
เมื่อ ‘สุขอนามัย’ เป็นหัวใจสำคัญ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ผู้คนจึงหันมาให้ความสนใจในการดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลามากมายไปกับการล้างมือด้วยสบู่ พกสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้เสมอ เสมือนเป็นอวัยวะชิ้นที่สามสิบสี่ (ถัดจากโทรศัพท์มือถือ) หมั่นกินร้อนช้อนกลางไม่ได้ขาด และปฏิบัติตามมาตรการระยะห่างทางสังคมอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ว่าทำอะไรได้ เป็นต้องทำ เพื่อสุขอนามัยที่ดีในยามนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนอาจละเลยไปบ้างหรือไม่ได้ให้ความใส่ใจมากนัก นั่นก็คือการดูแลรักษาความสะอาดนาฬิกา อย่าลืมว่าแม้นาฬิกาอาจไม่ได้ไปสัมผัสสิ่งใดๆ โดยตรง แต่ก็ล้วนเผชิญหน้ากับความสกปรกมาด้วยเช่นกัน
และต่อไปนี้ คือคำแนะสำหรับการดูแลนาฬิกาเรือนโปรดของคุณ ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค และสามารถทำได้เองง่ายๆ ที่บ้าน

อยากให้นาฬิกาดูใหม่อยู่เสมอ
ง่ายมาก นั่นก็คือหมั่นทำความสะอาดหลังใช้งานทุกครั้ง แต่จะทำความสะอาดอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสายของนาฬิกา ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีทั้งสายหนังและสายโลหะ
ถ้าเป็น สายหนัง ไม่ควรโดนน้ำโดยเด็ดขาด เพราะอาจชำรุดและขึ้นราได้ง่าย ให้ใช้ผ้าแห้งสะอาดๆ เช็ดบริเวณสายก็เพียงพอ แต่สำหรับ สายโลหะ นั้น สามารถล้างทำความสะอาดได้เต็มที่มากกว่า ยิ่งถ้าสามารถถอดสายแยกจากตัวเรือนได้ ก็ควรถอด ระหว่างการล้างทำความสะอาด ให้ใช้แปรงขนนุ่มปัดฝุ่นตามซอกของนาฬิกาไปด้วย ส่วนตัวเรือนให้หาผ้าชามัวร์แห้งเช็ดโดยรอบ เป็นอันจบขั้นตอน

การดูแลนาฬิกาสายหนังและสายโลหะ
แนะนำว่า นาฬิกาทุกเรือนควรจัดเก็บลงกล่องใส่นาฬิกาอยู่เสมอ เพื่อป้องกันรอยขีดข่วน และควรหลีกเลี่ยงการจัดเก็บในห้องที่มีอุณหภูมิร้อน เพราะจะทำให้นาฬิกาและสายหนังเสื่อมสภาพได้
สำหรับนาฬิกาสายหนัง หากไม่ได้ใส่เป็นประจำ ควรนำออกมาผึ่งลมให้โดนอากาศบ้างอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และไม่ลืมที่จะนวดสายหนังอย่างเบามือ เพื่อช่วยยืดอายุหนังและป้องกันการเสื่อมสภาพ ส่วนนาฬิกาสายโลหะ ควรใส่ไว้ในกล่องพร้อมหมอนรองนาฬิกา เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้น จากการที่สายนาฬิกาไปกระทบเข้ากับฝาหลังของนาฬิกานั่นเอง
สำหรับคนที่มีเหงื่อมาก ควรผึ่งนาฬิกาไว้สักพักก่อนจัดเก็บลงกล่อง แต่ถ้าไม่มีกล่องเก็บนาฬิกา ตำแหน่งที่เก็บนาฬิกาได้ดีที่สุดคือ ให้หันหัวนาฬิกาขึ้น ห้ามคว่ำหน้าหรือวางตำแหน่งเม็ดมะยมไว้ด้านล่าง จะช่วยรักษากลไกของนาฬิกาให้เสถียรได้ และที่สำคัญไม่ควรวางนาฬิกาไว้ใกล้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากคลื่นกระแสแม่เหล็กอาจทำให้นาฬิกาเดินช้าหรือไม่เที่ยงตรงได้

ควรถอดนาฬิกาก่อนล้างมือหรืออาบน้ำ
ก่อนล้างมือ อาบน้ำ หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์นั้น ควรถอดนาฬิกาออกก่อน เพราะอาจทำให้คราบต่างๆ เข้าไปฝังอยู่ในซอกมุมของนาฬิกาได้ และควรสวมใส่เครื่องนาฬิกาหลังจากทาครีมหรือฉีดน้ำหอมเรียบร้อยแล้วด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่นาฬิกาขณะว่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำในสระหรือน้ำทะเล เพราะคลอรีนและโซเดียมจะทำให้นาฬิกาที่เป็นไวท์โกลด์ เยลโลว์โกลด์ พิงค์โกลด์ หรือแพลทินัม ทำปฏิกิริยากับสารเคมีเหล่านั้นจนเกิดเป็นคราบสีดำ อีกทั้งทองอาจจะหลุดจากตัวเรือนด้วย

การทำความสะอาดนาฬิกาที่ใส่ในทุกวัน
เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น คราบ และเชื้อโรคต่างๆ แนะนำให้ทำความสะอาดนาฬิกาที่ใส่เป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
สำหรับนาฬิกาที่เป็นไวท์โกลด์ เยลโลว์โกลด์ หรือพิงค์โกลด์ สามารถทำความสะอาดด้วยการใช้แปรงสีฟันขนนุ่มพิเศษที่มีขนาดหัวเล็ก ขัดเบาๆ เพื่อกำจัดฝุ่นและคราบโลชั่น โดยใช้น้ำอุ่นผสมกับน้ำยาล้างจาน ล้างในรอบแรก จากนั้นตามด้วยน้ำอุณหภูมิปกติอีกครั้ง
ข้อควรระวัง อย่าให้เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือโดนนาฬิกาเป็นดีที่สุด และการเก็บนาฬิกา ควรเก็บแยกเรือนแยกกล่อง เพราะการเก็บรวมเข้าไว้ด้วยกัน อาจทำให้นาฬิกาเกิดการกระทบกระแทกกัน ทำให้นาฬิกาเกิดความเสียหายหรือเป็นรอยได้
LIFESTYLE
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
www.rolex.com
www.cartier.com
www.omegawatches.com
www.gqthailand.com