Lifestyle

LIFESTYLE
เจ็บแต่ไม่จบ เช็กสักนิด
เรามี “ภาวะลองโควิด” อยู่หรือไม่

By 6 May 2022 No Comments

แม้ว่าในปัจจุบันการติดเชื้อโควิด-19 จะลดระดับความรุนแรงลง ผู้ป่วยมีอาการและโอกาสการเสียชีวิตที่น้อยลง ด้วยสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โควิด รวมไปถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนมีจำนวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน “ภาวะลองโควิด” (Long COVID) ก็ยังเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้หลายคนอยู่ไม่น้อย

Long COVID หรือ Post-COVID Conditions เป็นภาวะของผู้ที่หายจากโควิด-19 แล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีลักษณะตายตัว อาจเหมือนหรือต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจ หลอดเลือด รวมไปถึงอาการทางจิตใจที่มาในรูปของความเครียดและความวิตกกังวลอีกด้วย

สำหรับโอกาสเกิดภาวะลองโควิดนั้นอยู่ที่ราว 30 – 50 % ของจำนวนผู้ติดเชื้อรักษาหายแล้ว และอาการมักจะหายไปภายใน 12 สัปดาห์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงและอาการที่เข้าข่ายจะมีอะไรบ้างลองมาเช็กจากลิสต์ต่อไปนี้ดู เพราะหากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยย่นระยะเวลาให้ความผิดปกตินั้นสั้นลง รวมไปถึงเพิ่มโอกาสที่จะหายกลับมาเป็นปกติได้มากขึ้น

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภาวะลองโควิด ต้องบอกว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายมีโอกาสเป็นทุกคน เพียงแต่กลุ่มที่พบบ่อย ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่เชื้อลงปอดแล้วเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
  • กลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • เพศหญิง (วัยทำงาน) มีความเสี่ยงกว่าเพศชาย

อาการที่พบมากที่สุดของภาวะลองโควิด

  • หายใจลำบาก หายใจผิดปกติ
  • เหนื่อยล้า
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ไอ
  • ปวดศีรษะ
  • การรับรู้กลิ่นและรสเปลี่ยนไป
  • ท้องร่วง
  • คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น
  • ปวดข้อ กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

สำหรับแนวทางป้องกันการเกิดภาวะลองโควิดก็คือ หากคุณยังไม่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานว่าการได้รับวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงได้ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย (เบาๆ) เป็นประจำ หากมีโรคประจำตัวให้รีบพบแพทย์ และที่สำคัญ ต้องรักษาภาวะจิตใจไม่ให้วิตกกังวลจนเกินไปด้วย

LIFESTYLE