ในวันที่ผู้คนยังคงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน หลายคนปรับตัวใช้วิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฝึกฝนและทดลองทำด้วยตัวเอง จากงานอดิเรกกลายเป็นรายได้เสริมรับเงินเป็นกอบเป็นกำจนประสบความสำเร็จกลายเป็นอาชีพหลักเลยก็มี และมีอีกหลายครัวเรือนค้นพบเซฟรสมือดีประจำบ้านคนใหม่ ดังที่เราจะได้เห็นเหล่าคนดังต่างออกมาโชว์เสน่ห์ปลายจวักในโลกโซเชียลมีเดียกันอยู่พักใหญ่ หรือหากใครจะใช้เวลาในช่วงนี้หันมาปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้านก็น่าจะสร้างสรรค์อยู่ไม่น้อย ซึ่ง Power ก็มี 8 ไอเดียงานซ่อมแซมสิ่งของภายในบ้านที่ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนของเก่า ผุพัง ชำรุด หรือใช้งานได้ไม่ดีให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้งแล้ว ยังให้ความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และช่วยชุบชูใจคลายความกังวลในช่วงวิกฤตนี้อีกด้วย มาดูกันว่ามีงานซ่อมอะไรที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งแม้แต่คุณผู้หญิงก็สามารถทำได้เช่นกัน
สิ่งของภายในบ้านผุพังคุณไม่จำเป็นต้องเรียกช่างเสมอไป
มีบางรายการที่คุณสามารถซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง
1. หัวฝักบัวน้ำไหลช้าอยู่ใช่ไหม?
หนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้น้ำฝักบัวไหลอ่อนไม่ทันใจ มักเกิดจากตะกอนหรือหินปูนที่สะสมตัวมาอุดตันรูปล่อยน้ำที่หัวฝักบัว การซ่อมแซมนี้ทำได้โดยง่าย เพียงถอดและทำความสะอาดหัวฝักบัว หรือจะเปลี่ยนหัวฝักบัวใหม่เลยก็ได้ เริ่มการซ่อมแซมหัวฝักบัวด้วยการปิดก๊อกน้ำให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นถอดหัวฝักบัวออกโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา (ระวังอย่าให้ชิ้นส่วนใดสูญหาย) หากจับไม่ถนัดมือจะใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ มาช่วยจับส่วนหัวฝักบัวไว้ก็ได้ หากพบว่าภายในหัวฝักบัวมีสิ่งสกปรกติดอยู่ให้เอาออกก่อน และทำความสะอาดด้วยการแช่ในน้ำส้มสายชู ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ตามด้วยล้างชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยน้ำเย็นก่อนประกอบกลับเข้าที่
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: น้ำส้มสายชู
2. อ่างล้างจานอุดตันแก้ไขได้ง่ายๆ
การอุดตันของอ่างล้างจานมักเกิดจากการสะสมของเศษอาหารและไขมัน ทำให้เกิดการระบายช้า ซึ่งหากอุดตันไม่มากคุณสามารถทำความสะอาดท่อระบายน้ำด้วยวิธีง่ายๆ ขั้นตอนแรกให้เทน้ำร้อนลงไปในท่อระบายน้ำเสียก่อน ตามด้วยเบกกิ้งโซดา 1/2 ถ้วยตวง และน้ำส้มสายชู 1/2 ถ้วยตวง ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นเทน้ำร้อนปิดท้าย หรืออาจจะใช้ที่ปั๊มห้องน้ำมาช่วยดึงสิ่งสกปรกที่อุดตันขึ้นมาก็ได้เช่นกัน เพียงวางที่ปั๊มห้องน้ำไว้บริเวณปากท่ออ่างล้างจานแล้วกดที่ปั๊มห้องน้ำลงไป สามารถทำติดต่อกันได้หลายครั้งจนกว่าการระบายของท่อจะดีขึ้น
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: เบกกิ้งโซดา / น้ำส้มสายชู / ที่ปั๊มห้องน้ำ
3. แก้ไขปัญหาประตูส่งเสียงดังรบกวนใจ
