Lifestyle

Lifestyle:
จากเรื่องจริงของพลังหญิงที่ขับเคลื่อนสังคม
สู่ภาพยนตร์ที่ครองหัวใจคนทั่วโลก

By 8 March 2021 No Comments

“วันเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ถึงความไม่เท่าเทียมของผู้หญิง”

จากจุดเริ่มต้นของการลุกฮือของกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้า ในสหรัฐอเมริกา ที่มาจากการถูกกดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานเยี่ยงทาส จนนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ์ของเหล่ากรรมกรสตรีในโรงงานให้ได้รับความทัดเทียมกับแรงงานชาย รวมถึงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก ตามมาซึ่งบทสรุปแห่งความสำเร็จหลังการต่อสู้อันยาวนาน ด้วยการได้รับการรับรองในข้อเรียกร้องอันเป็นธรรมจากที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ณ เมืองโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 พร้อมผลักดันให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ถึงความไม่เท่าเทียมของผู้หญิง” อันเป็นจุดเริ่มต้นของวันสตรีสากลในเวลาต่อมา

วันสตรีสากล หรือ International Woman’s Day ในปีนี้ ครบรอบปีที่ 110 แล้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงและให้ความสำคัญกับผู้หญิงทุกคนบนโลกที่มีต่อความสำเร็จในหลายๆ ภาคส่วน Power ขอหยิบยกบางเรื่องราวชีวิตของเหล่านักสู้หัวใจแกร่ง “ผู้หญิง” นักขับเคลื่อนสังคม ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการแสวงหาความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ที่ทำอะไรได้มากกว่าที่ใครเคยขีดเส้นกำหนดไว้ ผ่านการบอกเล่าในรูปแบบของภาพยนตร์ Based on True Story ที่คว้ารางวัลมาแล้วนักต่อนักจนเป็นกระแสไปทั่วโลก ให้เราได้หาโอกาสไปทำความรู้จักพวกเธอเหล่านั้นกันอีกสักครั้ง

“ฉันอยากให้คนฟังร้องไห้
แม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจ
ที่ฉันร้องเลยก็ตาม”

– Édith Piaf –

“ฉันอยากให้คนฟังร้องไห้
แม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจ
ที่ฉันร้องเลยก็ตาม”

– Édith Piaf –

Édith Piaf จากภาพยนตร์เรื่อง La Vie En Rose (2007)
“ฉันอยากให้คนฟังร้องไห้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจที่ฉันร้องเลยก็ตาม” – Édith Piaf

ครั้งหนึ่งศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู หรือ (Centre Pompidou) ได้ทำการคัดเลือกผลงานโมเดิร์นอาร์ตที่สร้างขึ้นในฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1906 – 1977 ปีละหนึ่งชิ้นไปจัดแสดง ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่ปี 1945 ผลงานเพียงชิ้นเดียวในนิทรรศการที่ไม่ใช่ทัศนศิลป์ ทว่าเป็นเสียงเพลง La Vie En Rose ของศิลปิน Édith Piaf ที่เปิดคลออยู่เบาๆ โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า ไม่มีผลงานศิลปะใดในปี 1945 ของฝรั่งเศสจะน่าจดจำไปกว่า Soundtrack ของปารีสเพลงนี้อีกแล้ว

วัยเด็กของ Édith Piaf นั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างลำบาก แม่ทิ้งเธอไปตั้งแต่ยังเล็กนัก ส่วนพ่อต้องไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงฝากเธอไว้กับย่าที่ดูแลสถานบริการย่านนอร์มังดี เธอถูกเลี้ยงดูโดยหญิงขายบริการที่นั่น ตอนอายุ 3 ปี เธอมีอาการดวงตามืดบอดไปชั่วขณะ จากภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก่อนจะกลับมามองเห็นอีกครั้ง หลังจากย่าและหญิงขายบริการที่เลี้ยงดูเธอพาเธอไปขอพรจาก Saint Therese de Lisieux ไม่กี่ปีหลังจากนั้น พ่อมารับเธอไปอยู่ด้วยกันในคณะละครเร่  ทั้งคู่ตระเวนแสดงไปทั่ว และที่ริมถนนในกรุงปารีสนั่นเองคือเวทีแรกที่เธอได้ร้องเพลงให้คนฟัง

ชีวิตอันเข้มข้นของ Édith Piaf ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง La Vie En Rose นำแสดงโดย Marion Cotillard ทั้งการแปลงโฉมและการแสดงอันน่าอัศจรรย์ ทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปีนั้น มีการแซวกันเล่นๆ ว่า เธอน่าจะได้ “เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม” เพิ่มอีกรางวัล เพราะใครที่ไหนจะเล่นเป็นคนอื่นได้ดีขนาดนั้น

