Lifestyle

Lifestyle
12 ขนมพื้นเมืองยอดนิยม
เอกลักษณ์แห่งความอร่อยของภูเก็ต

By 27 August 2021 No Comments

ด้วยอาหารพื้นเมืองภูเก็ตนั้นมีมากมาย และเต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมอาหารที่สืบเชื้อสายบางส่วนมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่กาลก่อน จึงทำให้มีการผสมผสานวัฒนธรรมไทย-จีน ที่หลากหลาย รวมไปถึงอาหารส่วนใหญ่ที่มีชื่อออกไปทางจีนทำให้เราอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก และหลังจากที่ Power ได้พาเหล่านักเดินทางไปทำหลากหลายกิจกรรมกันมาพอสมควรแล้ว ครั้งนี้จะพาไปฝากท้องกับหลากเมนูขนมเลิศรส อันเป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ต ที่ได้รับความนิยมจากคนท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน และยังมีให้รับประทานกันอยู่ในปัจจุบัน แม้บางชนิดอาจจะหารับประทานได้ยากแล้ว ดังนั้นหากใครได้มีโอกาสมาเยือนภูเก็ตทั้งที ควรมีโอกาสได้ลิ้มลองกันดูสักครั้ง

เต้าส้อ

ขนมพื้นเมืองอันดับแรกๆ ที่คนจะนึกถึงยามที่มาเยือนภูเก็ตก็คือ เต้าส้อ ขนมมงคลที่ชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนนิยมทำรับประทาน เดิมมี 2 ไส้ คือ ไส้หวานที่ทำจากถั่วกวน และไส้เค็มที่ผสมไข่แดงเค็ม แต่ปัจจุบันมีการทำไส้ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ทุเรียน ชาเขียว นิยมรับประทานคู่กับกาแฟหรือชาได้ทุกช่วงเวลาที่ท้องหิว

เต้าส้อมีเนื้อแป้งที่กรอบนอกนุ่มในและแป้งบาง มีความคล้ายขนมเปี๊ยะ แต่ต่างกันที่ขนมเปี๊ยะนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่า และไส้จะเป็นไส้ฟักหรือที่เรียกว่าจันอับ หรือไส้ถั่วเหลือง เพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันร้านที่ขายขนมเต้าส้อจะมีมากมายหลายร้าน หารับประทานได้ทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต อีกทั้งยังเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับบ้านกันอีกด้วย

ขนมหม่อหลาว หรือ ขนมงาพอง

เป็นขนมพื้นเมืองของภูเก็ตและพังงา มีที่มาจากชาวจีนโพ้นทะเลในมณฑลฮกเกี้ยน ที่อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก ทำให้มีการผสมผสานระหว่างไทย-จีน หลายเรื่อง รวมถึงอาหารการกินด้วย ซึ่งขนมหม่อหลาวนั้น ตัวขนมทำมาจากแป้งข้าวเหนียวผสมเผือกบดละเอียด ทอดจนพองกรอบ ด้านนอกคลุกเคล้ากับงาขาวปิดแป้งทั้งชิ้น เวลารับประทานจะได้กลิ่นหอมจากงา กรอบนอกนุ่มใน มีรสชาติติดหวานเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นรสชาติของงาพองล้วนๆ เพราะด้านในไม่มีไส้ เรียกได้ว่าอร่อยจนแทบละลายในปากกันเลย

ขนมหม่อหลาว หรือ ขนมงาพอง สามารถหาซื้อได้ตามร้านขนมพื้นเมือง หรือร้านของฝากทั่วไป

อาโป๊ง

ถ้าพูดถึงขนมพื้นเมืองภูเก็ต รับรองเลยว่าต้องมีชื่อ อาโป๊ง ติดอยู่ในอันดับต้นๆ เดิมทีอาโป๊งเป็นขนมพื้นเมืองของมาเลเซียที่เรียกกันว่า ขนมเบื้อง ก่อนจะเข้ามาแพร่หลายในภูเก็ต เมื่อชาวมาเลเซียปีนังซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนย้ายเข้ามาพักอาศัย อาโป๊งจึงกลายมาเป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ตด้วยเช่นกัน

ด้วยรสชาติที่หวานหอมจากกะทิพื้นเมือง ซึ่งมีทั้งแบบกรอบนอกนุ่มใน และแบบแป้งหนานุ่มเสมอกันทั้งชิ้น ดูๆ ไปมีความคล้ายขนมถังแตก เหมาะเป็นของว่างไว้รับประทานเล่นระหว่างมื้อ ยิ่งได้รับประทานคู่กับชาไม่ว่าร้อนหรือเย็น ก็ยิ่งฟินไปกับความอร่อยแบบง่ายๆ แต่ครบรส เคล็ดลับความอร่อยของอาโป๊ง นอกจากสูตรการผสมแป้งแล้ว ยังขึ้นอยู่กับฝีมือในการละเลงน้ำแป้งลงบนกระทะก้นลึก ให้เนื้อแป้งเรียบเนียนเสมอกันเป็นวงกลม ยิ่งถ้าใช้เตาถ่านขนมจะยิ่งหอมอร่อยขึ้นอีกเท่าตัว

