A PART OF THE GREAT HIMALAYA RANGE
ยอดเขากันเจนชุงคา เป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยบริเวณพรมแดนประเทศอินเดียกับเนปาล มีความสูงกว่า 8,586 เมตร หรือ 28,169 ฟุต

BHUTAN… THE LAST FRONTIER OF HIMALAYA

นี่คือดินแดนที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยสูงล้ำค้ำฟ้า หนาวเย็น ลึกลับ นี่คือดินแดนแห่งรอยยิ้ม ความสุข และวิถีเกษตรอันพอเพียง เป็นพุทธอาณาจักรที่ตั้งมั่นอยู่ในหัวใจคน จึงอุดมด้วยความสงบสันติ นี่คือ อาณาจักรเล็กๆ ทว่าเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างสง่างาม เพราะที่นี่คือ “ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า” หรือ “ภูฏาน” ราชอาณาจักรบนเทือกเขาสูงตระหง่านเสียดฟ้าราวภาพฝัน

STORY & PHOTOGRAPHY

CHATON CHOKPATTARA

เวลากว่า 4 ชั่วโมงบนสายการบินแห่งชาติภูฏานสิ้นสุดลง เมื่อล้อเครื่องบินสัมผัสสนามบินเมืองพาโร สนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียวของภูฏาน จากสนามบินมองเห็นวิวทิวเขาหิมะตระหง่านโอบล้อม โดยเฉพาะทิศตะวันตกแลเห็นยอดเขาโจโมฮัลรีสูงกว่า 7,000 เมตร มีไอหมอกเย็นฉ่ำลอยคลอเคลียอยู่ตลอดเวลา ตัวเมืองพาโรทุกวันนี้มีถนนสายหลักอยู่เพียงเส้นเดียว ผมไม่เห็นตึกสูงเกิน 6 ชั้นในประเทศนี้ตามที่กฎหมายเขากำหนดไว้ อีกทั้งประชากรก็เบาบางเพียง 700,000 คนทั้งประเทศ จึงไม่แออัด ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังยึดถือวิถีเกษตรพอเพียงเลี้ยงชีพ พาโรจึงเต็มไปด้วยสีเขียวสงบเย็นตา

ถนน 2 เลนเล็กๆ นำผมสู่ถนนย่านดาวน์ทาวน์ ไกด์ใจดีบอกว่าจะพาไปเที่ยวป้อมโบราณอายุ 250 ปี ตรงริมแม่น้ำพาโร เรียกว่า “พาโรซอง” โดยคำว่า “ซอง” (Dzong) ในภาษาภูฏานหมายถึง “ป้อมปราการ” ทำไมภูฏานต้องมีป้อมด้วย? คำตอบคือช่วงก่อนศตวรรษที่ 17 ภูฏานแบ่งการปกครองเป็นเมืองเล็กๆ ต่อมาเมื่อได้รับการรวมชาติโดยท่านลามะชับดรุง งาวัง นัมเกล ก็สั่งให้สร้างป้อมปราการขึ้นทั่วภูฏาน เนื่องจากเวลานั้นทิเบตทนไม่ได้ที่เห็นภูฏานเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งขึ้น จึงส่งกองทหารเข้ารุกรานอยู่เป็นนิจ กระทั่งทิเบตยอมแพ้ ป้อมเหล่านี้จึงแปรสภาพเป็น “อาราม” ที่มีคณะสงฆ์จำพรรษาอยู่

พาโรซองมีระเบียงแบ่งเป็นห้องๆ ใช้ประกอบศาสนพิธี สิ่งที่น่าชมคือรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตรงประตูทางเข้าแรกของป้อม มีภาพวาดบุคคลสำคัญ 3 ท่าน คือ ท่านคุรุรินโปเช ผู้นำศาสนาพุทธเข้าสู่ภูฏาน ท่านชับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้รวมชาติภูฏานเป็นหนึ่งเดียว และพระศากยมุนี

THE ICONIC PLACES

1. พาโรซอง ป้อมโบราณอายุ 250 ปี

2. วัดตั๊กซัง หรือวัดรังเสือ ศาสนสถานสำคัญที่สุดของภูฏาน ตั้งอยู่บนเขาสูงชันจากพื้นกว่า 900 เมตร เหนือหุบเขาพาโร

คนที่ชอบไหว้พระขอพร แนะนำให้นั่งรถต่อขึ้นไปบนยอดเขาเหนือเมืองทิมพู กราบ “พระใหญ่ดอร์เดนมา” หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า Big Buddha