อันที่จริงเพลงรักอันโด่งดังเพลงนี้ ออกจะดูขัดกับคาแรกเตอร์ของ Édith Piaf อยู่ไม่น้อย เนื่องจากเพลงส่วนใหญ่ของเธอมักพูดถึงความสูญเสียหรือรักที่ไม่สมหวังเสียมากกว่า แต่ก็อาจเป็นเพราะว่า การมีอยู่ของมันช่วยชะโลมหัวใจผู้คนในช่วงเวลาหลังสงครามโลกก็เป็นได้ เช่นเดียวกับที่หนังเรื่องนี้บอกให้เรารู้ว่า ไม่ว่าชีวิตจะเริ่มต้นแบบไหน ก็สามารถกลายเป็นสีชมพูได้เสมอ

“ฉันชอบทำงานกับคนฉลาด”

– Katherine Johnson –

“ฉันชอบทำงานกับคนฉลาด”

– Katherine Johnson –

Katherine G. Johnson / Dorothy Vaughan / Mary Jackson จากภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures (2016)
“ฉันชอบทำงานกับคนฉลาด” – Katherine Johnson

ต้นปี 2020 ที่ผ่านมา นาซ่าประกาศข่าวการเสียชีวิตของ Katherine Johnson นักคณิตศาสตร์หญิงผิวสี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอเมริกาในการส่งคนขึ้นไปโคจรรอบโลก อีกทั้งในเวลาต่อมา ความเป็นเลิศทางการคำนวณของเธอนี่เองที่มีส่วนช่วยให้มนุษย์ได้เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

Katherine Johnson ส่อแววความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก เธอเรียนจบปริญญาด้านคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศสเมื่ออายุเพียง 18 ปี จากนั้นเธอเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย West Virginia โดยถือเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้สิทธิ์นั้น จากคำสั่งของศาลที่เปลี่ยนกฎให้สามารถรับนักศึกษาผิวสีเข้าเรียนได้ หลังจากนั้นเธอตัดสินใจสมัครเข้าทำงานที่ศูนย์วิจัยแลงลีย์ในตำแหน่งนักคำนวณ จนใครต่อใครเรียกว่า “คอมพิวเตอร์นุ่งกระโปรง” จนกระทั่งวันหนึ่งเธอและทีมได้รับมอบหมายให้ช่วยงานวิจัยเกี่ยวกับการบินร่วมกับอีกทีมที่เป็นผู้ชายล้วน และเหตุการณ์ในช่วงนี้เองที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures

ภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตของ Katherine Johnson กับเพื่อนสาวอีก 2 คน Dorothy Vaughan นักคณิตศาสตร์ และ Mary Jackson วิศวกร ทั้งสามทำงานให้นาซ่า แน่นอนว่านาซ่าอ้าแขนรับคนเก่งเสมอ แต่บางทีก็ไม่ หากคุณเป็นผู้หญิง ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณเป็นผู้หญิงผิวสี เราจึงได้เห็นการเรียกร้องในหลายๆ อย่างเกิดขึ้น ทั้งกฎการรับคนผิวสีเข้าเรียน ตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่ควรจำกัดเฉพาะเพศชาย หรือแม้กระทั่งห้องน้ำที่สามารถใช้ร่วมกันได้โดยไม่ต้องวิ่งออกจากตึกไปเป็นกิโลๆ พวกเธอต้องพยายามมากจริงๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเพศและสีผิวเป็นคนละเรื่องกับสมอง

“ฉันใช้เวลาเป็นปีๆ ไปกับ
Miracle Mop”

– Joy Mangano –

“ฉันใช้เวลาเป็นปีๆ ไปกับ
Miracle Mop”

– Joy Mangano –

Joy Mangano จากภาพยนตร์เรื่อง Joy (2015)
“ฉันใช้เวลาเป็นปีๆ ไปกับ Miracle Mop– Joy Mangano

เรื่องราวของ Joy Mangano แม่ม่ายผู้เป็น “เดอะแบก” ของครอบครัวที่เต็มไปด้วยปัญหา ลองนึกภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่ชีวิตเต็มไปด้วยปัจจัยที่พร้อมจะทำลายความฝันของเธอได้ทุกเมื่อ อะไรบ้างล่ะ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่านมลูก จิปาถะ สิ่งที่เธอพอจะพักใจได้บ้างก็เห็นจะมีแค่ “งานประดิดประดอย” ที่เธอชอบทำตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเท่านั้นเอง