ร้านขายอาโป๊งเจ้าเด็ดในภูเก็ตมีอยู่หลายร้าน แต่ 2 ร้านที่ต้องบอกว่าห้ามพลาดก็คือ อาโป๊งแม่สุณี และ อาโป๊งโกเนี้ยว เจ้าเก่า ลองแวะไปชิมกันได้

บี้ผ้าง

จากแนวคิดที่ต้องการทำขนมที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น จึงเกิดเป็นขนมข้าวพองทอดกรอบสีเหลืองทอง ที่เรียกกันว่า บี้ผ้าง มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า ราดด้วยน้ำตาลเคี่ยวรสเค็มๆ หวานๆ มีกลิ่นหอมจากหอมเจียว เหมาะสำหรับเป็นของว่างรับประทานคู่กับเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะเป็นของฝาก เพราะเก็บไว้ได้นาน รับประทานง่าย อีกทั้งราคายังไม่แพงอีกด้วย แต่เวลารับประทานอาจต้องระวังสักหน่อย ด้วยตัวขนมที่อาจค่อนข้างแข็ง จึงไม่เหมาะนักกับคนที่มีปัญหาเรื่องฟันไม่แข็งแรง

บี้ผ้างสามารถหาซื้อได้ตามร้านของฝากทั่วไป แม้แต่ในตลาดเช้าหรือแผงขนมสดก็มี แต่ถ้าหากอยากรับประทานสูตรดั้งเดิม รวมถึงได้ดูการสาธิตทำขนมไปด้วย แนะนำร้านเค่งติ้น ซึ่งเป็นร้านต้นตำรับของร้านขนมพื้นเมืองเจ้าแรกๆ ของภูเก็ต

ซีกั๊วโก้ย

ขนมพื้นเมืองภูเก็ตเชื้อสายจีน เป็นหนึ่งในสิบสองขนมมงคลที่ใช้ในงานแต่งงานของชาวภูเก็ต โดยคำว่า ซีกั๊ว เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง แตงโม ซึ่งแตงโมเป็นผลไม้มงคลที่ชาวจีนนิยมใช้ในการตั้งโต๊ะไหว้ และมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง มียศถาบรรดาศักดิ์ การที่ขนมนี้ได้ชื่อว่าขนมแตงโม ไม่ได้แปลว่ามีส่วนผสมมาจากแตงโม แต่มาจากรูปลักษณ์ของขนมที่คล้ายแตงโมผ่าซีก นั่นคือ เนื้อขนมด้านล่างหรือฐานเป็นสีเขียวคล้ายเปลือกแตงโม ส่วนด้านบนอาจเป็นสีชมพู แดง หรือเหลือง แล้วแต่การผสมสีในแป้งขนมนั่นเอง

ซีกั๊วโก้ยมีรสชาติหวานอ่อนๆ เคี้ยวหนุบหนับ มีลักษณะเด่นอยู่ที่เนื้อขนมสีสวยที่เต็มไปด้วยฟองอากาศด้านใน เมื่อเอานิ้วแตะหรือกด เนื้อขนมจะมีความเด้งคืนรูป ให้ความรู้สึกหยุ่นๆ เหมือนฟองน้ำ ส่วนฐานเป็นแป้งกวนใบเตยคล้ายขนมชั้นของภูเก็ต เพียงแค่เคี้ยวเบาๆ ก็แทบละลายในปาก

ซีกั๊วโก้ยมีขายทั่วไปในตลาดเช้า ตามแผงขนมสด นิยมรับประทานคู่กับชาหรือกาแฟร้อนๆ ในตอนเช้า หรือเป็นของว่างระหว่างมื้อในตอนสาย

อังกู๊ หรือ ขนมเต่า

เป็นหนึ่งในขนมมงคลที่คนภูเก็ตเชื้อสายจีน นิยมนำมาเป็นเครื่องบวงสรวงในพิธีต่างๆ รวมถึงพิธีมั่วโง้ย หรือพิธีครบเดือนของเด็กแรกเกิด เพื่อเป็นการรับขวัญเด็กเกิดใหม่ และให้เด็กว่านอนสอนง่าย ซึ่ง “อัง” ในภาษาจีนหมายถึง สีแดงอันเป็นมงคล ในขณะที่ “กู๊” ก็คือเต่า หมายถึง อายุมั่นขวัญยืน นั่นเอง สีพื้นของขนมอังกู๊จะมีอยู่ 2 สี คือ สีแดง สำหรับใช้ในงานมงคล และสีขาว สำหรับงานอวมงคล แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นหลากสีมากขึ้นตามความต้องการของผู้ทำ แต่สำหรับงานอวมงคลยังคงให้เป็นสีขาวดังเดิม

