ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 มหกรรมกีฬาสำหรับคนพิการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ซึ่งในครั้งนี้ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยก็สามารถที่จะคว้าเหรียญรางวัลกลับมาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ถือเป็นความภาคภูมิใจและความสุขที่พวกเขาทุกคนมอบให้กับคนไทยทั้งประเทศ โดยที่เหรียญแรกนั้นเป็นเหรียญทองแดงกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ จากฮีโร่สาวมือหนึ่งของไทยที่มีชื่อว่า แวว–สายสุนีย์ จ๊ะนะ
สายสุนีย์คร่ำหวอดอยู่ในวงการกีฬามานานจนเป็นที่คุ้นตาของแฟนกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเป็นอย่างดี ด้วยทักษะและประสบการณ์บนเส้นทางกว่า 20 ปี ทำให้เธอคว้าแชมป์มาแล้วแทบทุกรายการในโลกนี้ รวมถึงเหรียญทองแดงอันทรงเกียรติเหรียญนี้ด้วยแม้วัยจะล่วงเข้าสู่ปีที่ 47 ของชีวิตแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังยืนยันอีกว่า ในวันที่เธอขึ้นเลข 5 เธอก็อยากจะคว้าเหรียญรางวัลอีกครั้งที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อมองย้อนกลับไปชีวิตของสายสุนีย์ก็คล้ายกับอีกหลายๆ คน คือการที่วันหนึ่งพบว่าตัวเองนั้นไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดทำให้เธอต้องย้ายตัวเองไปอยู่บนรถเข็น หากจะพูดว่าเป็นการ “เริ่มต้นชีวิตใหม่” ก็คงไม่ผิดนัก เพียงแต่มันไม่ใช่ชีวิตใหม่ที่หวังไว้เลยแม้แต่น้อย
ความฝันของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากเป็นครู มีอันต้องพลิกผันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วข้ามคืน แม้จะไม่ง่ายนัก แต่ด้วยกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้สายสุนีย์ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้ พร้อมๆ กับโอกาสที่เป็นดั่งแสงสว่างแห่งความหวังครั้งใหม่ที่ได้ผ่านเข้ามา เมื่อศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ เปิดรับสมัครคนพิการที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวันและความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการฝึกอาชีพ จำนวน 100 คน เธอจึงบรรจงเขียนความต้องการและความตั้งใจสมัครไป ราวกับมีความในใจเหลือคณา ด้วยคำที่เธอพูดถึงจดหมายฉบับนั้นแบบติดตลกว่า “เรียงความ”
แน่นอนว่านอกจากจะได้ฝึกอาชีพที่นั่นแล้ว สิ่งสำคัญที่สายสุนีย์ได้เรียนรู้ก็คือ “ทุกคนมีความสุข ทุกคนมีความทุกข์ แต่เมื่อใดที่ได้แลกเปลี่ยนกัน เสียงหัวเราะก็เกิดขึ้นได้เสมอ” ดูเหมือนว่าเธอได้ก้าวข้ามความพิการไปแล้ว จริงอยู่ที่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็นเช่นนี้ แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือแสวงหาและโอบรับโอกาสที่อาจจะช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิตได้ อย่างในครั้งนี้ที่มาในรูปของ “กีฬา”
สายสุนีย์เริ่มต้นเส้นทางชีวิตนักกีฬาด้วยวีลแชร์บาสเกตบอล ซึ่งเธอพบว่ามันไม่ง่ายเลย แต่ด้วยความตั้งใจทำให้เธอติดทีมนักกีฬาล้านนาเป็นตัวแทนไปแข่งขันตามที่ต่างๆ จนกระทั่งมีการเปิดรับสมัครอบรมกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ เธอก็ไม่รีรอรีบคว้าโอกาสนั้นไว้ ไม่ต่างกัน วีลแชร์ฟันดาบนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควรจนเพื่อนหลายคนที่ไปด้วยกันเริ่มถอดใจ ในขณะที่เธอยังสู้ต่อ ด้วยความคิดที่ว่าตั้งแต่เด็กก็เคยอดทนสู้งานตากแดดตากฝนมาก็ไม่น้อย ความลำบากไม่เคยจากไปไหน มันแค่เปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ มาท้าทายเราต่างหาก ครั้งหนึ่งรุ่นพี่ที่เป็นนักกีฬาวีลแชร์เทนนิสเคยบอกกับเธอว่าให้อดทนต่อไป นักกีฬาสามารถมีรายได้ มีอนาคตที่ดี และใครๆ ก็ฝันอยากจะไปให้ถึงเฟสปิกเกมส์กันทั้งนั้น (ปัจจุบันคือเอเชียนพาราเกมส์ การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการระดับทวีปเอเชีย)
สายสุนีย์ จ๊ะนะ คว้า 2 เหรียญทองจากกีฬาเฟสปิกเกมส์ ปี 1999 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ พร้อมกับเกียรติยศที่เธอเองก็ไม่เคยคิดฝันมาก่อน เธอเดินทางมาถึงจุดที่รุ่นพี่คนนั้นเคยบอกไว้แล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่ใช่จุดสูงสุดของเธอ และถึงแม้ว่าคะแนนสะสมจะยังไม่เพียงพอที่จะไปพาราลิมปิกเกมส์ที่ซิดนีย์ในปีถัดไป เธอก็ยังไม่หมดหวัง เดินหน้าสั่งสมประสบการณ์จนได้ไปพาราลิมปิกเกมส์ 2004 ที่ประเทศกรีซในที่สุด ปีนั้นเธอกลับบ้านพร้อม 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง สร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองแรกของนักกีฬาหญิงไทยในพาราลิมปิกเกมส์
จวบจนถึงวันนี้ สายสุนีย์ จ๊ะนะ ผ่านพาราลิมปิกเกมส์มาแล้วถึง 5 ครั้ง ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่เธอไม่มีเหรียญรางวัลติดมือกลับบ้าน จนแฟนกีฬายกให้เธอเป็นฮีโร่ระดับตำนานอีกคนของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากชีวิตนักกีฬา สายสุนีย์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มีงานประจำที่มั่นคง และมีครอบครัวที่อบอุ่น โดยมีลูกสาวที่น่ารักชื่อว่า “ฤทัย” ดวงใจดวงน้อยที่เป็นดั่งพลัง ความหวัง และความสุขในทุกๆ โมงยามของชีวิต รวมไปถึงมีความฝันที่วันหนึ่งอยากจะมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เธอรู้ดีว่าเส้นทางชีวิตนักกีฬาของเธอยังไม่จบเพียงเท่านี้