หากจำได้ สื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุค 90s ก็คือโทรทัศน์ เมื่อ Joy คิดประดิษฐ์สิ่งของที่น่าจะทำเงินให้เธอได้ รวมถึงมีโอกาสที่จะนำเสนอมันผ่านรายการขายสินค้าทางหน้าจอทีวี เธอจึงทำทุกอย่างเพื่อที่จะคว้าโอกาสในอากาศอย่างที่ใครเขาพูดกันนั้นมาครอบครองให้ได้ แน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย เธอต้องเจอกับปัญหาในแทบทุกขั้นตอนของการทำงาน โดนกลั่นแกล้งสารพัด จนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ฝันถึงคำว่าประสบความสำเร็จเลยหรือ? เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ ก็พอแล้วใช่ไหม? จะไปต่อหรือพอแค่นี้?

ด้าน Jennifer Lawrence นักแสดงผู้รับบทบาทเป็น Joy ก็แสดงออกมาได้สตรองจนคนดูเชื่อได้ไม่ยากเลย ในชีวิตจริงเธอเองก็เป็นคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมของค่าจ้างเสมอ ในฐานะดาราออสการ์ที่แสดงในหนังฟอร์มยักษ์มานับไม่ถ้วน เธอรู้ดีว่านักแสดงนำชายจะได้ค่าตอบแทนสูงลิบลิ่ว อันที่จริงเรื่องราวของ Joy อาจไม่ใช่เรื่องยอดนิยมในการนำมาสร้างเป็นหนังเท่าไรนัก แต่การเล่าเรื่องและการแสดงของนักแสดงหลายคนทำให้หนังน่าสนใจและน่าติดตามมากๆ คนดูสามารถอินไปกับหนังได้สบายๆ อย่างน้อยๆ ก็นึกอยากขอบคุณ Joy เหลือเกิน ที่พาพวกเราเข้าสู่ยุคที่ไม่ต้องใช้มือบิดผ้าในไม้ถูพื้นอีกต่อไป

“ให้ฉันลองทำดูก่อน
ไม่ดีแล้วค่อยไล่ออกก็ได้”

– Erin Brockovich –

“ให้ฉันลองทำดูก่อน
ไม่ดีแล้วค่อยไล่ออกก็ได้”

– Erin Brockovich –

Erin Brockovich จากภาพยนตร์เรื่อง Erin Brockovich (2000)
ให้ฉันลองทำดูก่อน ไม่ดีแล้วค่อยไล่ออกก็ได้– Erin Brockovich

Erin Brockovich หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพังหลังจากผ่านการหย่ามา 2 ครั้ง เธอตกงาน ถูกรถชน และที่แย่ไปกว่านั้นคือเธอแพ้คดีโดยไม่ได้รับค่าเสียหายอย่างเป็นธรรม สิ่งที่เธอทำได้มีแค่ไปหาทนายของเธอที่ช่วยเธอไม่ได้คนนั้น ให้เขารับผิดชอบด้วยการให้งานเธอทำ โดยเธอใช้คำพูดเดิมๆ เหมือนที่ใช้สัมภาษณ์งานอื่นๆ มาก่อนหน้านี้ นั่นคือ “ฉันสู้งาน”

Erin Brockovich ได้รับมอบหมายให้ทำงานเอกสารต่างๆ จนกระทั่งไปเจอความไม่ชอบมาพากลของเอกสารเกี่ยวกับการแพทย์ที่อยู่ในแฟ้มคดีที่ดิน คำถามที่ไม่มีคำตอบและไม่มีใครอยากหาคำตอบเท่าไร เธอจะปล่อยผ่านเหมือนที่คนอื่นๆ ทำก็ได้ ทว่าเธออยากรู้ความจริงมากกว่า จึงมุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะหาคำตอบของเรื่องราวทั้งหมดนี้ให้ได้ เธอรู้ดีว่าตัวเองไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แต่บางครั้งความถูกต้องและความเป็นธรรมก็ต้องการความพยายามและความตั้งใจมากกว่าปริญญาใดๆ

เรื่องราวคดีความเกี่ยวกับชุมชนอันนำไปสู่การฟ้องร้องมูลค่าสูงสุดในอเมริกาของ Erin Brockovich ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แห่งแรงบันดาลใจชื่อเดียวกับเธอ Julia Roberts รับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าทึ่งของการต่อสู้ระหว่างผู้หญิงมือเปล่าคนหนึ่งกับบริษัทนายทุนยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้เธอคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงไปครองอีกด้วย

LIFESTYLE

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก https://www.imdb.com/