ขนมอังกู๊จะมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆ ก็คือ ชนิดที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว และชนิดที่ทำจากแป้งสาลี อังกู๊ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวจะมีไส้ถั่วทองกวนอยู่ข้างใน นำไปกดลงพิมพ์รูปเต่าก่อนนำไปนึ่ง ในขณะที่อังกู๊ที่ทำจากแป้งสาลีจะไม่มีไส้ นิยมปั้นหรือเข้าพิมพ์เป็นตัวเต่า นำไปอบในเตาไฟ ก่อนนำออกมาทาสีแดง หากจะให้อร่อยยิ่งขึ้นให้นำไปชุบไข่ทอด

ขนมอังกู๊ยังสามารถหาซื้อรับประทานได้ทั่วไปตามตลาดสด หรือร้านรับฝากขายขนมช่วงเช้า

ขนมหัวล้าน

ขนมพื้นบ้านของภาคใต้ มีความนุ่มหนึบคล้ายขนมต้ม แต่ต่างที่ไส้ทำจากถั่วเขียวกวนกะทิเนื้อเนียนผสมน้ำตาล ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเหนียว นิยมทำแป้งเป็นสีเขียวที่ได้จากใบเตย ขนมหัวล้านที่อร่อยตัวแป้งต้องเนียนนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากใบเตย ส่วนไส้ถั่วเขียว ก็ต้องเนื้อเนียนละเอียด มีความหวานหอมมันจากกะทิ เคล็ดลับความอร่อยก็คือ กะทิต้องคั้นสดๆ ถึงจะได้ไส้ที่หอมมัน และต้องรับประทานตอนที่แป้งยังนิ่มๆ อยู่ หากปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งแข็งก็จะไม่อร่อยแล้ว

ขนมหัวล้านเป็นขนมยามเช้าที่ยังหารับประทานได้ง่าย อาจเพราะวิธีทำที่ไม่ยากนัก แต่ร้านที่ทำแล้วรสชาติดี วัตถุดิบมีคุณภาพ มีคนแนะนำว่าต้องยกให้ ร้านอี๊อุ๋ย ในตลาดเกษตร หลังโรบินสันภูเก็ต

โก้ยเบ่งก๊า หรือ ขนมบ้าบิ่นมันสำปะหลัง

เป็นขนมสีเหลืองสดใสที่ทำจากหัวมันสำปะหลัง กวนเข้ากับมะพร้าวและน้ำตาล จนเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนนำไปอบหรือปิ้งบนเตาถ่านอีกครั้ง ให้พอมีความเกรียมเบาๆ แล้วแบ่งตัดเป็นชิ้นพองาม ขนมจึงมีกลิ่นหอม และให้รสชาติหวานมันคล้ายๆ ขนมบ้าบิ่น แต่เนื้อจะนิ่มเนียนกว่า เหมาะที่จะรับประทานคู่กับชาหรือกาแฟในยามเช้า

โก้ยเบ่งก๊าเป็นขนมพื้นเมืองโบราณซึ่งหาคนทำได้น้อยคนแล้ว แต่ยังพอมีวางขายให้หารับประทานได้ตามแผงขนมสดทั่วไป

โกสุ้ย หรือ ขนมถ้วยน้ำตาลแดง

เป็นขนมถ้วยชนิดหนึ่งที่เนื้อมีความเหนียวหนึบหนับ รสชาติหวานหอม ตัวขนมมีสีน้ำตาลทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำด่างและน้ำตาลทรายแดง รับประทานคู่กับมะพร้าวขูดผสมเกลือนิดหน่อยพอเค็มปะแล่มๆ เคี้ยวเพลินลงตัว เผลอแวบเดียวมีหมดจาน นอกจากนี้ยังมีโกสุ้ยใบเตย ช่วยเพิ่มความหลากหลายในเรื่องของรสชาติและสีสัน แถมกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่รับประทานแล้วรู้สึกชื่นใจ

ปัจจุบันยังคงหารับประทานง่าย อาจจะเพราะทำไม่ยากเท่าไหร่ อีกทั้งยังมีคนนิยมรับประทานอยู่มาก  ลองแวะเข้าตลาดเช้าหรือแผงขายขนมสดรับรองไม่ผิดหวัง ได้ชิมแน่นอน

