“ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด
ขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น”
พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรวบรวมผลงานศิลปะชั้นสูงของแผ่นดินจากฝีมือของช่างสถาบันสิริกิติ์ ลูกหลานชาวนา ชาวไร่ ทั้งผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้เทคนิคโบราณขั้นสูงตั้งแต่สมัยอยุธยา และผลงานที่สร้างสรรค์โดยใช้เทคนิคที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาจัดแสดงในฐานะสมบัติของชาติ อันเป็น “ศิลป์แผ่นดิน” ที่ควรไปชมให้ได้สักครั้งในชีวิต โดยผลงานเหล่านี้เคยเปิดให้เข้าชมท่ามกลางสถาปัตยกรรมและภาพเขียนเฟรสโกแบบยุโรปของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ต่อมาภายหลังจากที่พระที่นั่งฯ ปิดปรับปรุงตั้งแต่เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2560 จึงได้ย้ายไปจัดแสดงยัง พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดหมายปลายทางที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ออกไปเพียงไม่กี่นาที
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน จัดแสดงผลงานประณีตศิลป์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น งานถมทองถมเงิน งานคร่ำเงินคร่ำทอง งานเครื่องเงินเครื่องทอง งานจักสานย่านลิเภา/งานจักสานไม้ไผ่ลายขิด งานแกะสลักไม้ งานลงยาสี งานผ้าปัก งานทอผ้าไหม และงานหัตถกรรมที่ผสมผสานหลายเทคนิค เช่น งานไม้แกะสลักตัวละครในวรรณคดี/รูปตัวสัตว์ต่างๆ ตกแต่งปีกแมลงทับ งานเครื่องเงินตกแต่งแผ่นสานลิเภาสอดปีกแมลงทับ เป็นต้น รวมไปถึง “ผลงานชิ้นเอก” จากห้องนิทรรศการใหญ่ มาสเตอร์พีซที่ต้องอาศัยช่างฝีมือหลายสาขาจำนวนมาก บางชิ้นมากกว่า 100 คน และใช้เวลาในการสร้างสรรค์หลายปีด้วยกันกว่าจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้เราได้หยิบยกผลงานบางส่วนมาแนะนำให้รู้จักกันก่อนที่จะไปสัมผัสกับความงดงามแบบเต็มๆ ด้วยตัวเอง
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลอง
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลององค์นี้ สร้างจำลองมาจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ในรัชกาลที่ 1 มีลำเรือเป็นถมทอง ศีรษะหงส์เป็นทองคำสลักดุนลงยา ตาและเขี้ยวประดับเพชร ทรงพู่ห้อยพุ่มทองคำระย้าประดับเพชร เคราหรือพรายหางเป็นทองคำ กลางลำเรือทอดบุษบกพิมานทองคำลงยาประดับเพชร ขนาบด้วยฉัตรปรุทอง 7 ชั้น และ 5 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ม่านบุษบกประดิษฐ์ด้วยห่วงทองคำถักร้อยเป็นลายแก้วชิงดวง ท้ายเกรินปักธงฉลุทองคำลงยาอย่างประณีต
ผลงานนี้ใช้เวลาในการจัดทำ 2 ปี 9 เดือน โดยช่างฝีมือสถาบันสิริกิติ์จำนวน 108 คน จัดทำเนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550
บุษบกมาลา
บุษบกหรือซุ้มยอด คือ เครื่องยอดขนาดเล็ก มีหลังคาซ้อนชั้นเป็นยอดแหลม มีบันแถลงเป็นเครื่องประดับ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ บุษบกองค์ใหญ่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทรงใช้เสด็จออกว่าราชการ หากเป็นบุษบกองค์เล็กใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป โดยบุษบกที่มีเกรินประกอบทั้งซ้ายและขวาจะเรียกว่าบุษบกมาลา ซึ่งบุษบกมาลานี้จำลองแบบจากพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ใช้หลากหลายเทคนิคในการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องเงินเครื่องทอง คร่ำ ถมทอง ลงยาสี แกะสลักไม้ และตกแต่งปีกแมลงทับ
บุษบกมาลา จัดทำเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2547 ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ 1 ปี โดยฝีมือช่างเชิงศิลป์ไทยของสถาบันสิริกิติ์ ถึง 285 คน
ฉากถมทองเรื่องรามเกียรติ์
ฉากถมทองนี้โดดเด่นด้วยการใช้เทคนิคการหนุนดุนลาย ให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติสวยงามเสมือนมีชีวิตทั้งตัวละครและฉากหลัง เป็นการผูกเรื่องรามเกียรติ์ 3 ฉากสำคัญคือ ฉากทศกัณฐ์ลงสวน ฉากลักสีดา และฉากจับม้าอุปการ ซึ่งช่างสถาบันสิริกิติ์จำนวน 117 คน ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ในการสร้างสรรค์