เมื่อคุณเปิดประตูแล้วพบว่าประตูของคุณส่งเสียงดังหรือปิดได้ไม่สนิท สาเหตุหนึ่งมาจากเมื่อเวลาผ่านไปสกรูจะคลายออกจากบานพับ ทำให้ประตูห้อยลงมากระแทกกับวงกบเกิดเสียงดังรบกวน วิธีแก้ไขทำได้โดยง่าย เพียงใช้ไขควงขนาดพอดีกับสกรูขันสกรูกลับเข้าไปใหม่ หรือหากสกรูหลุดออกมาให้ใช้สกรูตัวใหม่ที่ยาวกว่าเดิม เพราะสกรูที่ยาวกว่าจะทำให้บานพับแน่นขึ้น โดยให้ขันสกรูเข้ากับบานพับตามเข็มนาฬิกาให้แน่น ข้อควรระวังอย่าขันสกรูแน่นจนเกินไป เพราะวงกบอาจแตกร้าวได้
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: ไขควง / สกรู
4. หยุดการแตกร้าวของกระจกก่อนบานปลาย
เมื่อกระจกหน้าต่างหรือกระเบื้องผนังกระจกเกิดรอยร้าว คุณสามารถซ่อมแซมเบื้องต้นเพื่อหยุดการแตกร้าวได้ด้วยตัวเอง ระหว่างรอการเปลี่ยนกระจกใหม่ ก่อนอื่นให้เตรียมพื้นที่การทำงานที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก สวมถุงมือเพื่อป้องกันเศษกระจกบาด แล้วนำกระดาษแข็งที่ไม่ใช้แล้วมาปูที่พื้นโดยรอบ เพื่อรองรับเศษกระจกที่อาจจะร่วงหล่นลงมา สำหรับวิธีการซ่อมแซมทำได้โดยง่าย เพียงเช็ดกระจกให้แห้งสะอาดเพื่อให้รอยร้าวสามารถเชื่อมติดกันได้ จากนั้นผสมเรซินและสารชุบแข็งให้เข้ากันในอัตราส่วน 1:1 คุณจะได้กาวอีพ็อกซี่ที่พร้อมใช้งาน ให้ทาลงบนรอยร้าว ทิ้งไว้จนแห้งสนิท หากกังวลเรื่องกาวอีพ็อกซี่ส่วนเกิน สามารถใช้มีดอเนกประสงค์ตัดส่วนเกินนั้นออก ข้อควรระวัง ไม่สามารถซ่อมกระจกประตูไมโครเวฟ หน้าต่างบานคู่ กระจกอาบน้ำ หรือกระจกรถยนต์ด้วยวิธีนี้
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: ถุงมือ / กระดาษแข็ง / ผ้าเช็ดกระจก / กาวอีพ็อกซี่ / มีดอเนกประสงค์
5. ปกปิดรูเล็กๆ บนผนังเบาให้กลับมาสวยเหมือนเดิม
ปัจจุบันผนังเบานิยมนำมาใช้ในการต่อเติมบ้าน เนื่องจากเป็นพื้นผิวที่ติดตั้งง่าย ราคาไม่แพง แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งคือได้รับความเสียหายค่อนข้างง่าย ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการเปิดประตูและลูกบิดไปกระแทกจนทำให้ผนังกลายเป็นรู สำหรับวิธีการซ่อมแซมก็ทำได้ไม่ยาก โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ตกแต่งแผลผนังให้เรียบด้วยมีดอเนกประสงค์ และทำความสะอาดพื้นผิวให้สะอาด จากนั้นใช้เกรียงตักปูนยิปซัมมาโป๊วให้ทั่วบริเวณบาดแผล
- ปิดรูด้วยเทปกระดาษ ติดแนวเฉียง 45 องศา โดยความยาวของเทปกระดาษควรมีมากกว่ารูอย่างน้อย 2 นิ้ว จากนั้นโป๊วปูนยิปซัมทับ
- ทำขั้นตอนที่ 2 ซ้ำอีกครั้ง (โดยติดเทปกระดาษทับชิ้นแรกให้มีลักษณะเป็นรูปแบบกากบาท) ทิ้งไว้จนแห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง
- ขัดพื้นผิวให้เรียบเนียนด้วยกระดาษทราย ข้อควรระวังอย่าขัดแรงจนเกินไป อาจทำให้เทปกระดาษหลุดออกได้
- โป๊วปูนยิปซัมทับบริเวณโดยรอบอีกครั้ง โดยโป๊วให้มีขนาดกว้างกว่าเดิม ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท จากนั้นขัดพื้นผิวให้เรียบเนียนด้วยกระดาษทราย
- เช็ดฝุ่นออกและตกแต่งงานซ่อมแซมให้เรียบร้อย ด้วยการทาสีให้สวยเสมอกัน
เทคนิคนี้มีไว้สำหรับซ่อมแซมผนังเบารูเล็กๆ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 – 2 นิ้ว สำหรับรูที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้ ต้องใช้วิธีการซ่อมแซมที่ต่างออกไปเพื่อความคงทน
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: มีดอเนกประสงค์ / เกรียง / ปูนยิปซัม / เทปกระดาษ / กระดาษทราย / แปรงทาสี / สีทาผนัง
