จากสถานการณ์ที่ทำให้เราออกไปพบเจอผู้คนได้เท่าที่จำเป็น และการปรับวิถีชีวิตให้ต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น อาจทำให้ใครหลายคนตกอยู่ในภาวะเครียดและไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน กิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจมากมายต่างพากันตบเท้าเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรา มองๆ ไปอาจจะเห็นแป้งโดและอุปกรณ์ทำอาหารชุดใหม่กวักมือเรียก เสื่อโยคะที่ไม่เปื้อนเหงื่อมาสักพัก หรือรายชื่อกลุ่มเพื่อนตัวแสบที่เมาท์กันจนแสบคอเมื่อวันก่อน
อย่างไรก็ตามในช่วงที่เวลาเดินช้าแบบนี้ อีกกิจกรรมที่ช่วยให้คุณผ่อนคลายและลดความตึงเครียดได้ดีไม่แพ้อย่างอื่น นั่นก็คือการอ่านหนังสือ กิจกรรมสุดคลาสสิกที่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะยุ่งจนไม่มีเวลาหยิบเล่มโปรดจาก “กองดอง” ขึ้นมาอ่าน แต่สำหรับใครที่ยังไม่มีเล่มไหนเล็งไว้เป็นพิเศษ วันนี้ Power จะมาแนะนำหนังสือน่าอ่านที่ทั้งสนุกและมีประโยชน์ ให้คุณผ่อนคลายรวมถึงสามารถนำข้อคิดไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
Quiet: The Power of Introverts
in a World That Can’t Stop Talking
โดย Susan Cain
ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะมีบุคลิกค่อนไปทาง Introvert หรือ Extrovert ก็ไม่ใช่ปัญหาอย่างที่มันเคยเป็นเมื่อหลายปีก่อนอีกต่อไป ในอดีตเรื่องบุคลิกภาพเคยเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่าแบบไหนดีกว่ากัน แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่ออกมายืนยันแล้วว่า นิสัยชอบเก็บตัว ชอบทำอะไรคนเดียว ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือการมีภาวะผู้นำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามอาจจะพูดได้ว่า สถานการณ์ตอนนี้คล้ายๆ จะบีบให้เราทุกคนเป็นคน Introvert ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณใช้เวลาเงียบๆ เหงาๆ ได้อย่างมีประโยชน์มากทีเดียว
Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking ได้รับยกย่องจาก The Guardian ให้เป็นหนังสือ 1 ใน 10 เล่มที่ดีต่อสมองแห่งทศวรรษ เมื่อปี ค.ศ. 2018 มันทำให้เรามองเห็นความแตกต่างของผู้คน รวมไปถึงเข้าใจและยอมรับที่จะเป็น “ตัวเอง” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองมากเช่นนี้
คนเราไม่ว่าจะชอบอยู่กับคนอื่นหรือไม่ แต่ในยามที่ต้องอยู่คนเดียวก็มักที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี ได้โฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีสมาธิ อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะคล้อยตามความคิดของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ซึ่งไอเดียบรรเจิดทั้งหลายก็มักจะมาในช่วงเวลาแบบนี้นี่เอง ข้อดีของการอยู่คนเดียวอีกอย่างคือคุณไม่จำเป็นต้องตะโกนเพื่อให้ได้อะไรดีๆ รวมไปถึงมีเวลามากพอให้กับสิ่งที่ควรจะให้เวลา อย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ผมไม่ใช่คนฉลาดหรอก ผมแค่อยู่กับปัญหานั้นนานพอ”
Eat That Frog!