เครื่องถมเป็นงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีเทคนิคที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น การตีแผ่นเงินเพื่อขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงต่างๆ การทำลวดลายด้วยวิธีสลักให้พื้นผิวต่ำลงไปเป็นร่อง หรือการใช้วิธีเขียนลายกัดกรดทำให้เกิดลวดลายเหมือนการสลัก มีการนำยาถมซึ่งมีสีดำที่ได้จากการหลอมโลหะหลากชนิดมารมด้วยความร้อน แล้วถมร่องจนเต็มพื้นผิวเงิน ตามด้วยการนำทองคำบริสุทธิ์มาผสมกับปรอทแล้วผ่านความร้อนให้ปรอทระเหยจนเหลือแต่ทองคำติดอยู่ ผลงานที่เป็นสีดำของยาถมและสีทองของทองคำนี้เอง จึงเรียกว่า ถมทอง
ฉากจำหลักไม้เรื่อง “สังข์ทอง” และ “หิมพานต์”
ผลงานที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นยอดทั้งแกะสลักเป็นภาพนูนบนเนื้อไม้และแกะลอยตัวอย่างวิจิตร ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์โดยช่างสถาบันสิริกิติ์จำนวน 79 คน และใช้เวลากว่า 3 ปี จนได้งานแกะไม้สักขนาดสูงและยาวกว่า 6 เมตรชิ้นนี้
ฉากจำหลักไม้นี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราว 2 เรื่องบนไม้แผ่นเดียวกัน นั่นคือ ด้านหน้าเล่าเรื่องวรรณคดีสังข์ทอง โดยฉากนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัย มีตัวละครเจ้าเงาะและนางรจนาขนาดเท่าคนจริง แกะสลักแบบลอยตัวและตกแต่งด้วยปีกแมลงทับอย่างงดงาม ในขณะที่ด้านหลังซึ่งใช้ฉากเมืองและวิมานเดียวกัน แต่เล่าเรื่องราวของหิมพานต์ มีทั้งเขาไกรลาส เทพยดา สัตว์หิมพานต์ ครุฑ นาค และหมู่ไม้นานาพรรณ อีกทั้งยังมีรูปแกะสลักลอยตัวของกินนรและกินรีประจำฐานซ้ายขวา
ฉากปักไหมน้อยเรื่อง “อิเหนา”
อีกหนึ่งผลงานที่ใช้เวลามากกว่า 4 ปีในการสร้างสรรค์ ด้วยเทคนิคการปักผ้าแบบโบราณที่เรียกว่า ปักซอย โดยใช้ช่างปักจำนวน 143 คน บรรจงปักเรียงด้วย ไหมน้อย เส้นไหมที่ละเอียดที่สุด ไล่ระดับสีและแสงเงาให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติอย่างงดงาม
ฉากปักไหมน้อยเรื่องอิเหนา มีความยาวเกือบ 10 เมตร และสูงกว่า 5 เมตร ใช้วิธีการปักโดยหนุนตัวภาพให้นูนขึ้นอย่างสมจริงด้วยไหมน้อยย้อมสี สอดดิ้นเลื่อมเงิน-ทองและลูกปัดสี เกิดเป็นฉากผูกแบบปักรวม 18 ตอนของเรื่องอิเหนา ให้เห็นเป็นภาพพระมหาปราสาท ศาลบนเขาอันวิจิตร ขบวนพยุหยาตรา มวลหมู่นกและธรรมชาติอันงดงาม
ซึ่งนอกจากผลงานเหล่านี้แล้ว พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินยังมีผลงานระดับช่างฝีมืออื่นๆ อีกมากมายและทรงคุณค่า พร้อมให้ผู้คนได้เรียนรู้และเลือกที่จะเสพงานศิลป์กันได้อย่างมิรู้เบื่อ ด้วยนี่คือหลักฐานอันประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมและส่งต่อมาถึงลูกหลานเป็นดั่งมรดกของแผ่นดินไทย ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ น้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อราษฎรของพระองค์ เพื่อลูกหลานไทยจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้พออยู่พอกินพึ่งตนเองได้ตามแนวพระราชดำริ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์และหวงแหนสมบัติของชาติสืบไป
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน มีอาณาบริเวณพื้นที่กว้างขวาง สะดวกสบายด้วยบริการรถรางรับ–ส่ง จากสถานที่จอดรถไปยังพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงผลงานพร้อมเทคโนโลยีเครื่องบรรยายส่วนตัว (Audio Guide ) ที่มีให้เลือกถึง 10 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี และสเปน พร้อมจอระบบสัมผัสสำหรับบรรยายและให้ข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด โดยเปิดให้บริการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. – 15.30 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) โดยจะปิดจำหน่ายบัตร 30 นาที ก่อนเวลาปิดทำการของพิพิธภัณฑ์ สามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 3535 2995, 0 3535 5995, 0 2283 9557 และ https://www.facebook.com/artsofthekingdom/
* ประกาศปิดให้เข้าชมในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ในวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2563 – วันพุธที่ 6 มกราคม 2564
โดยจะเริ่มเปิดทำการอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564
DESTINATION
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.artsofthekingdom.com/th/
http://article.culture.go.th/
https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/online-artsofthekingdom/
หนังสือ อัคราภิรักษศิลปิน โดย ศ.ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์