เกี่ยมโก้ย หรือ ขนมถ้วยเค็ม

เป็นขนมถ้วยสีขาวทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งสุก โรยหน้าด้วยกุ้งแห้งทอด หอมเจียว และต้นหอมซอย ราดด้วยน้ำจิ้มสามรส เสน่ห์ของเกี่ยมโก้ยอยู่ที่ความหนึบหนับของตัวแป้งนึ่ง และความหอมกรุ่นของเครื่องเจียวโรยหน้า เพิ่มความเปรี้ยวหวานและเผ็ดจากพริกแห้งเข้าไปอีกนิด ก็ได้ความอร่อยที่ลงตัว ยิ่งได้รับประทานคู่กับชาหรือกาแฟร้อนๆ สักหน่อย ยิ่งอิ่มสบายท้อง

ปัจจุบันยังคงหารับประทานได้ตามตลาดเช้าทั่วไป

โอ้เอ๋ว

และนี่คือหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับเมนูหวานเย็นดับร้อน และมีขายเฉพาะที่ภูเก็ตแห่งเดียวเท่านั้น กับขนมที่มีชื่อสุดแสนน่ารักอย่าง โอ้เอ๋ว ของหวานที่มีลักษณะคล้ายวุ้นน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็ง ซึ่งจริงๆ แล้ววุ้นที่เราเห็นนั้นไม่ใช่วุ้น หากแต่เป็นเมือกที่ได้มาจากเมล็ดโอ้เอ๋วแช่น้ำ ผสมกับเมือกของกล้วยน้ำว้า จากนั้นใส่เจี๊ยะกอซึ่งก็คือผงสำหรับใช้ในการทำเต้าฮวยและเต้าหู้อ่อน เพื่อให้โอ้เอ๋วจับตัวเป็นก้อน รับประกันความอร่อยสดชื่น แถมยังมีสรรพคุณทางยา ซึ่งคนโบราณจะรับประทานโอ้เอ๋วเปล่าๆ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แต่ปัจจุบันนำมารับประทานกับน้ำแข็งไส ใส่ถั่วแดงต้มหรือวุ้นดำ ราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำแดง เพิ่มความสดชื่น

ถึงแม้ว่าจะมีร้านขายโอ้เอ๋วเกิดใหม่มากมายหลายร้าน สามารถหาซื้อได้ตามศูนย์อาหารพื้นเมืองอย่าง ภูเก็ตลกเที้ยน หรือหล่อโรง แต่ถ้าอยากรับประทานในแบบที่เป็นต้นตำรับจริงๆ ก็ต้องยกให้ ร้านโอ้เอ๋วแป๊ะหลี่ ในซอยสุ่นอุทิศ ที่ขายมายาวนานกว่า 80 ปีแล้ว

บี้ถ่ายบาก

เป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่มีความคล้ายคลึงลอดช่องสิงคโปร์ แต่ตัวเส้นมีสีแดงและขาว คล้ายเส้นขนมจีน รับประทานเหมือนหวานเย็นทั่วไปนั่นก็คือ ใส่น้ำแข็งแล้วราดด้วยน้ำเชื่อม ความหวานหอมของน้ำเชื่อมและกลิ่นอ่อนๆ ของใบเตยเมื่อผสานเข้ากับความเย็นของน้ำแข็ง ทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้ทันที นับเป็นหนึ่งเมนูดับร้อนที่ต้องลองหากได้มาเยือนภูเก็ต

บี้ถ่ายบากเป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ตอย่างหนึ่งที่ปัจจุบันค่อนข้างหารับประทานยาก คนรู้วิธีทำน้อย แต่ก็ยังพอมีพิกัดให้เสาะแสวงหาอยู่บ้าง เป็นต้นว่า ศูนย์อาหารพื้นเมืองหล่อโรง แผงรับฝากขายขนมสดช่วงเช้า หรือตลาดเกษตรช่วงเช้า

และนี่เป็นเพียงบางส่วนของขนมพื้นเมืองที่เรานำมาฝากเหล่านักเดินทางกันในครั้งนี้ หวังว่าหลายๆ ท่านจะได้มีโอกาสไปชมชิมเติมสีสันให้กับมื้ออาหารยามว่างให้เต็มไปด้วยอรรถรส ได้เสพกลิ่นอายแห่งเอกลักษณ์ และสัมผัสมนตร์เสน่ห์แห่งอาหารไปด้วยกัน แล้วคุณจะพบว่าคุณกำลังเข้าใกล้ความเป็นภูเก็ตได้มากกว่าที่คิด

LIFESTYLE

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://phuketcuisine.com/
https://phuketindex.com/
https://www.phuketemagazine.com/