ผมนั่งรถต่อไปด้านหลังพาโรซองสู่ที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภูฏาน” ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นหอสังเกตการณ์ สร้างเมื่อ ค.ศ. 1651 ในอดีตเรียกว่า “ต้าซอง” แล้วเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อ ค.ศ. 1968 ด้านในแบ่งเป็นห้องจัดแสดงไล่ตั้งแต่ห้องหน้ากาก มีชุดนักรบโบราณ ปืนคาบศิลา ดาบ หอก ผ้าพระบฏ ไปจบที่ห้องแสดงภาพถ่ายขาวดำบอกเล่าเรื่องราวการสร้างชาติภูฏาน มีภาพกษัตริย์องค์แรก คือ อูเก็น วังชุก ซึ่งได้เป็นกษัตริย์เมื่อ ค.ศ. 1907 จนถึงสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ที่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ. 2008 และชาวไทยรู้จักพระองค์เป็นอย่างดี

วันถัดมาเป็นวันสำคัญของทริปเลยก็ว่าได้ เพราะผมกำลังจะสัมผัสศาสนสถานสำคัญที่สุดของภูฏาน ตั้งอยู่บนเขาสูงชันจากพื้นกว่า 900 เมตร เหนือหุบเขาพาโร อีกทั้งเคยได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 12 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาแล้ว นั่นคือ “วัดตั๊กซัง” หรือ “วัดรังเสือ”

มีตำนานเล่าว่าในศตวรรษที่ 8 ท่านคุรุรินโปเชขี่นางเสือตัวหนึ่งเหินฟ้าจากทิเบตมาสู่ภูเขาลูกนี้ เพื่อเข้าไปจำศีลในถ้ำบนหน้าผาสูงชัน ท่านบำเพ็ญตบะจนสามารถกำราบมารร้ายต่างๆ ให้ยอมรับนับถือพุทธศาสนาได้ กระทั่งถึง ค.ศ. 1692-1694 ผู้นำภูฏาน คือ กยัลเซ เทนซิน รับกเย ได้สร้างอารามขึ้นบริเวณปากถ้ำจำศีล แล้วมีการสร้างต่อเติมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นวัดตั๊กซัง

วิธีขึ้นสู่วัดตั๊กซังมี 2 แบบ คือเดินอย่างเดียว 5 กิโลเมตร กับอีกวิธีคือ ขี่ม้าขึ้นไปครึ่งทาง แล้วเดินต่ออีกครึ่งทาง ผมเลือกวิธีที่ 2 เพื่อประหยัดแรง เพราะพกอุปกรณ์กล้องไปด้วยเพียบเลย ผมเริ่มขี่ม้าไต่เนินเขาขึ้นไปอย่างเชื่องช้า ช่วงแรกผ่านป่าสนชุ่มชื้นเย็นฉ่ำ แต่ไม่นานหนทางก็สูงชันคดเคี้ยว ป่าสนเริ่มโปร่งขึ้น  มองออกไปเห็นเทือกเขาทอดยาว กระทั่งถึงความสูงระดับป่าดิบเขา เกิดมีต้นไม้ใหญ่สูงตระหง่านผุดขึ้นแทนป่าสน มีมอส เฟิร์น ไลเคน ฝอยลม หนวดฤาษี และกล้วยไม้ ห่มคลุมลำต้นกิ่งก้าน เพราะอากาศบริสุทธิ์เย็นฉ่ำ กระทั่งถึงดงกุหลาบพันปีสีแดงกำลังผลิดอกสะพรั่งน่าตื่นตา ราวกับว่าผมกำลังเดินอยู่ในป่าหิมพานต์ เสียงนกและแมลงป่าร้องระงม บ่งบอกถึงสัญญาณชีวิตที่ไม่หลับใหล

GLORIOUS SCENERY

3. พระใหญ่ดอร์เดนมา หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า Big Buddha พระปฏิมาปางสมาธิขนาดยักษ์องค์นี้ตั้งอยู่กลางแจ้ง หันพระพักตร์เข้าสู่เมืองทิมพู คล้ายกำลังให้พร ทั้งองค์บุกระเบื้องสีทองสะท้อนแสงอร่ามตา

