DestinationHighlightLifestyle

DESTINATION
Phuket
Cultural Appreciation

By 11 November 2020 No Comments

ภูเก็ต เกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จุดหมายปลายทางสำคัญในการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ จากมนตร์เสน่ห์แห่งธรรมชาติอันงดงาม ขึ้นชื่อในเรื่องทะเลสวยน้ำใส เต็มไปด้วยจุดชมวิวพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่หลายคนใฝ่ฝันว่าต้องไปสัมผัสให้ได้สักครั้งในชีวิต นอกจากนั้นยังเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมผสม ทั้งอาหารการกิน ความเชื่อความศรัทธาสถาปัตยกรรม ตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน ที่ยังคงความมีชีวิตชีวา พร้อมให้เราเข้าไปสำรวจเพื่อเก็บเกี่ยวความประทับใจกลับมาเสมอ

การเดินทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตนอกจากทางเรือแล้ว สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านทางบ้านท่านุ่น จังหวัดพังงา ไปยังบ้านท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต โดยข้ามสะพานที่มีความยาว 660 เมตร นั่นคือสะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร ในขณะที่สะพานสารสินเดิม ได้ทำการปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและหอชมวิว ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินไปลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ที่ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะได้อีกด้วย และถึงแม้ว่าภูเก็ตจะเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็มีสถานะเป็นจังหวัดที่เกือบจะเล็กที่สุดของประเทศไทย มีเพียงจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้นที่มีพื้นที่น้อยกว่า ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดด้วยรถยนต์ จักรยานยนต์ จักรยาน หรือแม้แต่เดินเท้า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ยาก

Lost in History

ประวัติศาสตร์ของเมืองภูเก็ตนั้นมีมาอย่างยาวนาน โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดคือการปรากฏอยู่ในหนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของทอเลมี (Ptolemy) ตั้งแต่ราว พ.ศ. 700 ที่กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่บริเวณทะเลอันดามันนั้น ทำให้เกาะแห่งนี้เป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดียผ่านทางคาบสมุทรมลายูเสมอมา โดยเฉพาะสมัยจักรวรรดินิยม ที่ชาติตะวันตกทำการออกเดินเรือสำรวจโลกใหม่ เพื่อแสวงหาความรู้ กระทั่งนำไปสู่ผลประโยชน์จากการขยายอาณานิคม เราจึงสามารถพบเห็นร่องรอยของอารยธรรมตะวันตกได้ตามเส้นทางผ่าน อย่างมะละกา ปีนัง สิงคโปร์ รวมถึงภูเก็ตได้จวบจนทุกวันนี้

ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางทางการค้านานาชนิด ทั้งแร่ดีบุก อำพันทอง และไข่มุก ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้า-ออกภูเก็ตมากมาย เกิดการแลกเปลี่ยนทางศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและได้สร้างอาคารบ้านเรือนแบบยุโรปขึ้น ทว่าช่างที่ทำการก่อสร้างส่วนใหญ่นั้นเป็นช่างชาวจีน ทำให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ เนื่องจากมีการตกแต่งลวดลายตามคติความเชื่อของจีนผสมผสานเข้าไป เกิดเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส (Sino-Portuguese Architecture) ซึ่งสามารถหาชมได้อย่างจุใจที่ย่านเมืองเก่า หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ของเมืองภูเก็ต

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต สามารถนั่งชัตเทิลบัสจากสนามบินมาถึงได้เลย การชมสถาปัตยกรรมแนะนำให้ไปที่บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ และซอยรมณีย์ เนื่องจากมีอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปรตุกีสเรียงรายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษกว่าที่อื่น โดยที่ยังเป็นบ้านหรืออาคารที่มีชีวิต มีคนอาศัยและประกอบกิจการต่างๆ อยู่จริง สำหรับผู้ที่เดินทางมาโดยรถยนต์ส่วนตัวสามารถที่จะจอดรถริมถนนและเดินเท้าชมเมือง ถ่ายรูปชิลๆ ได้เลย

เอกลักษณ์อันโดดเด่นอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีส ก็คือซุ้มโค้งเหนือทางเดินที่มีอยู่หน้าบ้านทุกบ้าน ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขด (Arcade)” หรือ “หง่อคาขี่” ในภาษาจีนฮกเกี้ยน มีความหมายว่า ทางเดินกว้าง 5 ศอก (ราว 1.50 – 2.50 เมตร) ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดในการสร้างอาคารในประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2365 กำหนดโดย เซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ จากประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ก่อนจะแพร่หลายไปยังมาเลเซียรวมถึงหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย

หง่อคาขี่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการออกแบบเชิงฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีฝนชุกตลอดทั้งปี ชายคาเหนือทางเดินกว้าง 5 ศอก จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมาได้มีที่หลบแดดหลบฝนนั่นเอง ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความร่วมมือกันของเจ้าบ้านที่สละพื้นที่หน้าบ้านตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกด้วย นอกจากสถาปัตยกรรมที่เปี่ยมด้วยความหมายและคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ย่านเมืองเก่าภูเก็ตก็ยังเต็มไปด้วยร้านอาหารรสเลิศ ร้านกาแฟหลากสไตล์ ร้านขายของที่ระลึก และสตรีตอาร์ต ให้ได้เพลิดเพลินตลอดสองข้างทางไม่มีเบื่อ

Rawai Vibe

จากย่านเมืองเก่าสู่ทะเลในเวลาครึ่งชั่วโมง เมื่อมุ่งหน้าลงใต้ไปยังราไวย์ บริเวณที่เต็มไปด้วยหาดสวยขึ้นชื่อทางตอนใต้ของเกาะภูเก็ต สถานที่ที่ครบครัน ทั้งธรรมชาติ ความสะดวกสบายของสาธารณูปโภค อาหารทะเลสดๆ ในราคาย่อมเยา รวมไปถึงจุดชมวิวที่รอให้คุณไปสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติแสนสวยงาม

สำหรับสถานที่แนะนำเมื่อไปถึงราไวย์ มีดังนี้
• หาดในหาน
ชายหาดที่ดีที่สุดอันดับ 3 ของเอเชีย ประจำปี 2019* หาดสุดโปรดของชาวภูเก็ต เนื่องจากมีขนาดไม่ใหญ่มากจึงไม่ค่อยวุ่นวาย ทว่าตอบโจทย์การพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยพื้นที่ข้างบนหาดเป็นป่า ทำให้ตัวหาดร่มรื่นเย็นสบาย มีหนองน้ำและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้มานั่งชิลได้ทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องเบียดเสียดกัน ตัวหาดค่อนข้างยาว โอบล้อมด้วยธรรมชาติ สามารถปูเสื่อนั่งรับประทานอาหารได้เลย เรียกได้ว่า ถ้าอยากได้ความรู้สึก Local เที่ยวแบบเจ้าถิ่น กับบรรยากาศค่อนข้างสงบไม่หวือหวา ก็ต้องห้ามพลาดหาดในหานแห่งนี้ด้วยประการทั้งปวง
*จากคะแนนที่นักท่องเที่ยวให้ไว้ในเว็บไซต์ TripAdvisor

• อ่าวเสน
อ่าวเสน เป็นอ่าวเล็กๆ ที่เงียบสงบเกือบทั้งปี อยู่ถัดจากหาดในหานไปทางขวาประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถเดินถึงกันได้ ชายหาดเรียงรายไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ มีหาดทรายขาวสะอาด ไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก นักท่องเที่ยวจึงบางตา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังมีบริการบังกะโลขนาดเล็กถึงขนาดกลางให้เข้าพัก พร้อมกิจกรรมดำน้ำชมความงามใต้ท้องทะเล

• ตลาดซีฟู้ดราไวย์
หาดราไวย์เป็นชายหาดขนาดใหญ่ อุดมไปด้วยนักท่องเที่ยว โดดเด่นที่บรรยากาศอันคึกคักทั้งจากผู้คนและร้านอาหารทะเลจำนวนมาก ไฮไลต์อยู่ที่บริเวณทางเดินริมหาดจากสะพานท่าเทียบเรือหาดราไวย์ ที่ด้านหนึ่งเป็นร้านขายอาหารทะเลสดๆ ในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่าเป็นไม่กี่ที่ที่สามารถซื้อกุ้งมังกรตัวใหญ่ยักษ์ได้ในราคาหลักร้อยเลยทีเดียว ในขณะที่อีกด้านของฝั่งถนน เรียงรายด้วยร้านอาหารที่พร้อมปรุงวัตถุดิบที่เพิ่งซื้อ จากร้านอีกด้านให้ในทันที ด้วยราคามิตรภาพไม่แพ้กัน

Nautical Dusk

“วันนี้ที่ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ดวงอาทิตย์ตกเวลา…”

หากใครเคยฟังรายงานพยากรณ์อากาศทางวิทยุ อาจจะคุ้นเคยกับประโยคข้างต้นมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะมันคือประโยคที่กรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศว่าในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกเวลาใด โดยในตอนเช้าจะทำการเทียบเวลาที่ ผาชะนะได อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนตอนเย็นจะทำการเทียบเวลาที่ ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต

แหลมพรหมเทพ มีภูมิประเทศเป็นแหลมสูงชัน ทอดตัวยาวลาดเอียงลงสู่ผืนทะเล ตามแนวสันเขามีต้นตาลขึ้นอยู่เรียงราย เมื่อขึ้นไปยืนที่จุดชมทิวทัศน์แหลมพรหมเทพ จะมองเห็นเวิ้งน้ำเบื้องหน้าประกายระยับ มองเห็นเกาะแก้วน้อย เกาะแก้วใหญ่ หาดในหาน มองเห็นจุดชมทิวทัศน์สถานีไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับกังหันลมยักษ์สีขาว และที่สำคัญ มองเห็นดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าด้วยดวงตาได้เป็นที่สุดท้ายของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เองทำให้เทียบเวลาดวงอาทิตย์ตกกันที่นี่ แม้ว่าตรงจุดนี้จะไม่ได้อยู่ทางตะวันตกที่สุดของประเทศก็ตาม แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่ทำให้คนที่มาเยือน เลิกสนใจว่าที่ไหนจะตะวันตกที่สุดไปชั่วขณะ ก็คือแผ่นฟ้าที่ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีทองบริเวณเส้นขอบฟ้า ในขณะที่ความมืดสีเข้มเริ่มกลืนไล่ลงมาจากด้านบน จนหลายคนบอกว่า นี่เป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในภูเก็ต แต่บางคนก็ว่า นี่เป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในประเทศต่างหาก

TRAVEL TIPS

ทางขึ้นจุดชมทิวทัศน์แหลมพรหมเทพมี 2 ด้าน ได้แก่ ด้านหาดราไวย์และด้านหาดในหาน ควรมาถึงทางขึ้นไม่เกิน 17.00 น.
บริเวณปลายแหลมพรหมเทพสามารถเดินลงไปถึงได้ แต่ไม่มีร่มไม้ ควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดให้พร้อม รวมถึงอาจมีคลื่นลมที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

DESTINATION

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

https://thai.tourismthailand.org/
https://thailandtourismdirectory.go.th/
https://commons.wikimedia.org/