โดย Brian Tracy
สำหรับใครที่กำลังไม่แน่ใจว่า Work from Home ทั้งที นี่ไม่ได้ทำให้มีงานน้อยลงเลยหรือ ก็ต้องบอกว่า “ใช่” ซึ่งในความเป็นจริงไม่ว่าจะทำงานที่ไหน คุณก็มักจะพบว่าปริมาณงานนั้นดูเหมือนจะมากกว่าเวลาที่มีเสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถทำได้และควรจะทำคือการตั้งธงของความคิดเสียใหม่ และรับมือกับงานกองพะเนินนั้นด้วยการโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน
Eat That Frog! ได้เปรียบเทียบ “กบ” ว่าเป็นเสมือนงานที่ต้องทำ โดยเฉพาะงานที่คุณรู้สึกขยาดที่จะทำมันจนเสร็จได้นั่นเอง ยิ่งถ้ามีงานที่เข้าข่ายแนวนี้มากกว่า 1 งาน ก็ให้เริ่มต้นลงมือจัดการกับงานที่ยากและสำคัญกว่าก่อนเลย โดยจะต้องทำในทันทีอย่างไม่มีอิดออด เพราะมันไม่มีประโยชน์ถ้าจะต้องนั่งจ้องกบตัวนั้นนานๆ จริงไหม? เลือกกบให้ดีก่อนจะกิน การวางแผนนั้นสำคัญเสมอ หลายคนขยันปีนบันไดแทบขาดใจ โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าบันไดนั้นพาดไปถูกที่หรือเปล่า
หนังสือเล่มนี้จะช่วยย้ำเตือนในเรื่องการลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ที่ที่เป็นเซฟโซนจนบางครั้งเผลอใจไปกับความสบายนั้น เพราะยิ่งสบาย ยิ่งต้องมีวินัย ซึ่งนั่นหมายถึงความสามารถที่จะลงมือทำในสิ่งที่ควรทำ ในเวลาที่สมควร ไม่ว่าตอนนั้นจะรู้สึกอยากทำหรือไม่ก็ตามนั่นเอง
Daring Greatly
โดย Brené Brown
อีกหนึ่งหนังสือขายดีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่ยังคงนำข้อคิดมาปรับใช้ได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ท่ามกลางปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลให้เราต่างเกิดความรู้สึกว่าตัวเองนั้นกำลังไม่มีความสุข Dr. Brené Brown ผู้เขียน เป็นนักวิจัยทางด้านสังคมสงเคราะห์ที่ทำการศึกษาการดำเนินชีวิตของผู้คนมาเป็นเวลานาน ได้หยิบยกความรู้สึก “เปราะบาง” ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเรามาแสดงให้เห็นอีกด้านที่สามารถนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
ความเปราะบางนั้นแท้จริงแล้วก็คือความรู้สึกอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องที่ดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ตรงกันข้ามการพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกเปราะบางที่เกิดขึ้น กลับทำให้ชีวิตกลายเป็นชีวิตที่ไร้ความหมายไปเสียอีก
คนเราไม่ใช่เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ที่นึกจะปิดจะเปิดความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ ได้ตามใจสั่ง พอเจออะไรไม่ดีก็ปิดต่อมรับความรู้สึกชั่วคราวอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณเลือกที่จะเฉยชาต่อความทุกข์ นั่นหมายถึงคุณก็จะเฉยชาต่อ ความสุขไปด้วย สิ่งที่สำคัญจึงไม่ใช่การเอาชนะหรือยอมแพ้กับความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่คือการกล้าเผชิญหน้ากับมัน ด้วยความเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
Creativity, Inc.
