการณ์ฉุกเฉินหนึ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าครั้งนี้จะไม่ต้องมีใครเชิดแทนใคร แต่อย่างไรก็จะต้องก้าวผ่านปัญหาไปด้วยกัน
ช่วงที่หยุดอยู่บ้านซันบอกว่าจะเรียกว่าหยุดก็คงได้ไม่เต็มปากนัก เพราะเขาและคนเชิดหุ่นอื่นๆ ยังคงซ้อมท่าทางการเชิด ทีมช่างก็คอยเช็กดูแลความเรียบร้อยของหุ่น เสมือนว่ากำลังเตรียมเพื่อรอวันที่จะกลับมาขึ้นเวทีพร้อมกันอีกครั้งในเร็ววัน และที่สำคัญคือแต่ละคนไม่เคยห่างหายกันไปไหน ยังคงถามไถ่เป็นห่วงกันและกันทุกวันไม่ต่างจากสมาชิกในครอบครัว ทำให้ไม่มีใครท้อหรือยอมแพ้เลย ทุกคนต่างเฝ้ารอและมีความหวังว่า เมื่อทุกอย่างลงตัวจะได้กลับมาแสดงร่วมกันกับคนในคณะอีกครั้ง
“พยายามคิดแต่สิ่งที่ดีๆ คิดถึงวันข้างหน้าไว้เสมอ ผมไม่ได้มองอยู่แค่โควิด
ผมจึงไม่เคยท้อ ผมสู้ต่อเสมอ โชคชะตาข้างหน้ามันไม่แน่นอนอยู่แล้ว ตอนนี้โควิดก็เหมือนเป็นด่านหนึ่งด่าน
ก็แค่คิดหาวิธีว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไรแค่นั้นเลย”
วัชรา ดำสมุทร
ยิ้มที่ชีวิตยังมีวันพรุ่งนี้เสมอ
เพราะชีวิตทั้งชีวิตผูกติดไว้กับทะเล บังมะ-วัชรา ดำสมุทร จึงรู้ดีว่า บางทีพายุโหมกระหน่ำ บางครั้งคลื่นลมทะเลคลั่ง แต่อย่างไรพระอาทิตย์ก็ยังทอแสงอยู่เสมอ และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บังมะอดทนที่จะบุกน้ำลุยคลื่นต่อไป ด้วยความเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าล้มได้ก็ต้องลุกขึ้นยืนได้
บังมะเป็นคนพื้นที่ เป็นเด็กเลพื้นเพเกาะยาว ด้วยความที่อยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็กๆ พอโตมาก็เลยทำงานกับทะเล จนวันหนึ่งมีความฝันที่จะทำสปีดโบ๊ต จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานตรงนี้ เริ่มจากเป็นเด็กเรือแล้วก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาเป็นกัปตัน จนท้ายที่สุดได้เป็นผู้จัดการเรือ หรือที่รู้จักกันในนาม หัวหน้าเรือทัวร์ ธุรกิจเรือทัวร์นั้นต้องดีลกับหลายฝ่าย ดีลกับอุทยานฯ ร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าต่างๆ ถือเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนไปในตัว ซึ่งวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้โปรแกรมทัวร์ที่แน่นตั้งแต่ราวๆ เดือนมีนาคมไปจนถึงปลายปีหายไปอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง หลายฝ่ายได้รับผลกระทบอย่างหนัก บริษัทเองก็จ้างคนไว้ไม่ไหว ในขณะที่บังมะยังคงอยู่ช่วยบริษัทอยู่แม้ว่ารายได้จะลดลงไปมากก็ตาม
บังมะเล่าว่า เคยเจอคลื่นลูกใหญ่ที่สุดในชีวิตสูงถึงหกเมตรมาพร้อมๆ กับลมแรง ตอนที่อยู่กลางทะเลโดยไม่มีทางหนี ต้องปะทะอย่างเดียว แต่ก็รู้ว่าต้องรับมืออย่างไร อย่าชนตรงๆ ต้องตะแคงวิ่งเฉียงๆ ผ่านคลื่นนั้นไป พอวันนี้มาเจอกับคลื่นโควิด จึงไม่ยอมแพ้และพยายามมองไปข้างหน้าด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ช่วงที่ล้มแบบนี้เป็นช่วงที่เจ็บที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องหาให้เจอว่าจะรักษาตัวเองอย่างไร โดยเริ่มจากให้กำลังใจตัวเอง และเมื่อยืนได้ก็ย่อมไปต่อได้อย่างแน่นอน