4. ทิวทัศน์เมืองทิมพู

กระทั่งมาถึงจุดลงม้าจึงเดินต่อไปพักรับประทานอาหารเที่ยง แล้วเดินต่ออีกครึ่งทางจนถึงตัววัดริมหน้าผา ห้องสำคัญที่สุดของวัดนี้ คือปากทางเข้าถ้ำที่ท่านคุรุรินโปเชเคยนั่งจำศีล ซึ่งมีการสร้างประตูทองคำปิดตายไว้ เชื่อกันว่าทุกวันนี้ท่านได้กลับชาติมาเกิดใหม่หลายครั้งเพื่อโปรดสัตว์โลกให้พ้นทุกข์

พาโรยังเป็นที่ตั้งของวัดแห่งแรกของภูฏานด้วย คือ “วัดคิชูลาคัง” สร้างเมื่อศตวรรษที่ 7 โน่นเลย โดยกษัตริย์ซองซันกัมโป นับเป็น 1 ใน 108 วัด ที่สร้างขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า เพื่อใช้เป็นเสมือนหมุดตอกตรึงนางยักษ์ไว้ มิให้ขึ้นมาอาละวาดทำความเดือดร้อนแก่มนุษย์ และยังเป็น 1 ใน 12 วัดสาขาของวัดโจคังในทิเบตด้วย แม้วัดคิชูลาคังจะเล็ก แต่ก็งามเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและสงบเงียบ เหมาะมานั่งซึมซับสัมผัสความเป็นภูฏานแท้ๆ

ป้อมปูนาคาสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1637-1638 โดยท่านชับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้รวมชาติภูฏาน ตัวป้อมตระหง่านเงื้อมจนเราต้องมองคอตั้งบ่า

PANORAMIC VIEW

5. ป้อมปูนาคาสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1637-1638 โดยท่านชับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้รวมชาติภูฏาน

6. ยอดเขาดอชูลา สูง 3,140 เมตร มองเห็นวิวเทือกเขาหิมาลัยได้แบบพาโนรามา

MAGNIFICENT MONASTERY

7. ทางเดินขึ้นวัดตั๊กซัง

8. ที่พาโรซอง

THE MOST BEAUTIFUL FORTRESS

9. ปูนาคาซอง ป้อมปราการใหญ่และสวยงามที่สุดในภูฏาน

10. ที่ปูนาคาซอง

วันถัดมาผมรีบตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อนั่งรถต่อไปเที่ยวเมืองหลวงของภูฏาน คือ ทิมพู ที่อยู่ห่างไปแค่ 65 กิโลเมตร รถวิ่งขนานกับแม่น้ำพาโรไปสักพักก็ถึง “วัดตัมชู” ซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 โดยโยคีคนสำคัญชาวทิเบต ท่านทังทน กยัลโป ผู้ได้รับฉายาว่า “The Iron Man” แต่ไม่ใช่ Iron Man ในหนังฮอลลีวู้ดนะครับ ที่ได้ฉายานี้เพราะท่านทุ่มเทสร้างสะพานแขวนที่ทำด้วยห่วงเหล็กไว้ในทิเบตและภูฏานมากถึง 58 แห่ง เพื่อให้ผู้คนสัญจรได้สะดวก ท่านจึงได้รับการยกย่องเช่นนี้

รถแล่นเลี้ยวลดคดโค้งผ่านถนนแคบไปเรื่อยๆ ผ่านนาขั้นบันได หมู่บ้านมากมายที่กระจายห่างๆ กัน จนถึงเมืองทิมพู ภาพที่เห็นตรงหน้า คือเมืองใหญ่ที่กำลังขยายตัวไม่หยุดยั้ง โดยทิมพูมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 160,000 คน ซึ่งถือว่าแออัดมากแล้วสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างภูฏาน ทิมพูทำหน้าที่เมืองหลวงของประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1961 หลังย้ายเมืองหลวงมาจากปูนาคา โดยเมืองทิมพูตั้งอยู่บนพื้นที่สูง 2,320 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อากาศจึงเย็นสบายตลอดปี