6. ปัญหาสีผนังภายนอกลอกแก้ไขได้ไม่ยาก
ภายใต้แสงแดดที่แผดเผา การเปียกฝนและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิต่างมีส่วนทำให้สีของผนังลอก ซึ่งปัญหาสีลอกอันเกิดจากการยึดเกาะที่ไม่ดี จะมีลักษณะการลอกม้วนของชั้นสีหรือพื้นผิวก่อนหน้าอย่างชัดเจน สำหรับการซ่อมแซมทำได้โดยง่าย
เริ่มต้นด้วยการเตรียมพื้นผิวผนังเสียก่อน โดยใช้เกรียงขูดสีลอกเก่าออก ต่อด้วยใช้กระดาษทรายขัดผนังให้เรียบเนียน และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดผนัง ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
ต่อด้วยขั้นตอนการทาสี ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปูรองเพื่อไม่ให้พื้นเปรอะเปื้อน เลือกใช้สีที่มีคุณภาพพร้อมคุณสมบัติป้องกันความชื้นได้ดี ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ สำหรับการทาสีแนะนำให้ใช้แปรงทาสีแบบลูกกลิ้ง เพราะทาง่าย ให้สีสม่ำเสมอ ควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วทาซ้ำอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อความเรียบเนียน
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: เกรียง / กระดาษทราย / ผ้าชุบน้ำ / กระดาษหนังสือพิมพ์ / แปรงทาสี
7. เสื้อสเวตเตอร์มีด้ายหลุดลุ่ยอยู่หรือเปล่า
มาที่งานซ่อมแซมเบาๆ กันดูบ้าง สำหรับเสื้อสเวตเตอร์ตัวโปรดที่ด้ายไหมพรมอาจถูกเกี่ยวจนหลุดลุ่ยไม่น่ามอง คุณสามารถใช้เวลาและอุปกรณ์เพียงเล็กน้อยในการซ่อมแซมให้เสื้อของคุณกลับมาน่าสวมใส่เหมือนเดิม โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เริ่มต้นด้วยการสอดเข็มถักโครเชต์เกี่ยวกับด้ายไหมพรมที่หลุดลุ่ยให้หลุบลงไปที่ด้านในของเสื้อ
- กลับด้านในของเสื้อ จากนั้นผูกด้ายไหมพรมที่หลุดลุ่ยให้เป็นปมเล็กๆ (โดยไม่ต้องตัดด้ายไหมพรมให้ขาด)
- นำยาทาเล็บใสมาแต้มปม และปลายด้ายไหมพรมเพียงเล็กน้อย จากนั้นทิ้งไว้จนยาทาเล็บใสแห้งสนิท
- กลับเสื้อออกด้านนอก ตรวจสอบบริเวณที่ด้ายไหมพรมเคยหลุดลุ่ย ค่อยๆ ดึงผ้ากลับเข้ารูป หากเสื้อสเวตเตอร์ยังดูเป็นระลอกคลื่นให้ใช้เตารีดไอน้ำรีดผ้าให้เรียบ
ตัวช่วยในการซ่อมแซม: เข็มถักโครเชต์ (ขนาดเบอร์ 5 หรือเล็กกว่า) / ยาทาเล็บใส / เตารีดไอน้ำ (อุปกรณ์เสริม)
8. รองเท้าคับแน่นลองขยายขนาดก่อนซื้อคู่ใหม่
เคยไหมที่ซื้อรองเท้ามาแล้วสวมใส่ไม่พอดี ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ลองแก้ไขด้วยวิธีเหล่านี้เสียก่อน คุณสามารถยืดเพิ่มขยายขนาดรองเท้า ด้วยอุปกรณ์ปรับยืดขยายรองเท้า หากรองเท้าบีบรัดแน่นบริเวณส่วนไหนก็ขยายที่บริเวณส่วนนั้น หรือคุณจะสวมถุงเท้าคู่ที่หนาที่สุด แล้วเดินไปรอบๆ บ้านก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำน้ำใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่ จากนั้นนำใส่ไปในรองเท้า วางไว้ในตู้เย็นช่องแช่แข็ง ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง จะช่วยให้รองเท้ายืดขยายออก ควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้กับรองเท้าราคาแพง และต้องแน่ใจว่ารองเท้าจะไม่ชำรุดเสียหายเมื่อเปียกน้ำ
ตัวช่วยในการซ่อมแซม (ทางเลือก): อุปกรณ์ปรับยืดขยายรองเท้า / ถุงเท้า / ถุงพลาสติกใส่น้ำ
LIFESTYLE
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.thespruce.com/