โดย Ed Catmull
ร่วมด้วย Amy Wallace
เชื่อว่าหลายคนที่เป็นแฟนการ์ตูนดิสนีย์ ในตอนนี้คงกำลังง่วนกับ Disney+ Hotstar อยู่แน่ๆ แต่ถ้าเบื่อ “ดู” เมื่อไร ลองสลับมา “อ่าน” เรื่องราวที่เขียนขึ้นโดย Ed Catmull หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Pixar Animation Studios กันดูบ้าง รับรองว่าคุณจะได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากผู้ที่เป็นดั่งตำนานของวงการแอนิเมชันยุคใหม่คนนี้อย่างแน่นอน
Ed Catmull เล่าว่า เส้นทางของ Pixar ไม่ใกล้เคียงกับคำว่า โรยด้วยกลีบกุหลาบ เลยแม้แต่น้อย แต่ข้อดีก็คือมันเป็นดั่งบทเรียนอันยิ่งใหญ่ให้ได้เรียนรู้กันตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ต อย่างตอนที่สร้างแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่องแรกที่มีชื่อว่า The Adventures of André & Wally B. พวกเขายอมรับว่าด้วยเวลาอันจำกัดทำให้งานภาพไม่สมบูรณ์ตามที่ต้องการ 100% แต่การเล่าเรื่องที่น่ารักและมีเสน่ห์ ทำให้แทบจะไม่มีใครสนใจข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ นั้นเลย Pixar จึงรู้แล้วว่า “เรื่องราวที่เข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้ชม” นั้นสำคัญกว่าอย่างอื่น ซึ่งพวกเขาก็ทำเช่นนั้นเสมอมา
แน่นอนว่าหัวใจของ Pixar คือการสร้างสรรค์ เหมือนกับชื่อหนังสือเล่มนี้ และอุปสรรคสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ก็คือ การย่ำอยู่กับที่โดยไม่กล้าพูดหรือแสดงความคิดเห็นไปตรงๆ เพราะกลัวผลที่จะตามมา กลัวความผิดพลาดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่าเพราะพยายามที่จะทำสิ่งใหม่นั่นอย่างไรถึงได้พลาด ถ้าไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็คงไม่พลาด หรือต่อให้ทำแต่เฉพาะสิ่งที่ตัวเองถนัด ก็ไม่ได้แปลว่าจะหยุดยั้งความไม่แน่นอนของโลกใบนี้ได้อยู่ดีอีกนั่นแหละ
The Subtle Art of Not
Giving a F*ck
โดย Mark Manson
หนังสืออีกเล่มที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะดึงดูดตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ทั้งกวน ทั้งชวนให้คิดว่า ที่ผ่านมาเรากำลังพลาดอะไรไปหรือเปล่า Mark Manson ผู้เขียน กำลังจะเปลี่ยนมุมมองความคิดที่ถูกสอนมานานอย่างการ “คิดบวก” ไปโดยสิ้นเชิง
ตั้งแต่จำความได้เราต่างถูกพร่ำบอกว่าการคิดบวกคือกุญแจแห่งความสุข ในขณะที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกว่า “จงซื่อสัตย์กับมันเถอะ อะไรที่มันไม่ดีก็คือไม่ดี” การมีชีวิตที่ดีที่มีความสุขนั้นไม่ใช่การแคร์สิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่เป็นการรู้จักที่จะแคร์สิ่งต่างๆ ให้น้อยลงต่างหาก ตรงกันข้าม การพยายามมองหาข้อดีให้กับสิ่งที่มันไม่ดี จะทำให้เราทุกข์ใจเปล่าๆ ยิ่งถ้าคุณรู้สึกอะไรมากมายกับเรื่องที่จริงๆ แล้วสามารถปล่อยผ่านได้ มันยิ่งตอกย้ำว่าชีวิตคุณไม่ค่อยจะมีเรื่องสำคัญๆ ให้สนใจเท่าไรนัก เพราะฉะนั้นคุณควรที่จะใช้เวลาไปกับการสำรวจดูว่า อะไรที่มันมีความหมายกับชีวิตของคุณมากกว่านั่นเอง
ลองมองไปรอบๆ คุณจะเห็นว่าโลกเราเต็มไปด้วยการให้ความสำคัญกับ “ความพิเศษ” ต่างๆ หรือคำพูดประมาณว่า ทุกคนเป็นคนพิเศษได้ แต่เมื่อคิดพิจารณาดูดีๆ แล้ว การเป็นคนธรรมดา คนกลางๆ ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ที่สำคัญคุณไม่จำเป็นต้องคิดบวกตลอดเวลา อย่างที่ Sigmund Freud เคยกล่าวไว้ว่า “วันหนึ่งช่วงเวลาสุดแสนลำบากที่คุณข้ามผ่านมาได้นั้น จะกลายเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดในชีวิตของคุณไปเอง” เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องสนุก และไม่ได้เป็นเรื่องบวกเสมอไป
LIFESTYLE
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.amazon.com/