ไกด์พาไปชม “สวนสัตว์โมติถัง” บ้านของสัตว์ประจำชาติภูฏานชื่อ “ทาคิน” ที่ตัวใหญ่เท่าวัวขนาดย่อม มีหัวและเขาเหมือนแพะ แต่ตัวเหมือนวัวป่า มีขนรุงรัง เห็นแล้วตลกดี ตกลงไม่รู้ว่าจะเป็นตัวอะไรกันแน่ จากนั้นไปเที่ยวต่อที่ “สถูปรำลึก” อันสวยงาม เป็นสถูปทรงทิเบตสูงตระหง่าน สร้างเมื่อ ค.ศ. 1974 เพื่อรำลึกถึงกษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งภูฏาน จิกมี ดอร์จิ วังชุก ใกล้สถูปมีหอสวดมนต์ให้ผู้คนเข้ามาปฏิบัติธรรม วันนี้มีนักท่องเที่ยวและนักแสวงบุญล้นหลาม ต่างสวดมนต์และเดินเวียนทักษิณาวรรต ในมือของเขาเหล่านั้นถือวงล้อมนตรา หรือ Prayer Wheel จำหลักมนตรา “โอม มณี ปัทเม หุม” หมุนไปมารอบแล้วรอบเล่า บ่งบอกความหมายถึงการเร่งบำเพ็ญธารบารมีให้ถึงพระนิพพาน หลุดพ้นจากวัฏสงสารโดยไว

คนที่ชอบไหว้พระขอพร แนะนำให้นั่งรถต่อขึ้นไปบนยอดเขาเหนือเมืองทิมพู กราบ “พระใหญ่ดอร์เดนมา” หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า Big Buddha พระปฏิมาปางสมาธิขนาดยักษ์องค์นี้ตั้งอยู่กลางแจ้ง หันพระพักตร์เข้าสู่เมืองทิมพู คล้ายกำลังให้พร ทั้งองค์บุกระเบื้องสีทองสะท้อนแสงอร่ามตา สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่กษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก พระบิดาของกษัตริย์จิกมีในปัจจุบัน มีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา

ก่อนจบวันแสนประทับใจ ไกด์พาไปชม “ศูนย์ทอผ้าเมืองทิมพู” ซึ่งคนรักงานศิลป์ไม่ควรพลาด เขาไม่ได้มีร้านให้ช้อปปิ้งใหญ่โต แต่เปิดให้ชมขั้นตอนการทอผ้าภูฏานแท้ๆ มีตั้งแต่ลายง่ายๆ ไปจนถึงลายเรขาคณิตวิจิตรพิสดาร งานแต่ละขั้นตอนล้วนประณีต ต้องใช้ความอุตสาหะ ใช้ฝีมือและประสบการณ์สูง โดยเทคนิคที่ใช้ทอคือ การจกเหมือนผ้าไทยแถบจังหวัดสุโขทัยใครจะซื้อก็ไม่ต้องเกี่ยงราคานะครับ เพราะเห็นเขาทอยากขนาดนี้ แพงเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ แต่ถ้ายังไม่หนำใจ ออกไปเดินช้อปปิ้งซื้อสร้อยลูกปัดหินสีในทิมพูไว้เป็นที่ระลึก หรือจะเข้าไปที่ไปรษณีย์ทิมพู ถ่ายภาพทำแสตมป์ติดจดหมายเขียนส่งกลับไปหาเพื่อนที่เมืองไทย ก็สนุกดี มีกิจกรรมให้ทำเยอะ

ยามค่ำคืนในทิมพูทุกวันนี้เริ่มมีแสงสีเข้ามาสร้างความคึกคักมากขึ้น ตามกระแสการท่องเที่ยว ที่ไหลบ่าเข้ามาสู่ภูฏาน ผับ บาร์​ ร้านคาราโอเกะ และร้านนั่งดื่มเริ่มมีให้เห็น แต่ยังแอบหลบๆ อยู่ในตรอกซอกซอย ไม่ได้มาตั้งประเจิดประเจ้ออยู่ริมถนนสายหลัก ส่วนตัวผมขอไปชมการแสดงระบำหน้ากาก ที่ทางโรงแรมจัดไว้ให้หลังอาหารค่ำจะดีกว่า นั่นเพราะบ่งบอกถึงความเป็นภูฏานแท้ๆ น่ะสิ

จากทิมพู ผมนั่งรถต่อไปเที่ยวเมืองหลวงเก่าปูนาคา ถนนสูงชันคดเคี้ยวจนไปถึง “ยอดเขาดอชูลา” สูง3,140 เมตร มองเห็นวิวเทือกเขาหิมาลัยได้แบบพาโนรามาบนยอดเขานี้มี “เจดีย์ 108 องค์” ซึ่งพระราชินีองค์ก่อนแห่งกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ทรงรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการที่พระสวามีเสด็จปราบจลาจลชายแดนภูฏาน-อินเดียสำเร็จ เมื่อ ค.ศ. 2003

บนถนนสายนี้ยังมีสถานที่สำคัญสุดๆ ให้แวะชมอีกแห่ง คือ “ป้อมซิมโทก้า” ป้อมปราการแห่งแรกของภูฏานที่สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1629 โดยท่านชับดรุง งาวัง
นัมเกล บิดาผู้รวมชาติ แม้มองจากภายนอก ซิมโทก้าจะเป็นป้อมเล็กๆ มีขนาดเพียง 60 ตารางเมตร ทว่าสำคัญยิ่งในยุคที่สร้าง จนได้รับฉายาว่าเป็น “ป้อมปราสาท” เพราะเคยใช้เป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดินของทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส จนเกิดการสร้างป้อมอีกหลายแห่งด้วยแนวคิดและรูปลักษณ์เดียวกัน

ถนนสายเดิมคดเคี้ยวลดระดับลงสู่หุบเขาปูนาคา จนถึง “ป้อมปูนาคา” ปราการใหญ่และสวยงามที่สุดในภูฏาน ตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ 2 สายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำโปชู แปลว่า “พ่อ” เป็นสายน้ำเขียวมรกต และแม่น้ำโมชู แปลว่า “แม่” เป็นสายน้ำสีเข้มกว่า

ป้อมปูนาคาสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1637-1638 โดยท่านชับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้รวมชาติภูฏาน ตัวป้อมตระหง่านเงื้อมจนเราต้องมองคอตั้งบ่า ด้านในเป็นที่เก็บพระบรมศพของท่านชับดรุง งาวัง นัมเกล ด้านในสุดประดิษฐานองค์พระปฏิมาของพระศรีอริยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าในอนาคต) พระสมณโคดมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระแม่ตารา พระมัญชุศรี พระวัชรปาณี ฯลฯ ผมกราบอัษฎางคประดิษฐ์ให้ร่างกาย 8 ส่วนราบสัมผัสพื้น แล้วลุกขึ้นรับน้ำมนต์มาดื่ม รู้สึกอิ่มเอิบใจมาก

วันเวลาอันแสนวิเศษของผมในภูฏานกำลังจะหมดลงแล้ว ทว่าทุกภาพทรงจำยังตราตรึง ผมได้พบมุมหนึ่งของหิมาลัย เทือกเขายิ่งใหญ่ศูนย์รวมแห่งศรัทธาและผู้คน สักวันผมจะกลับมาอีกครั้ง “ภูฏาน”

PROFESSIONAL GUIDE

BEST SEASON:

อากาศแจ่มใสเย็นสบายที่สุดช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน (ฤดูใบไม้ผลิ) ดอกไม้เยอะ อีกช่วงที่อากาศดีมาก คือเดือนกันยายน-พฤศจิกายน (ฤดูใบไม้ร่วง) เหมาะสำหรับกิจกรรมเทรกกิ้ง

GETTING THERE:

แนะนำ Drukair เป็นสายการบินแห่งชาติภูฏาน ใช้เวลาบิน 4 ชั่วโมง (www.drukair.com.bt) หรือจะนั่งรถเข้าภูฏานจากพรมแดนด้านสิกขิมก็ได้ ในภูฏานไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเอง ต้องติดต่อผ่านบริษัททัวร์และมีไกด์เดินทางด้วยเท่านั้น

OVERNIGHT:

เมืองพาโร Janka Resort โทร. +975-08-272352 www.jankaresort.com / เมืองทิมพู Jumolhari Boutique Hotel โทร. +975-2-322747 www.hoteljumolhari.com

LOCAL CUISINE:

ข้าว บะหมี่ มัน ข้าวโพด อาหารส่วนใหญ่รสจัด เพราะนิยมกินพริกผสมชีส ผัดผัก และมันหมู เครื่องดื่มนิยม ชาใส่นม คล้ายของทิเบตและอินเดีย

SOUVENIRS:

ผ้าทอ ผ้าพันคอ กระเป๋าถัก สร้อยคอลูกปัด เครื่องเงิน หน้ากากไม้แกะสลัก ภาพทังก้า พระพุทธรูป ถ้วยชาทำด้วยไม้ วงล้อมนต์ ธงมนต์ แยมผลไม้ ฯลฯ

MORE INFO:

www.bhutan.gov.bt

DESTINATION